Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ชวนตามรอย…พระพุทธนรสีห์ พระพุทธรูปงามแปลกประหลาด

พระพุทธรูปสำคัญ 1 ใน 3 องค์ ของเมืองไทย "พระพุทธนรสีห์" ปัจจุบันประดิษฐานบนชั้น 3 ของพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระพุทธนรสีห์

หลายคนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธรูปสำคัญ 1 ใน 3 องค์ ของเมืองไทย “พระพุทธนรสีห์” ปัจจุบันประดิษฐานบนชั้น 3 ของพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไทย

เรื่องราวของพระพุทธนรสีห์เล่าไว้ใน “นิทานโบราณคดี” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้นิพนธ์ขึ้น ตามที่ปรากฏสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปตรวจราชการเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2441  ได้เสด็จไปที่วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบเชียงแสนองค์หนึ่ง ตั้งไว้บนฐานชุกชีในพระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ มีลักษณะงาม จึงตรัสขอเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในตอนนั้น อัญเชิญลงมาไว้สำหรับทรงสักการบูชาในท้องพระโรงวังที่ประทับในกรุงเทพฯ

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  5 ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระพุทธรูปโบราณที่มีลักษณะงาม สำหรับตั้งในศาลาการเปรียญ ซึ่งกะว่าจะทรงสร้างใหม่ มีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสืบหา  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงกราบทูลถึงพระพุทธรูปที่ได้ทรงเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปที่วัง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ตรัสว่า “พระองค์นี้งาม แปลกจริงๆ” และจึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่อัญเชิญพระพุทธรูปไปที่พลับพลาในพระราชวังดุสิต แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธนรสีห์”

ในนิทานโบราณคดีเล่าไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มต้นว่า “…เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑  เวลานั้นยังไม่ได้ทำรถไฟสายเหนือ ต้องไปทางเรือแต่กรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์ แล้วฉันขึ้นเดินทางบกไปเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เดินทางเกือบเดือนหนึ่งจึงถึงเมืองเชียงใหม่ ขากลับลงเรือล่องลำแม่น้ำพิงแต่เมืองเชียงใหม่ลงมาทางเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร มาร่วมทางขาไปที่ปากน้ำโพเมืองนครสวรรค์ แต่นั้นก็กลับตามทางเดิมจนถึงกรุงเทพฯ

ฉันเคยได้ยินว่าทางเมืองเหนือทั้งในมณฑลพิษณุโลก อันเคยเป็นเมืองพระร่วง และมณฑลพายัพอันเป็นแหล่งช่าง เชียงแสน มีพระพุทธรูปโบราณอย่างงามๆ มากกว่าทางอื่น คนหาพระพุทธรูปมักเที่ยวเสาะหาทางนั้น นับถือกันว่าต่อเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรจึงจะดี ถ้าหาได้พระขัดสมาธิเพชรอย่างย่อมขนาดหน้าตักในระหว่าง ๖ นิ้วจน ๑0 นิ้วด้วยยิ่งดีขึ้น แต่ฉันขึ้นไปครั้งนั้นตั้งใจจะไปเสาะหาพระพุทธรูปที่ลักษณะงามเป็นสำคัญ ไม่เลือกว่าจะต้องเป็นพระนั่งขัดสมาธิเพชรหรือขัดสมาธิราบ ปรารถนาจะใคร่ได้พระขนาดเขื่องหน้าตักราวศอกเศษ เพราะเห็นว่าขนาดนั้นฝีมือช่างทำได้งามกว่าพระขนาดเล็กเช่นเขาหากัน

เมื่อขึ้นไปถึงเมืองอุตรดิตถ์ วันหนึ่งฉันไปเที่ยวที่เมืองทุ่งยั้ง แวะดูวัดพระมหาธาตุอันเป็นวัดโบราณแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงปฏิสังขรณ์ มีพระสถูปมหาธาตุกับพระวิหารหลวงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ในวัด พระมหาธาตุองค์เดิมพังมีผู้สร้างใหม่แปลงรูปเสียแล้ว แต่วิหารหลวงยังคงอยู่อย่างที่พระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ ในวิหารหลวงนั้นมีพระพุทธรูปปั้นองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักสัก ๘ ศอกตั้งเป็นประธาน เมื่อฉันเข้าไปบูชาเห็นมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง วางนอนอยู่ในพระหัตถ์พระประธาน แปลกตา

จึงถามพวกกรมการว่าเหตุไฉนจึงเอาพระพุทธรูปไปวางทิ้งไว้ในพระหัตถ์พระประธานเช่นนั้น เขาเล่าให้ฟังว่าพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นเดิมอยู่ที่วัดอื่น ดูเหมือนชื่อว่าวัดวังหมู หรือวัดอะไรฉันจำไม่ได้แน่ แต่เป็นพระมีปาฏิหาริย์อย่างแปลกประหลาด คล้ายกับมีผีพระยามารคอยผจญอยู่เสมอ ถ้าใครไปถวายเครื่องสักการบูชาเมื่อใด ในไม่ช้าก็มักเกิดเหตุวิวาทบาดทะเลาะกันในตำบลนั้น จนคนครั่นคร้ามไม่มีใครกล้าไปบูชา แต่พวกเด็กลูกศิษย์วัดที่เป็นคนคะนองเห็นสนุก พอรู้ว่าจะมีการประชุมชนที่วัดนั้นเช่นบวชนาคเป็นต้น ลอบเอาเครื่องสักการะเช่นหมากเมี่ยงไปถวายพระพุทธรูปองค์นั้น ก็มักเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันเนืองๆ

อยู่มาคืนวันหนึ่งพระพุทธรูปองค์นั้นหายไป ต่อมาภายหลังเห็นมานอนอยู่ในพระหัตถ์พระประธานในวิหารหลวงวัดทุ่งยั้ง ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เอามา แต่พวกชาวบ้านก็ไม่มีใครสมัครจะรับเอากลับไปไว้ที่วัดเดิม จึงทิ้งอยู่อย่างนั้น ฉันได้ฟังเล่าเห็นขันกลั้นหัวเราะไม่ได้ สั่งให้เขายกพระองค์นั้นลงมาตั้งดูที่ฐานชุกชีตรงหน้าพระประธาน พอเห็นชัดก็ชอบ ด้วยเป็นพระปางมารวิชัยฝีมือแบบสุโขทัย ทำงามและได้ขนาดที่ฉันหาด้วย จึงว่าแก่พวกกรมการเมืองทุ่งยั้งว่า เมื่อไม่มีใครสมัครจะรับพระพุทธรูปองค์นั้นไปแล้ว ฉันจะขอรับเอาลงมากรุงเทพฯ เขาก็ยอมอนุญาตด้วยยินดี และดูเหมือนจะประหลาดใจที่ฉันไม่เชื่อคำของเขาด้วย

ฉันจุดธูปเทียนบูชาแล้วสั่งให้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงมายังที่ทำเนียบจอดเรือในวันนั้น พอค่ำถึงเวลาจะกินอาหาร พวกข้าราชการที่ไปด้วยมากินพร้อมกันตามเคย แต่วันนั้นสังเกตเห็นเขาหัวเราะต่อกระซิกกันแปลกกว่าปรกติ ฉันถามว่ามีเรื่องอะไรขบขันหรือ เขาบอกว่าเมื่อฉันไปวัดพระมหาธาตุ ฝีพายไปเกิดวิวาทชกกันขึ้นที่นั่นคู่หนึ่ง ฉันก็รู้เท่าว่าเขาพากันลงความเห็นว่าเป็นเพราะฉันไปถวายเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปองค์นั้น โดยไม่เชื่อคำพวกกรมการ แต่ฉันกลับเห็นขันที่เผอิญเกิดเหตุเข้าเรื่อง ไม่เห็นเป็นอัศจรรย์อันใด ก็สั่งให้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงเรือที่ขึ้นไปส่งกลับลงมากรุงเทพฯ

เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งไปที่วัดพระสิงห์ เห็นเขารวมพระพุทธรูปหล่อของโบราณทั้งที่ดีและชำรุด ตั้งไว้บนฐานชุกชีที่ในวิหารหลวงมากมายหลายสิบองค์ ฉันปีนขึ้นไปเที่ยวพิจารณาดูเห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบเชียงแสนองค์หนึ่งลักษณะงามต้องตาและได้ขนาดที่ฉันปรารถนา ให้ยกลงมาตั้งพิจารณาดูต่างหากก็ยิ่งเห็นงาม จึงขอต่อเจ้าเชียงใหม่เชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วไปว่าวานพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อท่านยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนีให้ช่วยปฏิสังขรณ์ขัดสี เพราะท่านมีช่างสำหรับหล่อและแต่งพระพุทธรูปอยู่ที่วัดนั้น และตัวท่านเองก็ชอบพอกับฉันมาแต่ก่อน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) เป็นช่วงเวลาของการปฏิรูปการบริหารราชการสยาม ภายใต้การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ท่ามกลางการขยายอิทธิพลของมหาอํานาจตะวันตก สยามจึงเริ่มดําเนินการสํารวจท้องถิ่นโดยส่งข้าราชการจากส่วนกลางเดินทางไปสำรวจ ตรวจสอบ เก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงวิธีการบริหารราชการ ข้อมูลชุดความรู้ที่ได้จากการตรวจราชการ ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ส่วนหนึ่งบันทึกอยู่ในรายงานการตรวจราชการของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ หลายฉบับ
เจ้าพนักงานพระบรมมหาราชวัง อัญเชิญ "พระพุทธนรสีห์" พระพุทธรูปสำคัญซึ่งประดิษฐานประจำพระที่นั่งอัมพรสถาน ออกมาเป็นครั้งแรกเพื่อประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระลานพระราชวังดุสิต นับว่าเป็นระยะเวลานานกว่า 117 ปีแล้วที่ไม่เคยได้อัญเชิญพระพุทธนรสีห์ออกมาจากพระที่นั่งอัมพรสถาน
พิธีอัญเชิญ “พระพุทธนรสีห์” พระพุทธรูปยุคเชียงแสน ปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่ง และไม่เคยอัญเชิญออกนอกสถานที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ถวายสักการะมาก่อน กระทั่งงานบำเพ็ญมหากุศลถวายรัชกาลที่ 9

พระพุทธรูป ๒ องค์นั้น องค์ที่มาจากเมืองทุ่งยั้ง ลงรักปิดทองคำเปลว องค์ที่มาจากเมืองเชียงใหม่เดิมเป็นแต่ขัดไม่ได้ปิดทอง ช่างวัดจักรวรรดิฯ ลงมือขัดพระองค์ที่มาจากเมืองเชียงใหม่ก่อน พอเปลื้องผ้าถนิมออกก็แลเห็นเนื้อทองที่หล่อสีสุกปลั่งงามแปลกกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่เคยเห็นมาแต่ก่อน พระพุฒาจารย์ท่านจึงให้ปฏิสังขรณ์พระองค์นั้นก่อน มีคนโจษกันตั้งแต่พระองค์นั้นยังอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ว่า เป็นพระพุทธรูปงามอย่างประหลาด เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จแล้ว ฉันรับมาตั้งไว้บูชาในท้องพระโรงเมื่อฉันยังอยู่วังเก่า ใกล้กับสะพานดำรงสถิต ใครๆ ไปเห็นก็ชมทุกคนว่าเป็นพระพุทธรูปงามอย่างประหลาดมาก

ก็ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ทรงพระราชดำริว่าพระพุทธรูปที่จะตั้งในวัดนั้น จะหาพระหล่อของโบราณแบบต่างๆ มาตั้ง ทำนองอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ โปรดให้ฉันเป็นพนักงานเสาะหาพระพุทธรูปถวาย วันหนึ่งตรัสแก่ฉันว่าต้องพระราชประสงค์พระพุทธรูปตั้งเป็นพระประธานที่การเปรียญสักองค์หนึ่ง ให้เป็นพระขนาดย่อมกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งพระระเบียง แต่จะต้องให้งามสมกับที่เป็นพระประธาน ฉันจะหาถวายได้หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าเมื่อขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ได้พระพุทธรูปขนาดนั้นมาไว้ที่บ้านองค์หนึ่ง “ถ้าโปรดจะถวาย” (หมายความว่าถ้าไม่ถูกพระราชหฤทัยก็ไม่ถวาย) ไม่ตรัสตอบว่ากระไรในเวลานั้น

นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าเรื่องพระพุทธนรสีห์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชอนุชาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปรานอย่างยิ่ง มาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
"...เดิมพระองค์นี้อยู่ที่วัดวังหมู หรือวัดอะไรฉันจำไม่ได้แน่ แต่เป็นพระมีปาฏิหาริย์อย่างแปลกประหลาด คล้ายกับมีผีพระยามารคอยผจญอยู่เสมอ ถ้าใครไปถวายเครื่องสักการบูชาเมื่อใด ในไม่ช้าก็มักเกิดเหตุวิวาทบาดทะเลาะกันในตำบลนั้น จนคนครั่นคร้ามไม่มีใครกล้าไปบูชา..."

ต่อมาอีกสักสองสามวันมีพระราชกิจจะเสด็จลงไปเมืองสมุทรปราการ เพื่อรับพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียถวาย และโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ ไปเชิญมาจากอินเดียจนถึงเมืองสมุทรปราการ เวลาทรงรถไปสถานีรถไฟที่หัวลำโพง เสด็จแวะที่บ้านฉัน ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรพระพุทธรูปที่ท้องพระโรง พอทอดพระเนตรเห็นก็โปรด ออกพระโอษฐ์ว่า “พระองค์นี้งามแปลกจริงๆ” ตรัสสั่งกรมวังในขณะนั้นว่า ให้จัดยานมาศกับขบวนแห่มีเครื่องสูงกลองชนะไปรับพระองค์นั้นเข้าไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงขนานพระนามถวายว่า “พระพุทธนรสีห์” ก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งแต่นั้นมา

เมื่อสร้างพระอุโบสถชั่วคราวที่วัดเบญจมบพิตรแล้ว โปรดให้เชิญพระพุทธนรสีห์แห่ขบวนใหญ่ไปตั้งเป็นพระประธานอยู่จนสร้างพระอุโบสถใหญ่แล้ว แต่พระประธานสำหรับพระอุโบสถใหญ่นั้น ให้เที่ยวตรวจพระโบราณตามหัวเมืองจนกระทั่งเมืองเชียงแสน ก็ไม่มีพระพุทธรูปงามถึงสมควรจะเชิญมา จึงโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกมาเป็นพระประธาน และโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ ตั้งไว้เป็นพระประธานที่พระวิหารสมเด็จในวัดเบญจมบพิตรด้วยองค์หนึ่ง ส่วนองค์พระพุทธนรสีห์นั้นโปรดให้เชิญเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอัมพรสถาน ยังสถิตอยู่ในพระราชมนเทียรนั้นจนบัดนี้

มีคนชอบพูดกันว่า พระพุทธนรสีห์เป็นพระมีอภินิหารให้เกิดสวัสดิมงคล อ้างว่าตัวฉันผู้เชิญลงมา ไม่ช้าก็ได้เลื่อนยศจากกรมหมื่นขึ้นเป็นกรมหลวง พระพุฒาจารย์ (มา) เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพมุนีผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ เป็นพระราชาคณะสามัญก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพ แม้พระภิกษุเปี่ยมช่างหล่อผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ต่อมาไม่ช้าก็ได้มีสมณศักดิ์เป็นที่พระครูมงคลวิจิตร เขาว่ากันดังนี้

พระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งนั้น จะว่ามีอภินิหารก็ได้ แต่เป็นไปอีกทางหนึ่งต่างหาก เมื่อฉันถวายพระพุทธนรสีห์ไปแล้ว พระพุฒาจารย์ท่านปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์เมืองทุ่งยั้งเสร็จก็ส่งมาให้ฉัน ให้ตั้งไว้ที่ท้องพระโรง บูชาแทนพระพุทธนรสีห์มาได้สักสองเดือน

วันหนึ่งฉันไปหามารดาตามเคย ท่านถามว่าได้ยินว่าที่ไปได้พระมาจากเมืองเหนือองค์หนึ่ง มักทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันจริงหรือ ฉันไม่เคยเล่าเรื่องเดิมของพระองค์นั้นแก่ใคร ชะรอยจะมีคนในพวกที่ได้ขึ้นไปเมืองเหนือกับฉันในครั้งนั้นไปบอกให้ท่านทราบ แต่เมื่อท่านรู้แล้วฉันก็เล่าเรื่องให้ท่านฟังตามเขาบอกที่เมืองอุตรดิตถ์ ท่านพูดต่อไปว่า แต่ก่อนมาคนที่ในบ้านก็อยู่กันเป็นปรกติ ตั้งแต่ฉันเอาพระองค์นั้นมาไว้ที่บ้านดูเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันไม่หยุด ท่านส่งเศษกระดาษชิ้นหนึ่งซึ่งท่านได้ให้จดชื่อคนวิวาทมาให้ฉันดู มีทั้งผู้ดีและไพร่วิวาทกันถึง ๖ คู่ ท่านตักเตือนแต่ว่าขอให้ฉันคิดดูให้ดี ฉันกลับมาคิดดูเห็นว่าถ้าขืนเอาพระองค์นั้นไว้ที่บ้านต่อไป ก็คงขัดใจมารดา จึงไปเล่าเรื่องให้พระพุฒาจารย์ฟัง แล้วถวายพระองค์นั้นให้ท่านรับเอาไปไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ แต่นั้นเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งก็เงียบไป

ต่อมาอีกหลายเดือน กรมการเมืองอุตรดิตถ์คนหนึ่ง ซึ่งได้เคยไปเมืองทุ่งยั้งด้วยกันกับฉัน ลงมากรุงเทพฯ ไปหาฉันที่บ้าน ฉันเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องพระองค์นั้น แล้วนึกขึ้นว่าถ้าฝากให้เขาเชิญกลับขึ้นไปไว้ที่วัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้งอย่างเดิม จะดีกว่าเอาไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ จึงสั่งให้คนไปขอพระองค์นั้นคืน พระพุฒาจารย์ตกใจรีบมาหา บอกว่าสำคัญว่าฉันสิ้นอาลัยให้พระองค์นั้นเป็นสิทธิแก่ท่าน ตั้งแต่พระองค์นั้นไปอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ท่านสังเกตเห็นมักมีเหตุวิวาทบาดทะเลาะเกิดขึ้นในวัดผิดปรกติ แม้จนเด็กลูกศิษย์ซึ่งเคยเป็นคนเรียบร้อยมาแต่ก่อน ก็ไปตีหัวเจ๊กขายเจี้ยมอี๋ ท่านรำคาญใจแต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร เผอิญพ่อค้าชาวหัวเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับท่านมาแต่ก่อน เข้ามาค้าขายทางเรือถึงกรุงเทพฯ เขาแวะไปหาท่าน พอเห็นพระพุทธรูปองค์นั้นก็ชอบใจถึงออกปากขอ ท่านจึงให้พระองค์นั้นแก่พ่อค้าคนที่ขอไปเสียแล้ว เขาจะพาไปทางไหนก็ไม่รู้ ก็เป็นอันสิ้นกระแสความเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งเพียงเท่านั้น

ได้แต่หวังใจว่าเพราะพ่อค้าคนที่ได้พระไป ไม่รู้เรื่องเดิมพระองค์นั้น บางทีจะไม่ไปเป็นเหตุให้เกิดวิวาทบาดทะเลาะเหมือนหนหลัง

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี