เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง หมายเลข 107 คดเคี้ยวไปตามโค้งของขุนเขาที่มุ่งหน้าสู่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นเส้นทางสวยงามดูเบิกบานตาเส้นทางหนึ่งของการเดินทางขึ้นเหนือ
เราเลือกเส้นทางนี้เพื่อจะไปยัง “ดอยหลวงเชียงดาว” จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวก่อนจะปิดหน้าร้อนของปีนี้ พร้อมกับถือโอกาสไปกราบ “หลวงปู่สิม” พระญาณสิทธาจารย์ แห่งวัดถ้ำผาปล่อง ศิษย์รุ่นอาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งวัดถ้ำผาปล่องก็อยู่ที่อำเภอเชียงดาวนี้ด้วย
จากตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ถึงที่พัก เราเลือกรีสอร์ทเปิดใหม่ชื่อ “ดาราดาว รีสอร์ท” เพิ่งเปิดได้ไม่กี่เดือน นับเป็น Hidden Resort สำหรับหลบความวุ่นวายเพื่อการพักผ่อนอย่างแท้จริง หนทางไปรีสอร์ทอาจจะดูเหมือนลึกลับ ไปยาก แต่เอาเข้าจริง ไม่ยากเลย ปักหมุดไว้ก็ไปได้ เพราะอยู่ใกล้กับวัดบ้านม่วงฆ้อง อำเภอเชียงดาว
เดินทางง่ายมาก อีกทั้งตัวรีสอร์ทเองก็ได้มาตรฐาน สะอาด สะดวก และอาหารอร่อย
จุดหมายหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้ นอกเหนือจากแกะรอยตามหาตำนาน “สมเด็จพระนเรศวร” แล้ว ก็อยู่ที่ “หมู่บ้านอรุโณทัย” หมู่บ้านชาวจีนยูนนานที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยพักพิงในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2504
สมัยปราบปรามคอมมิวนิสต์ หรือ ผ.ก.ค.ในประเทศไทย
บ้านอรุโณทัยเดิมชื่อ “บ้านหนองอุก” เป็นพื้นที่ที่ชาวจีนยูนนานและอดีตทหารจีนคณะชาติ (ทัพ 3 ของนายพลหลี่ เหวินห้วน) อพยพมาอาศัยอยู่จํานวนมาก ซึ่งในอดีตชาวจีนยูนนานเคยเข้ามาในประเทศไทยหลายกลุ่ม
สำหรับคนจีนที่หมู่บ้านแห่งนี้ เริ่มเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 บทความวิชาการของหยาง ญาณี กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ว่า “…กองกําลังทหารจีนคณะชาติที่อยู่ตามชายแดนไทยและพม่าเคยอพยพไปไต้หวันสองครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 และครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2504
อย่างไรก็ตาม ยังมีทหารจีนคณะชาติกลุ่มหนึ่งขออาศัยทํามาหากินอยู่ในประเทศไทย ต่อมากองทัพไทยได้ระดมพลชาวจีนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมเป็นกำลังสู้รบที่ดอยผาตั้งและเขาค้อ เป็นเหตุให้อดีตทหารจีนคณะชาติและลูกหลานได้รับสัญชาติไทย นอกจากนั้น กองทัพไทยได้ขอที่ดินจากกรมป่าไม้จำนวน 12 พื้นที่ มอบให้กับทหารจีนคณะชาติกลุ่มนี้ใช้เป็นที่ทำกิน โดยแบ่งคนละไม่เกิน 15 ไร่ หมู่บ้านอรุโณทัยเป็น 1 ใน 12 พื้นที่ดังกล่าว…”
หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตตําบลเมืองนะ อําเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่างทางขึ้นไปที่ดอยอ่างขาง ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่มาก และทำท่าจะขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีพื้นที่เป็นเขาโอบล้อมติดกับตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ ถัดจากทิศเหนือของหมู่บ้านไปราว ๆ 1-2 กิโลเมตร คือฝั่งประเทศเมียนมาร์ มีด่านชายแดนตั้งอยู่ชื่อ “ด่านกิ่วผาวอก” มีทหารกองกําลังผาเมืองประจำอยู่ดูแลพื้นที่
ด่านกิ่วผาวอกแห่งนี้ มีเรื่องราวน่าสนใจในประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวร ที่สำคัญคือเดินเท้าจากด่านไปอีกแค่ 500 เมตร จะถึง “ศาลพระนเรศวร” ซึ่งตามประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นจุดที่เคลื่อนย้ายพระศพจากเมืองหาง ประเทศเมียนมาร์ มาพักไว้ที่นี่ น่าเสียดายว่าปัจจุบันไม่อนุญาตให้ผ่านเข้าไปแล้ว เพราะถือเป็นเขตของฝั่งประเทศเมียนมาร์ แต่ถ้าจะไปจริงๆ ต้องมีหนังสืออนุญาตจากทางการ แต่เมื่อเราไม่มีหนังสืออนุญาตจึงทำได้เพียงมองชะเง้อผ่านป้ายไปให้สุดสายตาเท่าที่จะมองเห็นได้ แต่ก็ไม่เห็นอะไรนอกจากป่า
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตามที่สันนิษฐานกัน ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงใช้เส้นทางเดินทัพผ่านช่องกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว เพื่อไปยังเมืองโต๋น และจะข้ามแม่น้ำสาละวินที่ท่าช้างไปพม่าเข้าตีกรุงอังวะ เส้นทางสายนี้ถือว่าเป็นเส้นทางหลัก และมี “ท่าช้าง” เป็นท่าขนาดใหญ่ สามารถเดินทัพและนำช้างศึกผ่านได้สะดวก ส่วน “เมืองหาง” ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตขณะกำลังนำทัพเดินทางนั้น อยู่ในแผ่นดินเมียนมาร์ ไม่ไกลนักจากด่านกิ่วผาวอก เขตแดนหมู่บ้านอรุโณทัยเองก็คือชายแดนกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว จุดนี้ปัจจุบันอยู่ห่างจากเมืองหลวงใหม่ “กรุงเนปิดอว์” หรือ “ปินมานา” ประเทศเมียนมาร์ ราว 300 กิโลเมตร
ตรงกลางหมู่บ้านอรุโณทัยมีหนองน้ำใหญ่ 2 แห่ง ลักษณะบ้านเรือนของผู้คนที่นี่เป็นเหมือนบ้านคนจีนที่เรามักจะเห็นตามชายแดนแถวสิบสองปันนา หรือในนิยายจีนที่บ้านมีซุ้มประตูเขียนภาษาจีนติดไว้ แต่เมื่อมาถึงยุคโควิด หลายอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไป บ้านที่มีอยู่ส่วนมากจึงกลายร่างเป็นตึกแถวชั้นเดียว สร้างแบบง่ายๆ ใช้วัสดุสมัยใหม่แทน อย่างไรก็ตาม คนที่นี่ไม่พูดภาษาไทยหรือพูดก็น้อยมากและฟังยาก จะใช้ภาษาจีนในการสื่อสารพูดคุยกันมากกว่า เผลอๆ อาจคิดว่ากำลังเดินอยู่ในประเทศจีนก็เป็นได้
เมื่อไปถึงหมู่บ้านอรุโณทัยที่พลาดไม่ได้ แต่ต้องไปหน้าหนาวถึงจะสวยคือ จุดชมวิวซุยถัง ในตอนรุ่งเช้า ต้องออกจากหมู่บ้านไปทางดอยอ่างขางอีก 11 กิโลเมตร ว่ากันว่าทะเลหมอกของที่นี่สวยมากจริงๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน คือ “สุสานบรรพบุรุษ”นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างมากในวันเทศกาลเช็งเม็ง มีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เมษายนของทุกปี คนในหมู่บ้านเล่าว่าวันเช็งเม็งเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวจะพากันไปกราบไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน พวกเขานิยมไปตั้งโต๊ะจัดงานเลี้ยงกันที่ด้านหน้าสุสาน นิยมฆ่าหมูฆ่าไก่กันที่นั้น และเมื่อกราบไหว้บรรพบุรุษเสร็จก็จะพากันรับประทานอาหารที่หน้าสุสานนั่นเอง
ออกจากสุสานถึงเวลาอาหาร ร้านอร่อยที่ใครไปก็ต้องแวะ ร้านบะหมี่เกี๊ยวยูนนาน ร้านภิรมย์.. ถือเป็นร้านใช้รับแขกบ้านแขกเมืองกันเลยทีเดียว สังเกตดูที่ผนังด้านหนึ่งของร้านติดรูปคนสำคัญและเหล่าดารานักร้องที่เคยมารับประทานที่ร้านไว้เพียบ ร้านเก่าแก่นี้เปิดขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นเจ้าแรกในหมู่บ้านอรุโณทัยที่ทำเส้นบะหมี่และห่อเกี๊ยวเองจนกลายเป็นร้านในตำนาน บะหมี่เกี๊ยวของที่นี่เป็นสูตรดั้งเดิมจากจีนยูนนาน ปัจจุบันร้านบริหารและควบคุมคุณภาพอาหารโดยลูกชายและลูกสาวที่เรียนจบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารโดยตรง ดังนั้น จึงมั่นใจเรื่องมาตรฐานความอร่อย สดใหม่ทำวันต่อวัน โดยเฉพาะ “เกี๊ยวซ่า” ของที่นี่ อร่อยไม่แพ้ร้านดังๆ ในกรุงเทพฯ กรอบนอกนุ่มใน ที่สุดยอดคือ “น้ำจิ้ม” เป็นสูตรเด็ดมาไกลจากยูนนาน ใครมีโอกาสไปเยือนอย่าพลาดเชียว !! นอกจากเกี๊ยวซ่า บะหมี่เกี๊ยวน้ำ-แห้ง แล้ว แนะนำ “ข้าวซอย” มีทั้งข้าวซอยหมูอบ ข้าวซอยเนื้อ นับเป็นอีกเมนูขึ้นชื่อของทางร้าน หรือใครอยากลองอาหารประจำบ้านของยูนนาน “ข้าวแรมฟืน” มีทั้งแบบร้อนและเย็นให้เลือกลิ้มลอง
ปิดท้ายของวันกันที่ “ตลาดยูนนาน” มีสินค้าหลากหลาย แปลกตา ที่สะดุดคือหมึกและพู่กันสำหรับเขียนอักษรจีน ราคาไม่แพง 20 บาทเท่านั้น นอกนั้นเป็นขนมแห้งซึ่งก็มีแปลกๆหลายอย่าง คนขายเองก็อธิบายไม่ถูกเพราะไม่พูดภาษาไทย ที่ราคาดีและต่อรองกันได้สนุกสนานเป็นผักและผลไม้สด ราคาถูกมากไม่ว่าอะโวคาโดหรือเกาลัด เนื่องจากสถานการณ์โควิดช่วงที่ผ่านมาไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืน ทำให้คนเดินทางน้อยลงตลาดจึงดูไม่คึกคักนัก.. แต่เชื่อว่านับจากนี้ไปเมื่อประกาศปลดล็อคประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยวกันได้ปกติ ช่วงฤดูหนาวนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติและอากาศหนาวกันจำนวนมาก สร้างความคึกคักและฟื้นเศรษฐกิจให้กับชาวยูนนานในหมู่บ้านแห่งนี้
ได้รู้จักประโยชน์ดีๆ ที่ชวนให้หลงรักเจ้าจิงจูฉ่ายกันแล้ว ก็ลองไปหาทานกันดู จะเลือกแบบซื้อจากตลาดมาทำอาหารทานเอง หรือหาทานตามร้านต่างๆ ที่ใช้จิงจูฉ่ายมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เช่น ร้านต้มเลือดหมู หรือถ้าจะหาทานจิงจูฉ่ายในร้านขึ้นห้าง ตอนนี้เห็นจะมีร้านฌานา ร้านอาหารสุขภาพใจกลางห้างสยามเซ็นเตอร์ ที่นำเอาจิงจูฉ่ายออร์แกนิคมาใช้เป็นส่วนประกอบของหม้อซุปสมุนไพร เมนูซิ๊กเนเจอร์ประจำร้าน มีให้เลือกทั้งแบบซุปไก่สมุนไพร และ ซุปแซ่บสมุนไพร ช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อยและสารพัดคุณประโยชน์ แถมกินแล้วสบายใจหายห่วงเพราะปลอดสารพิษ นอกจากนี้ร้านฌานา ยังมีการนำจิงจูฉ่ายมาสกัดเย็นพร้อมกับผลไม้กับเมนูเครื่องดื่ม Cold Pressed Juice รสชาติ Charna Longevity ดื่มแล้วสดชื่น ดีต่อใจและดีต่อร่างกายแน่นอน หากอยากลองลิ้มชิมรสชาติจิงจูฉ่าย เพื่อประโยชน์ต่อร่างกายแวะไปได้ที่ร้านฌานา พิกัดร้านตั้งอยู่ที่ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 10.00–21.00 น.
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี