ความเชื่อเรื่อง “ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด” เป็นความเชื่อที่สืบทอดมาจากชาวล้านนา ซึ่งเชื่อว่าการไหว้พระธาตุเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ช่วยเสริมบารมีและสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ที่ไปไหว้
ที่มาของความเชื่อนี้มาจากบรรพบุรุษของชาวล้านนามีความเชื่อว่าก่อนที่ดวงวิญญาณจะมาเกิดและปฏิสนธิในครรภ์มารดา จะมีสัตว์ประจำนักษัตรนำดวงวิญญาณมาพักไว้ที่ “พระธาตุเจดีย์” ก่อน จากนั้นดวงวิญญาณจึงจะไปสู่ครรภ์มารดาหลังปฏิสนธิ ขณะเดียวกันเมื่อตอนสิ้นชีวิตหรือตายก็เชื่อว่าดวงวิญญาณจะกลับไปสถิตอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ตามเดิม
ดังนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว ใครก็ตามจึงต้องหาโอกาสไปไหว้สักการะพระธาตุประจำปีเกิดให้ได้ในแต่ละปี หรือสักครั้งหนึ่งในชีวิตก็ยังดี
สำหรับคนที่เกิด “ปีจอ” ตามตำนานการไหว้พระธาตุปีเกิดแล้ว จะต้องเดินทางไปไหว้ “พระธาตุอินทร์แขวน” ที่ประเทศเมียนมา หรือเรียกอีกชื่อว่า “พระธาตุไจ้ก์ทิโย” หมายถึงหินรูปหัวฤๅษี เป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่สูง 5.5 เมตร ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ คล้ายว่าจะหล่นลงมา เป็นความอัศจรรย์ที่เชื่อกันว่าเป็นหินที่พระอินทร์นำมาแขวนเอาไว้
แต่ในเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันและเรื่องของโรคระบาดโควิด-19 ยังไม่หมดสิ้นไป จึงทำได้เพียงไปไหว้สักการะพระธาตุที่คล้ายคลึงกันกับพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในเมืองไทย แต่ที่สวยงามและอยู่ในบรรยากาศใกล้เคียงกับพระธาตุอินทร์แขวนของจริง เป็นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ คือ “พระธาตุดอยมอญจิ่ง” เป็นพระธาตุอินทร์แขวนจำลองมาจากของจริง ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
คนที่คิดสร้างคือนายโพธิ์ นันติยะ ได้สร้างฐานพระธาตุขึ้นมาก่อน โดยจำลองมาจากพระธาตุอินทร์แขวน ประเทศเมียนมา แต่สร้างได้เฉพาะฐานก็เสียชีวิตไปก่อน นายอนัน ฤทธิเดช จึงหาเงินมาสร้างต่อจนเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2550 สำหรับพระธาตุอินทร์แขวนของวัดนี้ มีขนาดเท่าของจริงที่ประเทศเมียนมา นอกจากนี้ยังได้สร้าง “เจดีย์ชเวดากองจำลอง” คู่กันด้วย แต่เจดีย์นี้จะมีขนาดเล็กกว่าของจริงที่เมียนมา
ภายในวัดมีพระภิกษุไทใหญ่จำพรรษาอยู่ จึงมีโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญหลายหลังเพื่อใช้ประกอบกิจทางศาสนา มองในด้านสถาปัตยกรรมแล้วพระธาตุมอญจิ่งเป็นพระธาตุที่มีลักษณะรูปแบบไทใหญ่ มีเอกลักษณ์และสวยงาม การบูรณะใช้วิธีสร้างครอบองค์พระธาตุเดิม เพื่อถวายเป็นพุทธบุชาตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ พระธาตุดอยมอญจิ่งปัจจุบันมีอายุมากกว่า1,000 ปี
พระธาตุดอยมอญจิ่งมีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาเรื่อยๆ โดยคนเฒ่าคนแก่หลายชั่วอายุคน ก่อนสร้างพระธาตุมีเรื่องเล่าว่าเทวดามาเข้าฝันพ่อศีลตอถึงที่ตั้งหินองค์พระธาตุเก่า ต่อมาทางวัดและชาวบ้านจึงร่วมกันนสร้างองค์พระธาตุเจดีย์สีทองครอบหินพระธาตุองค์เดิมไว้ เช่นที่เห็นในปัจจุบัน
ส่วนชื่อพระธาตุดอยมอญจิ่ง ตั้งตามชื่อ “พระนางมอญจิ่ง” ตามตำนานสันนิษฐานว่าเป็นผู้สร้างพระธาตุดอยมอญจิ่ง ซึ่งตามคำบอกเล่าของคนโบราณบอกว่าพระนางมอญจิ่งเป็นลูกของพญาโคสุภราจารย์ ที่เดินทางมาจากป่าหิมพานต์มาเที่ยวเมืองมนุษย์ ระหว่างทางพญาโคได้กินผลไม้ขณะที่กินอยู่นั้นผลไม้ได้หลุดออกจากปากตกไปในลำธาร หญิงสาวชาวบ้านนางหนึ่งได้เก็บผลไม้ที่ลอยมาตามน้ำนั้นมากิน เลยเกิดตั้งครรภ์และคลอดลูกออกมาเป็นผู้หญิง ชื่อนางมอญจิ่ง
ตั้งแต่เด็กถูกล้อว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ พอนางมอญจิ่งอายุได้ 13 ปีเลยถามแม่ว่าพ่อคือใคร จึงออกตามหาพ่อจนมาถึงบ้านทุ่งข้าวพวง ได้เทวดาดลใจให้เจอกับพญาโคผู้เป็นพ่อ พญาโคจึงถอดเอาเขาโคสร้างเป็นเรือนให้นางมอญจิ่งอยู่ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามเหตุการณ์นี้ว่า ทุ่งเขาพวง ปัจจุบันเพี้ยนเป็น ทุ่งข้าวพวง
การเดินทางไปยังพระธาตุดอยมอญจิ่งไม่ยาก …ใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-แม่อาย-ฝาง เข้าทางแยกเมืองงาย เลี้ยวซ้ายเข้าไปในเมืองงาย จากนั้นเข้าไปบ้านทุ่งเข้าพวง ทางเข้าวัดพระธาตุดอยมอญจิ่งอยู่ขวามือ มีป้ายบอกทางเข้าชัดเจน
นอกจากเป็นพระธาตุที่คนเกิดปีจอต้องไปสักการะให้ได้แล้ว เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอยยังได้สูดอากาศบริสุทธิ์สดชื่น มองดูวิวทิวทัศน์สวยงามที่โอบล้อมด้วยภูเขา พักผ่อนทำบุญให้หายเหนื่อยแล้วจึงค่อยเดินทางต่อ ปัจจุบันทางวัดเปิดให้คนไปเที่ยวและทำบุญได้ทุกโอกาส
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี
นอกจากเป็นพระธาตุที่คนเกิดปีจอต้องไปสักการะให้ได้แล้ว เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอยยังได้สูดอากาศบริสุทธิ์สดชื่น มองดูวิวทิวทัศน์สวยงามที่โอบล้อมด้วยภูเขา พักผ่อนทำบุญให้หายเหนื่อยแล้วจึงค่อยเดินทางต่อ ปัจจุบันทางวัดเปิดให้คนไปเที่ยวและทำบุญได้ทุกโอกาส