วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร
ชื่อเมือง “กำแพงเพชร” ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 หรือ จารึกกฎหมายลักษณะโจร กล่าวพระนามจักรพรรดิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติที่เมืองกำแพงเพชร
ขณะเดียวกัน “กำแพงเพชร” ก็เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซ้ำยังเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว ไตรตรึงษ์ นครชุม เมืองเทพนคร เป็นต้น
ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่ากำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เดิมชื่อ เมืองชากังราว ด้วยความที่เป็นเมืองหน้าด่าน กำแพงเพชรจึงเป็นเมืองยุทธศาสตร์และมีความสำคัญมาก หลักฐานที่ปรากฏถึงความรุ่งเรืองของกำแพงเพชร ได้แก่ กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการที่ถูกสร้างอย่างแข็งแรง รวมถึงวัดโบราณหลายแห่ง
สมเด็จกรมพระยําดํารงราชานุภาพ ทรงบันทึกว่า กำแพงเมืองกำแพงเพชรเป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย ขณะที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึงความมหัศจรรย์ของกำแพชร ว่า กำแพงเพชรคือเมืองสองฝั่ง ขยายจากเมืองนครชุมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง มีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวาราวดีและก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นการคมนาคมทางแม่น้ำปิงมาก่อน เมืองนครชุมอาจมีการพัฒนาเป็นบ้านเมืองในพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมและศูนย์กลางเศรษฐกิจของสุโขทัยในลุ่มแม่น้ำปิง โบราณสถานที่เหลือ เช่น แนวกำแพงเมือง เชิงเทิน ป้อม ประตู น่าจะสร้างร่วมสมัยกับอยุธยาตอนต้น ในสมัยโบราณมีการใช้ “วัด” เป็นศูนย์กลางของนครเช่นเดียวกับสุโขทัย ดังนั้น กลางเมืองกำแพงเพชรจึงปรากฏมี “วัดพระแก้ว” และ “วัดพระธาตุ” เป็นศูนย์กลาง
“วัดพระแก้ว” เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง และมีสถานะเป็นวัดหลวงที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในกรุงศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย หรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามของกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ ปัจจุบัน) วัดพระแก้วกำแพงเพชรสันนิษฐานว่ามีการต่อเติมสิ่งก่อสร้างในวัดหลายยุคหลายสมัย ด้านเหนือของวัดเป็นบริเวณที่เรียกว่า “สระมน” สันนิษฐานว่าเป็นเขตพระราชวังโบราณ
โบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ “ศาลพระอิศวร” ซึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูที่ปรากฏเพียงแห่งเดียวในเขตเมืองกำแพงเพชร ภายในเมืองยังมีซากวัดเล็กๆ อีกประมาณ 10 แห่ง รวมทั้งคูน้ำและสระน้ำ
กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อน สูงประมาณเมตรเศษ ขาดเป็นตอน ๆ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพง สิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ตรงกลางของวัดมี “พระเจดีย์กลม” แบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีสิงห์ยืนอยู่ในคูหา แต่ชำรุดหมด หลังการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบฐานเจดีย์แบบต่าง ๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานโบสถ์ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดใหญ่ และสำคัญมาก ว่ากันว่าใครไปถึงกำแพงเพชรแล้วไม่ได้ไปเที่ยววัดพระแก้ว ชมความสวยงามของเจดีย์และความขรึมขลังของบรรยากาศ เรียกว่าไปไม่ถึงจังหวัดกำแพงเพชรเลยทีเดียว….
ส่วนที่ว่าทำไมถึงมีชื่อว่า “วัดพระแก้ว” ก็มาจากตำนานพระแก้วมรกต เล่าลัดตัดตอนมาที่เมื่อพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรได้ระยะหนึ่ง ทำให้เมืองกำแพงเพชรมีชื่อเสียงว่าเป็นเมืองสำคัญในทางพระพุทธศาสนา บรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือคิดจะแย่งชิงพระแก้วมรกตไป แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพใหญ่มีไพร่พลนับแสนมาที่กำแพงเพชร เพื่อทูลขอพระแก้วมรกต ด้วยแสนยานุภาพของกองทัพเมืองเชียงราย เจ้าเมืองกำแพงเพชรจึงจำใจให้ไปด้วยความโศกเศร้าของอาณาประชาราษฏร์ ต่อมามีการทำศึกแย่งชิงพระแก้วมรกตกันอีกหลายครั้งจนเจ้าเมืองเชียงรายนำพระแก้วมรกตไปซ่อนไว้ภายในพระเจดีย์ วัดป่าเยี้ยะ ซึ่งอยู่ในเชียงรายนั่นเอง จึงทำให้พระแก้วมรกตหายสาบสูญไปตั้งแต่บัดนั้น
จนกระทั่งเกิดฟ้าผ่าพระเจดีย์จึงทำให้พบเห็นพระแก้วมรกตอีกครั้ง คราวนี้เจ้าเมืองเชียงใหม่อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่เชียงใหม่ แต่มาถึงกลางทางช้างที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตไม่ยอมเดิน แต่กลับไปที่เมืองเขลางค์นคร(ลำปาง) จึงต้องประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ที่นครลำปาง
ต่อมาพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางไปไว้ที่สถูปเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ เมื่อเกิดศึกเชียงใหม่กับลาว พระเจ้าไชยเชษฐาได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่นครหลวงพระบาง แล้วต่อมาย้ายไปที่เมืองเวียงจันทน์ในที่สุด พระแก้วมรกตอยู่ในเวียงจันทน์มาเป็นเวลาประมาณ 200 ปี จนสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเสร็จศึกเมืองเวียงจันทน์ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมายังพลับพลาที่วัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม)
โดยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า ได้อาราธนาจากเมืองเวียงจันทน์ ข้ามมายังเมืองพานพร้าว(น่าจะเป็นเมืองศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง เดินทัพมาถึงเมืองสระบุรี พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต เป็นขบวนเรือไปรับที่ท่าเจ้าสนุก หลังจากอัญเชิญมาทางบก แล้วทำพิธีสมโภช 3 วัน 3 คืน จึงอัญเชิญมาที่ท่าพระราชวังหลวง มาประทับแรมที่พระตำหนักบางธรณี(วัดตำหนักใต้บางกระสอ นนทบุรี) และในที่สุดพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน
เมื่อครั้งพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรนั้น เชื่อว่าต้องประดิษฐานภายในวัดในกำแพงเมืองหรือวัดประจำเมืองก็คือ วัดพระแก้ว ประกอบกับที่วัดพระแก้วมีมณฑปขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 28 ตั้งซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ฐานชั้นล่างกว้างประมาณ 12 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร ตรงกลางด้านทิศตะวันออกทำเป็นทางขึ้น ถัดจากนั้นเป็นฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 36 อีก 1 ชั้น แต่ชั้นนี้ไม่มีบันไดทางขึ้น ต่อไปเป็นฐานย่อมุม 28 กว้างประมาณ 8 เมตร รองรับตัวเรือนธาตุ ย่อมุมไม้ 12 มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ภายในเป็นห้องสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนั่นเอง
ด้านหลังสุดของวัดพระแก้ว ยังมีเจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมเรียกว่า เจดีย์ช้างเผือก เพราะฐานล่างประดับด้วยรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 32 เชือก และแปลกกว่าเจดีย์ทรงระฆังและช้างล้อมอื่น ๆ คือ บนฐานสี่เหลี่ยมยังมีเจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 มุม การก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมเห็นว่าส่วนใหญ่จะสร้างในยุคสุโขทัย และในตำนานพระพุทธสิหิงค์ ก็เคยมาประดิษฐานที่กำแพงเพชร จึงเชื่อว่าทั้ง พระพุทธสิหิงค์ และ พระแก้วมรกต น่าจะเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วนี้มาก่อนทั้งสององค์
และเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จมาที่กำแพงเพชร ได้โปรดเรียกกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางเมืองว่า “วัดพระแก้ว”
มีโอกาสเดินทางเที่ยวเมืองกำแพงเพชรเมื่อไหร่อ ยากชวนไปสัมผัสความงามของสถาปัตยกรรมศิลาแลงที่วัดแห่งนี้
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี