ผู้ประกอบการควรรู้! เปิด 4 แนวโน้มอาหารโลก 2018 ต่อยอดพัฒนาโปรดักต์ตอบโจทย์ผู้บริโภค

Content พาเพลิน

 

จากตัวเลขอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2561 ที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ในอัตรา 5.3-10.3% มีมูลค่าส่งออกอยู่ในช่วง 1.07-1.12 ล้านล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่สำคัญยังเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน นับเป็นแนวโน้มดีที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและขยายธุรกิจ

คำถามที่ผู้ประกอบการหลายคนยังสงสัยคือ แล้วจะพัฒนาอาหารไปในทิศทางไหน? แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างไร? ลองมาฟังมุมมองจากการบรรยายพิเศษหัวข้อ “โกลบอล ฟู้ด แอนด์ ดริงค์ เทรนด์ส 2018” โดย “สุดธัญญา อยู่โพธิ์” นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจาก “มินเทล” บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำระดับโลก

 

ที่มาที่ไปของอาหาร สิ่งที่ใครๆ ก็ใคร่รู้

เทรนด์แรกที่ถูกพูดถึงคือ Full Disclosure หรือการเปิดเผยข้อมูลอาหารเต็มรูปแบบ มาจากผู้บริโภคอยากรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้นว่าสิ่งที่เขากำลังจะกินมาจากไหน มีกระบวนการผลิตอย่างไร ซึ่งหากดูผลสำรวจจากทั่วโลกจะพบว่า ผู้บริโภคชาวจีน 45% จะเลือกซื้ออาหารในแหล่งที่มีความปลอดภัย ในสหรัฐอเมริกา คนที่มีลูก 55% กังวลกับความปลอดภัยของอาหาร ขณะที่ในแคนาดา แบรนด์ต่างๆ เริ่มออกมาบอกประโยชน์ของสินค้าตัวเองมากขึ้น แต่พบว่ามี 20% เท่านั้นที่เชื่อในการยืนยันดังกล่าว

นอกจากนี้ หากมองย้อนไป 7 ปี จะพบว่าแบรนด์อาหารนำธรรมชาติมาใช้ยืนยันความปลอดภัยของสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ยืนยันว่าไม่มีวัตถุปรุงแต่งเจือปน เป็นออร์แกนิค ถือเป็นอีกตัวบ่งชี้หนึ่งที่บอกให้รู้ว่าผู้บริโภคอยากได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย

อีกแนวโน้มหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือการยืนยันว่าเป็นโปรดักต์ที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อสัตว์ที่ผู้ผลิตยืนยันว่ามีการคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ ไม่ได้ทำร้ายทารุณหรือเลี้ยงสัตว์ไม่ดี ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่าผู้บริโภคสนใจว่าการผลิตสินค้านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

เทรนด์นี้เติบโตขึ้นในโลกอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากแบรนด์ทั่วโลกออกมาหาวิธีต่างๆ ที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเชื่อใจในอาหารมากขึ้น ที่น่าสนใจคือกรณีหน่วยงานรัฐเวียดนามที่ดูแลเรื่องการค้าในนครโฮจิมินห์ซิตี้ มีการดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้บอกแหล่งที่มาของอาหารให้ประชาชนทราบ โดยโครงการแรกคือการติดตามเนื้อหมูที่ขายในตลาด ซึ่งผู้บริโภคที่ซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต จะสามารถสแกนบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดแล้วรู้ได้ทันทีว่าหมูถูกเลี้ยงที่ไหน ถูกส่งไปโรงฆ่าสัตว์เมื่อไหร่ และวันไหนที่มีคนมารับและนำเข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ ตอนนี้ครอบคลุมถึง 80% ของซัพพลายเนื้อหมูทั้งหมดในตลาดเวียดนามแล้ว

หรือหากยังไปไม่ถึงขั้นที่มีการดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ สิ่งหนึ่งที่แบรนด์จะทำได้คือการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์ อย่างแบรนด์เวียดนามที่มีชื่อว่า TH true MILK จุดขายคือเป็นนมสดจากฟาร์มคุณภาพดี จึงใช้พื้นที่ด้านหลังกล่องบอกเล่าเรื่องราวว่าวัวถูกเลี้ยงมาอย่างไร เช่น วัวมีการอาบน้ำทุกวันให้สะอาด มีการเปิดเพลงให้วัวฟัง และบอกไปขั้นตอนต่อไปของการผลิตน้ำนมจนถึงขั้นบรรจุลงขวด ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่แบรนด์จะนำไปประยุกต์ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองลงบนบรรจุภัณฑ์

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคชาวไทย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ค่อนข้างเชื่อถือ คือการมีโลโก้รับประกันอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดย 51% ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่า การที่มีโลโก้อยู่บนสินค้า ทำให้โปรดักต์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

 

วิธีการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคยังรวมไปถึงการสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค โดยเฉพาะผ่านทางโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นช่องทางที่ทรงพลัง เช่น เอสเอ็มอีรายหนึ่งในอินโดนีเซียทำนมอัลมอนด์ขายในแบรนด์ Dama ก็ใช้โซเชียลมีเดียในการบอกเล่าเรื่องราว กระบวนการผลิต และที่มาที่ไปของส่วนผสม นอกจากนี้ แบรนด์ขายเนื้อสัตว์ในอังกฤษก็ทำไลฟ์วิดีโอจากกล้องซีซีทีวี เผยให้เห็นการเลี้ยงไก่ของเขาว่ามีการดูแลอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงตัวโปรดักต์ได้มากขึ้น

สิ่งที่ทีมวิจัยคาดการณ์ต่อไปในอนาคตคือ เทคโนโลยีน่าจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถแชร์ข้อมูลและบันทึกข้อมูลออกไปได้ โดยที่ไม่มีใครสามารถบิดเบือนข้อมูลเดิมได้ ดังนั้น นี่จึงอาจเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

กินเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่แค่ไม่มีโรค แต่ต้องตอบโจทย์-ผ่อนคลายความรู้สึก

อย่างที่รู้กันว่าผู้คนสนใจในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น เทรนด์ที่ 2 จึงเป็นการพูดถึง Self Fulfilling Practices ที่เป็นเหมือนอีกบทหนึ่งที่แยกออกมาจากเทรนด์สุขภาพ โดยถ้าหากพูดถึงการกินเพื่อสุขภาพ เรามักนึกถึงการมีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัย แต่ผู้บริโภคต้องการอะไรหลายอย่างมากขึ้นจากอาหาร สิ่งที่เขามองถัดมาคือทำอย่างไรให้กินอาหารแล้วตอบโจทย์ต่อร่างกายและอารมณ์

สิ่งที่พบคือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนเริ่มหันออกมาทานอาหารที่มีความหมายมากกว่าดีต่อสุขภาพ คือกินแบบมีความหมายมากขึ้น คนมองหาว่าเรากินสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ส่วนผสมตัวนี้ตอบโจทย์เราหรือเปล่า

ถ้ามองที่ผู้บริโภคในไทยและในอินโดนีเซียจะพบว่า เขาพยายามที่จะกำหนดว่าการกินแล้วมีสุขภาพดีคืออะไร โดยในไทยพบว่า 70% ของผู้บริโภคยอมรับว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการกินอาหารเสริมเพื่อสุขภาพอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ นี่จึงเป็นอีกตัวบ่งชี้หนึ่งที่ทำให้เห็นว่าคนมีการกินที่มีวัตถุประสงค์มากขึ้น

นอกจากตัวผู้บริโภคเองแล้ว สิ่งที่ช่วยผลักดันให้คนหันมากินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นก็มาจากภาครัฐ ซึ่งเห็นมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นที่สิงคโปร์ที่มีโลโก้อาหารที่ดีต่อสุขภาพมานานแล้ว หรืออย่างในปี 2016 ประเทศไทยก็ออกฉลากทางเลือกสุขภาพ เป็นต้น

ตัวอย่างที่เริ่มเห็นคือแบรนด์ไทยที่ทำขนมขบเคี้ยวเป็นกล้วยม้วน ซึ่งจริงๆ แล้วกล้วยเป็นขนมที่หากินง่าย แต่คนไทยอาจจะยังไม่ค่อยรู้ว่าจริงๆ แล้วกล้วยมีประโยชน์อะไรบ้าง แบรนด์นี้เลยนำข้อดีของกล้วยที่เป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ดีต่อการทำงานของหัวใจ มาเป็นข้อมูลบนซองให้ผู้บริโภคได้รู้

อีกตัวอย่างหนึ่งมาจากเกาหลีใต้ เป็นกาแฟลาเต้ธรรมดาที่เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไป ทำให้มีประโยชน์มากขึ้น คนก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขากินหรือเครื่องดื่มที่เขาดื่มมันมีความหมาย

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของเทรนด์นี้คือ นอกจากคนจะกินเพื่อตอบโจทย์สุขภาพที่ดีและป้องกันโรคแล้ว คือการกินเพื่อตอบโจทย์สุขภาวะทางอารมณ์ด้วย โดยจากการสำรวจพบว่า 52% ของคนไทยระบุว่าการสามารถจัดการความเครียดได้นั้นหมายถึงการมีไลฟ์สไตล์ที่เฮลตี้ หรือ 31% ของคนจีนระบุว่าสนใจในเครื่องดื่มที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ ขณะเดียวกันคนบราซิล 21% ก็มีความคิดเห็นว่าการกินขนมช่วยลดความเครียดได้ แสดงว่าคนมีความเครียดและหวังการลดความเครียดจากอาหารมากขึ้น

ดังนั้นถ้าผู้ผลิตทำให้ผู้บริโภคเห็นได้ว่าการกินอาหารจะตอบโจทย์กับการลดความเครียดได้ ก็จะทำให้ผู้บริโภคสนใจในตัวโปรดักต์มากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้พูดถึงส่วนผสมอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นเรื่องของมาร์เก็ตติ้งหรือไอเดียด้วย

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มนุษย์เงินเดือนมีความกดดันค่อนข้างสูง จึงเป็นไอเดียให้แบรนด์หมากฝรั่งเกาหลีอย่าง Woonglin Food ออกผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า CEO gum และ Manager gum สำหรับกลุ่มลูกค้าวัยทำงานที่อยากระบายความเครียดและแรงกดดันที่ได้รับจากเจ้านาย ถือเป็นกิมมิคเล็กๆ ที่แบรนด์นำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน ส่วนในญี่ปุ่นก็มีการทำบิสกิตที่มีส่วนผสมที่มีส่วนช่วยในการลดความเครียดจริงๆ เช่น กาบา

การผ่อนคลายความเครียดไม่เพียงแต่ผ่านผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังสามารถผ่านกิจกรรมได้ด้วย เช่น สตาร์บัคส์ในสหรัฐอเมริกา ที่ช่วงคริสต์มาสจะมีแก้วกาแฟให้ลูกค้ามาระบายสีได้ ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายความเครียดอย่างหนึ่ง

อีกด้านหนึ่งของเทรนด์นี้คือการที่ คนกินเพื่อตอบโจทย์ความอยากอาหาร เพราะบางครั้งการที่เรากำหนดให้ตัวเองกินอาหารเพื่อสุขภาพตลอดเวลาก็สร้างความกดดันและความเครียด จึงจะเห็นเทรนด์ที่คนใส่ใจอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น และปล่อยตัวเองให้กินอาหารเล็กๆ น้อยๆ ที่อยากกิน เช่น ไอศกรีม คุกกี้ อย่างในไทยถึงแม้คนจะเห็นด้วยกับการกินอาหารที่ลดน้ำตาลลง แต่ 68% บอกว่าการกินอาหารที่มีน้ำตาลบ้างเป็นบางครั้งบางคราวก็ไม่ผิด หรืออย่างในสหราชอาณาจักร คนก็บอกว่าการกินอาหารเค็มมากหรือหวานมากบางครั้งก็ดีเหมือนกัน ทำให้สังเกตได้ว่าคนยังมีความบาลานซ์ในการกินอาหารอยู่

ไอเดียที่น่าสนใจคือร้านไอศกรีมในเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ที่เปิดร้านในสไตล์คลินิกไอศกรีม ให้คนที่มีอาการเครียด เศร้า หรืออารมณ์ต่างๆ เข้ามากินไอศกรีมเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ โดยจะมีเชฟเป็นผู้ทำไอศกรีมหลากรสชาติให้เหมาะกับแต่ละอารมณ์

วิธีอื่นๆ ที่แบรนด์ทำให้คนสามารถกินขนมได้แบบไม่รู้สึกผิดเท่าไหร่ คือ ทำไซซ์ให้เล็กลง เพื่อให้ดูเป็นขนาดที่สามารถกินระหว่างวันได้ หรือบางแบรนด์อาจจะเพิ่มส่วนผสมที่มีประโยชน์ลงไป เช่น เพิ่มโปรตีน หรือไฟเบอร์ในบิสกิต เพื่อให้คนรู้สึกดีว่าถึงแม้จะกินบิสกิต แต่ก็เป็นบิสกิตที่มีประโยชน์

 

อิ่มท้องอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้ประสาทสัมผัสใหม่ๆ

เทรนด์ที่ 3 คือ New Sensation หรือประสาทสัมผัสใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งความต้องการที่คนก็อยากได้จากอาหารเหมือนกัน กล่าวคือ คนให้คุณค่ากับประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งการกินอาหารเดิมๆ ทุกวันทำให้เบื่อได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาอยากได้ก็คือ “อาหารที่ตอบโจทย์ที่สร้างความต้องการใหม่ๆ” ดังนั้น ทีมวิจัยมองว่า “เท็กซ์เจอร์” หรือ “เนื้อสัมผัส” ก็เลยเป็นอีกเทรนด์ที่กำลังจะมา เพราะเรียกได้ว่าเนื้อสัมผัสก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาหารมีมิติมากขึ้น ดังนั้นการใช้เท็กซ์เจอร์เข้ามานอกจากจะเป็นการเล่นรสชาติแล้ว ยังดึงดูดประสาทรับรู้อื่นของคน ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นเท็กซ์เจอร์ที่ต่างไป การสัมผัส เข้ามาด้วย

หากดูผลสำรวจทั่วโลกจะพบว่า ผู้คนเปิดใจที่จะลองชิมอาหารที่มีเท็กซ์เจอร์ใหม่ๆ มากขึ้น อย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร ผู้บริโภค 25% ระบุว่ายินดีหากน้ำอัดลมจะมีการเพิ่มเท็กซ์เจอร์ใหม่ๆ เข้าไป เช่น เนื้อผลไม้ ขณะที่คนจีน 32% ระบุว่า โยเกิร์ตที่พวกเขาอยากได้เป็นโยเกิร์ตที่มีเท็กซ์เจอร์อยู่ในนั้น เช่น ซีเรียล หรือธัญพืช

เพราะฉะนั้นในช่วงตั้งแต่ปี 2016 จะเห็นว่าแบรนด์ที่เปิดตัวสินค้าใหม่จะพูดถึงเท็กซ์เจอร์มากขึ้น โดยในแถบเอเชียถือเป็นอันดับ 2 ที่เวลาเปิดตัวสินค้าใหม่จะพูดถึงเรื่องเท็กซ์เจอร์

เทรนด์นี้เราเริ่มเห็นในตลาดบ้างแล้ว เช่นที่กำลังฮิตตอนนี้อย่าง “ชาชีส” ที่ดื่มแล้วสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้ผู้ดื่มได้ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เล่นกับเท็กซ์เจอร์แล้วได้รับการตอบรับที่ดี

 

หรืออย่างในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเห็นความคลั่งไคล้ชีสของผู้บริโภคมาก สิ่งที่หลายแบรนด์นำมาเล่นคือการเล่นกับเท็กซ์เจอร์ชีสที่สามารถยืดได้ เช่น Say Chiizu โทสต์ชีสฮอกไกโดแบรนด์คนไทย ที่สร้างความตื่นเต้นให้คนที่ชีสสามารถยืดได้ขนาดนั้น จนประสบความสำเร็จมาก สามารถไปเปิดสาขาในสิงคโปร์ได้ หรืออย่างเกาหลีใต้ก็นำชีสมาใส่ในอาหารพื้นเมืองหลายเมนู เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่

ขณะที่แฟนต้าที่ออสเตรเลียก็พยายามสร้างความแปลกใหม่กับคนมากขึ้นด้วยการเปิดตัวน้ำอัดลมที่เขย่าแล้วจะมีวุ้นเยลลี่ หรืออีกโปรดักต์หนึ่งที่มีรสซ่าจนให้ความรู้สึกจักจี้ที่ลิ้น เป็นต้น ถือเป็นการเล่นเท็กซ์เจอร์มากขึ้นเพื่อให้คนได้รับรู้ถึงรสชาติที่ต่างออกไป

“สิ่งแวดล้อม” อีกสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ

เทรนด์สุดท้ายคือ Science Fair พูดถึงการนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์หลักๆ คือทำอย่างไรให้บริโภคได้เยอะขึ้น/เท่าเดิม โดยที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือลดผลกระทบของทรัพยากรลง

เห็นได้จากผลสำรวจทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตกซึ่งผู้บริโภคค่อนข้างห่วงใยในเรื่องนี้ เช่น ชาวสหราชณาจักร 60% ที่ซื้อน้ำเป็นขวด บอกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ควรที่จะซื้อน้ำจากบรรจุภัณฑ์ที่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ หรือ 22% ของคนบราซิลบอกว่ายอมจ่ายเงินมากขึ้นให้กับโปรดักต์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ 24% ของคนอินโดนีเซียยอมรับว่าการช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติกหรือปั่นจักรยานแทนขับรถ ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นและได้สุขภาพที่แข็งแรงด้วย

ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังจะมา ถึงแม้ว่าในภูมิภาคอาจจะยังไม่เห็นความเคลื่อนไหว แต่เทรนด์นี้ก็เกิดขึ้นแล้วในระดับโลก เช่น เริ่มเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างยูนิลีเวอร์ ที่เข้าไปร่วมลงทุนกัมหาวิทยาลัย ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการผลิตอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

โครงการหนึ่งที่น่าสนใจมากคือการผลิตเนื้อที่เป็น Meat Free คือไม่มีเนื้อสัตว์ในนั้นเลย มาจากพืช 100% ซึ่งเป็นโครงการที่ยูนิลีเวอร์ไปร่วมกับมหาวิทยาลัย Wageningen ในเนเธอร์แลนด์ ที่พยายามจะผลิตเนื้อที่สังเคราะห์มาจากโปรตีนถั่วเหลือง มีรสชาติเหมือนเนื้อสเต็กจริงๆ และมีเท็กซ์เจอร์ต่างๆ เหมือนเนื้อ โดยยูนิลีเวอร์คาดว่าโปรดักต์นี้น่าจะออกสู่ตลาดได้ในปี 2019

ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็พยายามดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยสตาร์ตอัพรายหนึ่งพยายามทำแพคเกจจิ้งที่สกัดมาจากสาหร่าย ซึ่งนอกจากจะสามารถกินได้แล้ว แต่ถ้าคนไม่อยากกิน บรรจุภัณฑ์นี้ก็สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งเขามองว่าไอเดียนี้น่าจะสามารถมาประยุกต์ใช้ได้ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเอาสาหร่ายสกัดมาทำซองใส่เครื่องปรุง ลูกค้าสามารถเทน้ำร้อนลงไปได้โดยที่ซองเครื่องปรุงจะละลายน้ำไปเอง ไม่ต้องฉีกและทิ้งให้เป็นขยะย่อยสลายอีกต่อไป

ถือเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคต่อไป

 

—————————————–

 

Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
         โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111