Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ทำไมปราสาทพิมาย จึงหันหน้าไปทางใต้

ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พุทธสถานแห่งเมืองพิมาย

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปราสาทพิมาย หรือปราสาทหินพิมาย ที่อำภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทขอมที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ คือประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ เศษๆ และมีการสร้างเพิ่มเดิมเป็นปราสาทขนาดเล็กขึ้นภายในบริเวณเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ปราสาทพิมายตั้งอยู่ในตำแหน่งอันเป็นประธานศูนย์กลางของเมืองพิมายโบราณที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่เรียกว่าปราสาทนั้นเรียกตามลักษณะของสถาปัตยกรรมโบราณ มิได้หมายความว่าเป็นปราสาทราชวังหรือที่พำนักของพระราชา

ปราสาทพิมายนอกจากมีบริเวณกว้างขวางแล้ว ฝีมือการสลักหินตัวปราสาท ซุ้มประตู และระเบียงคด ก็ทำความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ได้เข้าไปทัศนศึกษาอยู่มิใช่น้อย

ศาสนสถานโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของศาสนาพุทธหรือของพราหมณ์ นิยมทำหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพราะถือกันมาแต่โบราณว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศสำคัญ เป็นทิศแห่งการเกิด เพราะมนุษย์เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตก ทางทิศตะวันตกคือการดับ เมื่อมนุษย์มีศาสนาเป็นคติความเชื่อขึ้นมา ทิศตะวันออกก็ได้กลายเป็นทิศสำคัญในทางพิธีกรรม เป็นทิศแห่งความเป็นมงคลจึงมีการอธิบายเกี่ยวกับทิศตะวันออกไปต่างๆ แต่ก็สรุปความให้เห็นถึงความสำคัญ ความเป็นหนึ่งของทิศตะวันออก ศาสนสถานต่างๆ จึงนิยมหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคติในเรื่องถือความสำคัญของ

แต่ก็มีบ้างที่ศาสนสถานโดยเฉพาะประเภทปราสาทขอมหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เช่น ปราสาทหินนครวัด กัมพูชา และปราสาทขอมสร้างด้วยอิฐพบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่ก็เป็นสิ่งที่อธิบายได้สำหรับนักวิชาการทางโบราณคดี เพราะปราสาทที่กล่าวนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวสถานในศาสนาของพราหมณ์ไวษณพนิกาย หรือศาสนาของพราหมณ์ที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่กว่าเทพเจ้าองค์อื่น เพราะมีความเชื่อทางศาสนาของพราหมณ์ว่า พระนารายณ์หรือพระวิษณุหรือพระไวษณพนั้นเป็นเทพที่สถิตอยู่ทางทิศตะวันตก เทวสถานในนิกายที่นับถือเทพเจ้าองค์นี้จึงหันหน้าไปทางทิศที่สถิตองค์เทพเจ้าเพื่อเป็นการแสดงคารวะด้วย

แต่ปราสาทพิมาย (รวมทั้งเมืองพิมายด้วย) แปลกกว่าปราสาทขอมองค์อื่นๆ เพราะหันหน้าไปทางทิศใต้ จึงเกิดมีการอธิบายโดยเข้าใจเอาเองเนื่องจากเห็นความใกล้เคียงทางด้านศิลปกรรมที่เป็นแบบขอมว่า ปราสาทพิมายหันไปทางทิศใต้เพื่อหันหน้าไปทางเมืองพระนครหลวง ศูนย์กลางราชอาณาจักรขอมโบราณในกัมพูชา (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเสียมเรียบ หรือเสียมราบ)

ความจริงการอธิบายดังกล่าวนี้จะถือเป็นข้อสมมติฐานหรือสันนิษฐานก็ไม่ได้ เพราะไม่เคยปรากฎปราสาทขอมแห่งใดเลยแม้แต่แห่งเดียวที่จะหันหน้าไปหาเมืองพระนครหลวง ไม่ว่าปราสาทนั้นจะอยู่ ณ ที่แห่งหนตำบลใด เช่น ถ้าอยู่ในประเทศกัมพูชาที่อยู่ทางทิศใต้ของเมืองพระนครหลวงก็ควรหันหน้าไปทางทิศเหนือ ฯลฯ ดังนั้นคำอธิบายเรื่องการหันหน้าไปหาเมืองพระนครหลวงของปราสาทพิมายจึงมิได้มาจากคติอันเป็นแนวคิดในการก่อสร้างอย่างแน่นอน

นอกจากนี้จะเห็นว่า การอธิบายเช่นนี้มีความขัดแย้งกับคติทางศาสนาด้วย เนื่องจากปราสาทพิมายซึ่งเป็นพุทธสถานมหายาน เมื่อมีการสร้างหันหน้าไปทางทิศได้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ เศษนั้น ขณะนั้นเมืองพระนครหลวงแห่งราชอาณาจักรขอมมีกษัตริย์ที่นับถือศาสนาของพราหมณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐ แล้ว ศาสนาของพราหมณ์เป็นศาสนาหลักของเมืองพระนครหลวงต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๒ จึงเปลี่ยนเป็นพุทศาสนามหายานเหมือนกันกับเมืองพิมาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ศาสนาสถานพุทธมหายานแห่งเมืองพิมายจะสร้างขึ้นในลักษณะที่ให้การคารวะต่อเมืองพระนครหลวงที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนาของพราหมณ์โดยการหันทิศทางดังกล่าว (ส่วนในเรื่องการยอมรับอำนาจทางการเมืองการปกครองในรูปหนึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรนำมาปะปน)

ความจริงการอธิบายเรื่องการหันหน้าไปทางทิศใต้ของปราสาทพิมาย เป็นเรื่องที่มีแนวคิดทางศาสนาพุทธอยู่หลายประการที่สามารถหยิบยกมาใช้เป็นมูลฐานเพื่ออธิบายได้ ถ้าหากนักโบราณคดีจะตระหนักสักนิดหนึ่งว่า ปราสาทพิมายสร้างขึ้นตามคติทางพุทธศาสนานิกายมหายานมาโดยตลอด นับตั้งแต่เริ่มแรกที่พบแต่เพียงศิลาจารึกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕-๑๕๙๓) ที่บริเวณปราสาทพิมายเพราะพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรขอมโบราณอีกพระองค์หนึ่งนอกจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่นับถือพุทธศาสนามหายานแม้ว่าจะยังไม่พบศาสนสถานของพระองค์ในบริเวณปราสาทพิมายเลยก็ตาม เพราะอาจเป็นศาสนสถานที่สร้างด้วยไม้ ไปจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่เช้ามาสร้างปราสาทด้วยศิลาแลงเพิ่มเติมในบริเวณปราสาทพิมายเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (ผู้เขียนเป็นผู้ขุดตรวจสอบบริเวณที่เห็นเป็นแนวอิฐภายในบริเวณระเบียงคตให้แก่ เมอซิเออร์แบร์นาร์ด ฟิลลิปซ์ โกรลิเยส์ ผู้อำนวยการสำนักศึกษาฝรั่งเศสแห่งเบื้องบูรพาทิศ-ตำแหน่งขณะนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่ไม่พบร่องรอยของรากฐานสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ จึงคิดว่าศาสนสถานสมัยนั้นอาจสร้างด้วยไม้จึงไม่เหลือร่องรอยให้เห็น)

ดังนั้น ในต่อไปนี้จะขอเสนอคติความเชื่อเกี่ยวกับ ทิศใต้ ของพุทธศาสนา เท่าที่รวบรวมมาได้ เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับทิศทางของปราสาทพิมายได้อย่างเหมาะสมในโอกาสต่อไปดังนี้

๑. ในพระมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค มหามกุฎราชวิทยาลัยแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย กล่าวถึงพระมหาปรินิพพานของพระพุทธองค์ว่า ทรงอาพาธหนักและรู้กาลเวลาที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้เสด็จพร้อมพระอานนท์และภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มาถึงป่าสาละวันแห่งแม่น้ำหิรัญวดี นอกเมืองกุสินารา ทรงมีรับสั่งกับพระอานนท์ว่า

 

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองพิมายและปราสาทพิมาย แสดงตำแหน่งสถานที่สำคัญ

…เธอจงช่วยตั้งเตียงให้เรา หันศีรษะไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เราเหนื่อยแล้วจักนอน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระราชดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ตั้งเตียงหันพระเศียรไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยาโดยปรัศว์เบื้องขวา ทรงช้อนพระบาทด้วยพระบาท มีพระสติสัมปรัญญะ

สมัยนั้น ไม้สาละทั้งคู่ผลิดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูราพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ… แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต

เรื่องสมเด็จพระสัมพาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพานโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือนั้น แม้ใน พุทธประวัติฝ่ายมหายาน ก็มีกล่าวตรงกัน เหตุที่ทรงเลือกทิศเหนือแทนที่จะเป็นทิศตะวันตกอันเป็นทิศแห่งการดับหรือการตายตามคติเดิมในศาสนาของพราหมณ์และความเชื่ออื่นๆ ที่สืบต่อกันมานั้น อาจอธิบายความหมายได้ว่าเพราะพระพุทธองค์ทรงอยู่เหนือธรรมชาติที่วนเวียนอยู่กับการดับและการเกิดเหมือนดวงอาทิตย์เมื่อตกแล้วก็ขึ้นใหม่ในวัยรุ่งขึ้น พระมหาปรินิพพานของพระพุทธองค์นั้นคือการดับสิ้นอย่างหมดจด ไม่เหลืออะไรไว้ให้เกิดขึ้นมาใหม่อีก ดังนั้น ทิศทางแห่งการไสยาสนเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงควรเป็นทิศที่แตกต่างไปจากทิศแห่งการดับตามธรรมดาที่ดับแล้วก็เกิดใหม่เหมือนดวงอาทิตย์ตกแล้วก็ขึ้นมาอีก พระพุทธองค์จึงทรงเลือกทิศอุดรหรือทิศเหนือเพื่อการปรินิพพานให้เป็นสัญลักษณ์ที่ต่างออกไป

๒. จากพระมหาปรินิพพานสูตรซึ่งเป็นพระสูตรดั้งเดิมมากเช่นนี้ จึงเกิดเป็นคตินีของพุทธศาสนิกชนแต่โบราณที่ถือทิศเหนือเป็นทิศแห่งการตาย และเข้าใจกันว่าทิศตรงข้ามทิศเหนือคือทิศใต้เป็นทิศแห่งการมีชีวิต จึงพบคติเกียวกับทิศทางในการนอนของพุทธศาสนิกชนสยามสมัยโบราณในศิลาจารึกของสุโขทัย เรียกทิศใต้เป็นทิศหัวนอนและทิศเหนือเป็นทิศตีนนอน ซึ่งหมายความว่าในขณะมีชีวิตอยู่นั้นทิศใต้เป็นทิศที่นอนหันหัวไป ตรงข้ามกับทิศเหนือซึ่งเป็นทิศแห่งการนอนตาย

ตามตำนานทางพุทธศาสนา ปรากฎมีชื่อวัดขนาดใหญ่คือวัดเชตวนาราม เป็นวัดที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทุ่มเงินทองมากมายลงทุนสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระอารามถวายแด่พระพุทธองค์ ณ เมืองสาวัตถี ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทกล่าวว่าเป็นวัดที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับบ่อยครั้งที่สุด มีการบรรยายความใหญ่โตโอฬารของวัดแห่งนี้มากมายแต่ไม่บอกทิศทางว่าหันหน้าไปทางทิศใด จนกระทั่งกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ หลวงจีนฟาเหียนได้เดินทางไปสืบหาพระคัมภีร์ที่ประเทศอินเดีย ท่านเดินทางบกขาไปและกลับทางเรือ หลวงจีนฟาเหียนได้แวะมาที่วัดเชตวันฯ ซึ่งขณะนั้นทรุดโทรมมากแล้วและเล่าว่า วัดเชตวนารามหันหน้าไปทางทิศใต้

จะเห็นว่า ทิศใต้ทิศเหนือ ซึ่งหมายถึงทิศแห่งการมีชีวิตและการตายตามคติทางพุทธศาสนานั้น เป็นแนวคิดที่มิได้อ้างอิงกับธรรมชาติเหมือนทิศตะวันออกตะวันตก ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่แสดงการเกิดและการดับของชีวิต ดังนั้น ทิศใด้กับทิศเหนีอปัจจุบันจึงถูกลืมไปว่าเดิมเคยมีความหมายสำคัญในทางพุทธศาสนาเหมือนกับทิศตะวันออกตะวันตก ที่มีธรรมชาติคือดวงอาทิตย์เป็นปรากฎการณ์เตือนให้รำลึกถึงอยู่เสมอ แต่เมื่อปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในสมัยสุโขทัย และสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ที่ประเทศอินเดียเช่นนี้ก็น่าจะใช้เป็นมูลฐานแห่งคำอธิบายเกี่ยวกับทิศทางที่ปราสาทพิมายหันหน้าไปได้ว่า มีความหมายเหมือนกับศาสนสถานทั้งหลายที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั่นเอง แต่ที่ปราสาทพิมายหันไปทางทิศใต้เพราะเป็นคติเฉพาะทางพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติจึงลืมกันไปแล้วในปัจจุบัน

ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พุทธสถานแห่งเมืองพิมาย

๓. พุทธศาสนานิกายมหายานมีการนับถือพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ทรงตั้งปณิธานขอโปรดสัตวํในไตรภูมิต่อไปโดยไม่สมัครพระทัยเข้าสู่พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการนับถือบูชาจากพุทธศาสนิกชนมากที่สุดคือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เพราะเชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้ทรงไว้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลในอันที่จะช่วยโปรดสัตว์โลกที่ได้รับความทุกข์ พระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนวิเนตา สาธุธนธรรมประสิทธิ์ บรมนริศรานุวัตร (โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายสงฆ์จีนนิกาย กล่าวไว้ในหนังสือ สารัตถธรรมมหายาน แปลเป็นภาษาไทยโดย พระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ (เย็นเจี่ยว) ว่า

บรรดาพระโพธิสัตว์องค์สำคัญๆ ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานปรากฏว่าพระอวโลกิเตศวรมีผู้เคารพนับถือมากที่สุด เพราะเชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้ทรงไว้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันกว้างใหญ่ไพศาลในอันที่จะโปรดสัตว์โลกที่ใด้รับทุกข์ ชาวจีนเรียก พระองค์ว่า ‘กวนอิมพูสัก หรือ กวนจือจ๋ายพู่สัก’ หมายถึงพระโพธิสัตว์ที่มีพระกรรณาธานโลกาศัพท์ (พระโพธิสัตว์ที่คอยสดับตรับฟังเสียงความทุกข์สุขของชาวโลก)

มิใช่เฉพาะพุทธศาสนิกชนชาวจีนเท่านั้นที่นับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ได้พบการสร้างรูป พระโพธิสัตว์องค์นี้ในรูปกายหรือภาคต่างๆ ตามศิลปะขอมและศิลปะลพบุรีมากกว่าพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ ซึ่งแสดงว่าพุทธศาสนิกชนนิกายมหายานในประเทศไทยสมัยโบราณและในอาณาจักขอมกัมพูชาต่างก็ นับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมากกว่าพระโพธิสัตว์องค์ใดๆ เช่นกัน พระอาจารย์จีนธรรมสมธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้ง) กล่าวต่อไปอีกว่า

…จากพุทธาวตํสกมหาไวปุลยสูตรระบุว่า ที่ประทับพระอวโลกิเตศวรอยู่ ณ เกาะกลางทะเล ทางทิตใต้ของประเทศอินเดีย เรียกที่นั้นว่า ภูเขาโปตละ

จากทิศทางที่สถิตของพระอวโลกิเตศวรว่าอยู่ทางทิศใต้ของประเทศอินเดียหรือขมพูทวีปตามพระสูตรที่ท่านพระอาจารย์จีนธรรมสมธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้ง) ยกมากล่าวนั้น อาจอธิบายว่าที่ปราสาทพิมายหันหน้าไปทางทิศใต้นั้นก็เพื่อหันไปทางที่สถิตของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั่นเอง และถ้าหากจะคิดไกลออกไปว่าด้านทิศใต้อันเป็นด้านหน้าห่างจากประตูเมืองด้านนี้ออกไปประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร มีสระน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า บาราย อยู่สระหนึ่ง อาจลองคิดดูว่าถ้าบารายนี้เป็นทะเล จะมีศาสนสถานเล็กๆ ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรเป็นภูเขาโปตละ อยู่ท่ามกลางบารายแห่งนี้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี จากการขุดค้นของกรมศิลปากรเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อบูรณะประตูไชย อันเป็นประตูเมืองด้านทิศใต้ อยู่ห่างจากตัวปราสาทประมาณ ๗๐๐ เมตร ได้พบเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทำด้วยหินทราย ภายในปีกทิศตะวันออกของซุ้มประตู และวัตถุสำริดเป็นรูปนางปรัชญาปารมิตาก็พบด้วยเช่นกัน แม้รูปเคารพที่พบนี้จะทำขึ้นในศิลปะขอมแบบบายนคือเป็นศิลปกรรมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทำขึ้นภายหลังตัวปราสาทประมาณ ๑๐๐ ปีเศษก็ตาม แต่ก็ให้ภาพตรงกับพระสูตรของพุทธศาสนานิกายมหายานที่เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่า เป็นพระโพธิสัตว์ที่สถิตอยู่ทางทิศใต้ ปราสาทพิมายจึงหันหน้าไปทางทิศดังกล่าว

สรุป จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเกี่ยวกับ ทิศใต้ ว่าเป็นทิศสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาทและมหายาน ไม่ว่าจะเป็นคติอันมีที่มาจากพระพุทธประวัติ หรือเป็นคติที่เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรก็ตาม ก็สามารถเป็นมูลฐานในการให้คำอธิบายเกี่ยวกับทิศทางของปราสาทพิมายได้อย่างเหมาะสม เพราะปราสาทพิมายเป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนา ก็ควรศึกษาค้นหาคติทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่มาเป็นแนวคิดและกรอบในการสร้างคำอธิบายจะถูกต้องกว่าสร้างคำอธิบายโดยใช้แนวคิดแบบอื่นที่คิดเข้าใจเอาเอง

แต่ทิศใต้ ทิศเหนือ เป็นทิศสำคัญเฉพาะทางพุทธศาสนาเท่านั้นมิได้อ้างอิงอยู่กับปรากฎการณ์ของธรรมชาติ อันเป็นมูลฐานตั้งเดิมของคติความเชื่อเกี่ยวกับทิศสำคัญของมนุษย์ที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในทิศทางเดิมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้นคติเกี่ยวกับทิศสำคัญทางพุทธศาสนานี้จึงไม่สามารถกลมกลืนด้วยกันได้กับคติเดิมในการสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ แม้ว่าถายหลังจะนับถือพุทธศาสนาแล้วก็ตาม

ทิศใต้และทิศเหนื่อจึงถูกกำหนดให้แก่การก่อสร้างเฉพาะองค์พระพุทธรูปเท่านั้น ดังเช่น การแกะสลักพระพุทธรูปนอนสมัยทวารวดีพบตามเพิงผากลางป่าในจังหวัดกาฬสินธุ์ มักจะเลือกเพิงผาที่ทำให้รูปพระปฏิมาหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ อันหมายถึงพระพุทธองค์ขณะทรงสีหไสยาสน์เสด็จดับขันธ ปรินิพพานในปาสาละวัน ในขณะที่เมืองสุโขทัยเก่า กำแพงเพชร และเขตล้านนา พบมีการสร้างพระพุทธรูปนอนติดที่ภายในวัดหันพระเศียรไปทางทิศใต้ อันหมายถึงพระพุทธองค์ขณะทรงสำเร็จสีหไสยาสน์สำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระอารามที่มีผู้สร้างถวาย แต่ทั้งนี้ก็มิได้เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ดังนั้นในสมัยหลังต่อๆ มาจึงพบการทำพระพุทธองค์ขณะทรงสำราญพระอิริยาบถหรือเสด็จดับขันธปรินิพพานกันแน่ หากมิได้ปรากฎองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ ช่วยชี้บอก คติเกี่ยวกับทิศสำคัญทางพุทธศาสนาจึงถูกลืมเลือนไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี การที่พระพุทธองค์ทรงนอนในอิริยาบถสีหไสยาสน์คือนอนตะแคงขวา ก็ไม่อาจสลัดทิ้งคติเดิมที่อ้างอิงธรรมชาติตะวันออกตะวันตกไปได้ กล่าวคือ เมื่อทรงไสยาสน์สำราญพระอิริยาบถหันพระเศียรไปทิศใต้พระพุทธองค์ก็ต้องทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกทิศแห่งการเกิดหรือมีชีวิตดั้งเดิม และเมื่อทรงไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือขณะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพทธองค์ก็ต้องทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ทิศแห่งการดับตามคติดั้งเดิมอีกด้วยเหตุนี้ คติทิศสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็น่าจะทำความสับสนให้ช่างก่อสร้างได้พอสมควรว่า จะยึดถือพระพักตร์หรือพระเศียรอย่างใดกันแน่ที่จะหันไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องตามคติทางพุทธศาสนา

แม้แต่ คัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ในวิชยาภิเษก ปริเฉทที่ ๗ ก็ยังปรากฎความสับสนเกี่ยวกับทิศทางในการนอนแห่งพระมหาปรินิพพานโดยกล่าว่า ทรงนอนผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือและหันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก ซึ่งขัดกับที่กล่าวไว้ในพระมหาปรินิพพานสูตรว่า ทรงนิพพานโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ

ประตูชัย ที่เมืองพิมาย ก็หันหน้าไปทางทิศใต้

นอกจากนี้ ทิศทางที่คัมภีรัมหาวงศ์บรรยายไว้แสดงว่า พระพุทธองค์ทรงนอนตะแคงข้างช้าย อันเป็นลักษณะการนอนที่ขัดแย้งกับที่กล่าวไว้ในสุตตันตปิฎก เสยยสูตร อังคุตรนิกายจตุกนิบาต เล่มที่ ๒ ฉบับแปลของมหามกุฎฯ ที่ว่า…คนบริโภคกามโดยมากนอนตะแคงข้างข้ายเราเรียกว่า กามโภคิไสยา (ได้ตรวจสอบต้นฉบับคัมภีร์มหาวงศ์กับคุณชนินทร์ สุขเกษี และคุณประสิทธิ์ แสงทับ ผู้แปลเป็นภาษาไทยแล้วว่าเป็นการแปลตรงกับต้นฉบับ)

ความสับสนนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งแห่งการไม่นิยมนำทิศเหนือใต้มาเป็นกฎเกณฑ์ในการก่อสร้างศาสนสถานก็ได้ จึงคงเหลือให้เห็นที่ปราสาทพิมายและตามคำบอกเล่าของหลวงจีนฟาเหียนเมื่อไปเห็นวัดเชตวนารามในอินเดีย ที่ยังคงเคร่งครัดต่อทิศทางตามคติทางพุทธศาสนาที่นับถือทิศเหนือใด้เป็นทิศสำคัญ แต่อันที่จริงน่าจะมีมากกว่านี้อีกที่พุทธสถานจะหันหน้าไปทางทิศใต้ถ้าหากมีการรวบรวามหลักฐานกันจริงๆ ที่ควรพิจารณาน่าจะพบตามวัดเก่าๆแถวภาคใต้ของประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ ที่มีการนับถือพุทธศาสนา เช่น ศรีลังกา พม่า จีน เป็นต้น