Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

จิตรกรรมพระราหูในสมุดภาพไตรภูมิ

ราหูกำลังจะจับพระอาทิตย์และพระจันทร์  อันมีที่มาจากเนื้อความในคัมภีร์รุ่นเก่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้คือ จันทิมสูตร และสุริยสูตร สังยุตตนิกาย   ในคัมภีร์สารัตถทีปนีอรรถกถาสังยุตตนิกายได้กล่าวว่าสาเหตุที่พระราหูจะมาจับพระอาทิตย์และพระจันทร์นั้นเพราะความริษยา

พระราหูในพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลักจะมีความแตกต่างกับพระราหูในศาสนาพราหมณ์คือ ในคัมภีร์ศิศุปาลวธ บรรพที่ 16 ฉันท์บทที่ 57  กล่าวว่าราหูจัดนับเข้าเป็นอสูรและเป็นลูกของเวปรจิตติ  ส่วนอาทิบรรพของคัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่าพระราหูเป็นบุตรของพระกัศยปอันเกิดแต่นางสิงหิกา แต่ในพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลักผู้เขียนยังตรวจไม่พบคัมภีร์ใดที่กล่าวว่าพระราหูเป็นบุตรของใคร

จากข้อความที่ปรากฏในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 6 สมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 8 กล่าวว่า ราหูสูง 4200โยชน์  ส่วนสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10สมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10/ ก และสมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลินกล่าวว่า  “ราหูสูง 1200 โยชน์”  ส่วนสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 7  ได้ให้รายละเอียดที่มากกว่าสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 6 ดังต่อไปนี้

“พฺระราหูสูงได 48000 โยชน แตหฺวางแขฺนทังโสฺงได 1200 โยชน ตัวหฺน้าได 600 โยชนแตหัวไหฺลใด 800 โยชน หฺน้าผากได 300 โยชน หวางคีวได 51 โยชน จหฺมูกยาวได 300 โยชน ปากลึกได 300 โยชน กฺวางได 300 โยชน  ฝามืไญได 200 โยชน ฝาตีนได 200 โยชน แตขฺอมือแลขฺอได 50 โยชน นีวมือยาวได 150 โยชน  พฺรราหูยีน อาปากอฺยู พฺรจนฺธกฺฑี พฺรอาทิตฺยกฺฑีเดินไปกํหฺลงเขาไปใน________โยชนแล”  

จากเนื้อความในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 7 ตรงกับคำแปลของสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 1 เนื้อหาของคัมภีร์พุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลักที่กล่าวถึงขนาดของพระราหูคือ อรรถกถามหานิทานสูตร และอรรถกถาโสณฑัณฑสูตร ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี  อรรถกถาจังกีสูตรในคัมภีร์ปปัญจสูทนี   อรรถกถาปหาราทสูตรในคัมภีร์มโนรถปูรณี   และ อรรถกถาสุริยสูตรในคัมภีร์สารัตถทีปนี   ต่อมาในคัมภีร์สมัยฎีกาและคัมภีร์โลกศาสตร์ในสมัยหลังต่างก็นำเนื้อความจากสูตรทั้งหลายที่ยกมาข้างต้น

จากการเปรียบเทียบเนื้อความพบว่า  ข้อความในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10 สมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10/ ก และ สมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลินระบุขนาดของพระราหูว่าสูง 1200 โยชน์ ตรงกับในอรรถกถามหานิทานสูตร  คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี และอรรถกถาปหาราทสูตรในคัมภีร์มโนรถปูรณี  

ส่วนข้อความที่ปรากฏในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 1 และสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 7  มีความใกล้เคียงกับอรรถกถาโสณฑัณฑสูตร ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี  อรรถกถาจังกีสูตรในคัมภีร์ปปัญจสูทนี และ อรรถกถาสุริยสูตรในคัมภีร์สารัตถปกาสินี   ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าข้อความที่กล่าวถึงขนาดของพระราหูที่ปรากฏในสมุดไตรภูมิทั้ง 2 ฉบับนี้น่าจะมีการคัดตัวเลข 0 เกินมาหนึ่งตัว

ข้อความในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 6 และสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 8 ที่ระบุขนาดของพระราหูซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการจดผิดระหว่างขนาด 1200 โยชน์ หรือ 4800 โยชน์  ดังนั้นจึงไม่สามารถที่ระบุได้ว่ามาจากพระสูตรบทใด

ผู้เขียนมีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่งคือรูปพระราหูที่ปรากฏในสมุดไตรภูมิจะเขียนเป็นรูปที่เหมือนกับอสูรเพราะเหตุว่าพระราหูได้ถูกจัดให้เป็นอสูร  แต่ในภาพที่ 30 ของสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 1 ภาพที่ 14 ของสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 5 ภาพที่ 16 ของสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 6 ภาพที่ 18 สมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 7 และภาพที่ 17 ของสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 8 จะเขียนภาพพระราหูเป็นรูปอสูรครึ่งตัว ซึ่งจะขัดกับข้อความที่บรรยายขนาดพระราหูในคัมภีร์อรรถกถา   ส่วนภาพที่ 20 ของสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10 และภาพที่ 21 ของสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10/ก และสมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลิน จะเขียนภาพระราหูเป็นรูปอสูรเต็มตัว  โดยเฉพาะในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 6 เมื่อเขียนอสูรทั้งหลายในรูปพิภพอสูร  อสูรทุกตนจะเขียนเต็มองค์ยกเว้นแต่รูปพระราหูที่เขียนครึ่งองค์   เรื่องนี้ผู้เขียนสันนิษฐานอยู่ 2 ประเด็นคือ

  1. รูปแบบของการเขียนภาพพระราหูครึ่งตัวเป็นอิทธิพลที่สืบเนื่องมาจากประติมานของศาสนาพราหมณ์ที่มักจะทำรูปพระราหูครึ่งตัว ดังตัวอย่างเช่นรูปพระราหูที่ปรากฏในประติมากรรมเทพเจ้าเก้าพระองค์ของเขมรโบราณ และจากตัวอย่างงานประติมานวิทยารูปพระราหูปูนปั้นที่ซุ้มประด้านหน้าของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง จังหวัดสุโขทัย  รวมถึงภาพพระราหูในงานจิตรกรรมผนังสกัดหน้าวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี  นอกจากนี้หลักฐานที่ปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ก็พบคติเรื่องพระราหูมีกายเป็นครึ่งเดียวเพราะครั้งหนึ่งพระราหูได้แอบกินน้ำอมฤต  เหล่าเทวดาได้ไปทูลพระศิวะ  พระองค์จึงขว้างจักรมาต้องพระราหูทำให้กายท่อนล่างขาดไป   แต่กายท่อนบนยังมีฤทธิ์  เรื่องราวดังคงจะเป็รคติของศาสนาพราหมณ์ที่ตกค้างอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
  2. เนื่องจากขนาดพระราหูในคัมภีร์มีขนาดใหญ่ กลุ่มผู้เขียนจึงพยายามที่จะเขียนรูปให้มีขนาดใหญ่  แต่ด้วยเนื้อที่มีขนาดจำกัดจึงเขียนเพียงแค่ครึ่งตัวเท่านั้น  ดังเห็นได้จากหลักฐานในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 8 เมื่อเขียนภาพราหูขึ้นมาบนพิภพในหน้าหลังจะเขียนภาพราหูเต็มตัว  แต่อย่างไรก็ตามสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 6 ภาพเรื่องราหูขึ้นมาบนพิภพในหน้าหลังส่วนนี้ได้ชำรุดขาดหายไป

อนึ่งลักษณะการลงสีกายของพระราหูในสมุดไตรภูมิสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มคือ

  1. ในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 1 ลงสีกายพระราหูเป็นสีเขียว

2 ในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 5 และ สมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 7 ลงสีกายพระราหูเป็นสีน้ำเงินหม่น

  1. ในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 6 สมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 8 สมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10 และสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 10 / ก ลงสีกายพระราหูออกเป็นสีเนื้อออกแดง

สาเหตุที่มีการลงสีกายของพระราหูที่หลากหลายนั้นเป็นคงจะเพราะในคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระราหูนั้นไม่เคยระบุว่าพระราหูมีสีกายแต่ประการใด  ดังนั้นจึงเป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการตีความเมื่อจะต้องมีการเขียนรูป  ในกรณีที่ลงสีกายของพระราหูเป็นสีเขียวนั้นสันนิษฐานว่าน่าที่จะเกิดจากการนับพระราหูอยู่ในจำพวกอสูร  ดังนั้นในสมุดไตรภูมิฉบับหมายเลขที่ 1 จึงลงสีกายพระราหูให้เหมือนกับสีกายของเวปจิตตาสูร

ส่วนกรณีที่ลงสีกายพระราหูออกเป็นสีเนื้อออกแดงนั้น  คงจะเป็นเพราะเป็นกายทั่วๆไป  แต่กรณีที่ลงสีกายพระราหูเป็นสีน้ำเงินหม่นในกรณีนี้ไม่อาจที่จะวินิจฉัยได้นำมาจากคัมภีร์เล่มใด  หากแต่ข้อความใน “สุริยาศศิธร” ซึ่งเป็นหลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ได้กล่าวถึงสีกายของพระราหูว่า “ราหูตัวกล้า  กายาดำนิล”   และอาจจะสัมพันธ์กับคติเรื่องพระราหูอมพระอาทิตย์และอมพระจันทร์