ธนาคารไทยเครดิตฯ เปิดตัวมูลนิธิไทยเครดิต
ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวมูลนิธิไทยเครดิต ภายใต้แนวคิดหลัก EMpower เสริมพลังแกร่งสู่สังคม ขยายบทบาทการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในทุกมิติ ด้วยวิสัยทัศน์ ที่มุ่งพัฒนา ส่งเสริมสังคมและเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ด้อยโอกาส เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย เพราะเชื่อมั่นว่า การสร้างความตระหนักรู้ และวินัยทางด้านการเงิน จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชีวิต พัฒนาธุรกิจ และชุมชนให้มั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ โดยตั้งเป้าในปี 2566 จะมีผู้เข้าอบรมไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย 55% และบุคคลอาชีพอื่น ๆ รวมถึงเยาวชน และ ผู้ด้อยโอกาส อีก 45%
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานมูลนิธิไทยเครดิต เปิดเผยว่า “มูลนิธิฯ จะยึดมั่นการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับปรัชญาของธนาคารที่ว่า Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ โดยนำแนวคิด EMpower การเสริมพลัง มาเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการเงิน ผ่านโครงการตังค์โต Know-how เพื่อเสริมสร้างพลังแกร่งสู่กลุ่มเป้าหมายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และสู่ชุมชน ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์
มูลนิธิฯ จะดำเนินโครงการ “EMpower เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน” ในพื้นที่นำร่อง แบบบูรณาการครบทุกมิติ ทั้งการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงการส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างชุมชนที่ดี แข็งแกร่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
มูลนิธิฯ มีเป้าหมายหลักในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ สร้างสรรค์เนื้อหาส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย ทันเหตุการณ์; กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงความรู้ทางการเงินได้โดยง่ายผ่านการอบรมทั้งในรูปแบบชั้นเรียน และออนไลน์ และพัฒนาเนื้อหาและหลักสูตรความรู้ทางการเงิน เพื่อเสริมแกร่งทางการเงิน พัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้
นายรอย ออกุสตินัส กุนารา รองประธานมูลนิธิไทยเครดิต ย้ำถึงการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน จะตอบโจทย์การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “จากผลสำรวจ 844 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2022 – 3 มกราคม 2023 ตามมาตรฐานการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) พบว่า คนไทยมีทักษะทางการเงินอยู่ที่ 79.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 60.5% แต่เมื่อวิเคราะห์ในเชิงลึก กลับพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมด้านการออมเงินที่เหมาะสมเพียง 55.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 70.4% ในขณะที่คนไทย 80.7% ประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 35.3% นอกจากนี้ คนไทยอีก 54.6% มักจะมีการกู้ยืมเงินเมื่อเงินไม่พอใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 25.8% จึงเป็น การสะท้อนให้เห็นว่า ควรให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน โดยมุ่งเน้น ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออม รู้จักวิธีการออมเงินที่เหมาะสม รู้จักวิธีการบริหารจัดการรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จัดสรรเงินก่อนใช้ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อหนี้สินจนเกินตัว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
ประธานมูลนิธิ กล่าวเสริมว่า ในปีแรกของการดำเนินการ มูลนิธิฯ มีแผนจะพัฒนาหลักสูตรเดิมของผู้ประกอบการรายย่อยให้เท่าทันการณ์ปัจจุบัน และแบ่งเป็นหลายระยะ จากพื้นฐานสู่ขั้นแอดวานซ์ เพื่อเป็นการต่อยอดและรู้เชิงลึกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้สร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ ๆ ด้านการเงิน เพื่อ ให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายและอาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงิน ส่วนบุคคล รวมถึงเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนบุคคลทั่วไป รวมถึงเยาวชนและผู้ด้อยโอกาส ให้มีรายได้สูงขึ้น มีหนี้สินลดลง และ มีการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีเป้าหมายสำคัญในการขึ้นทะเบียนเป็น องค์กร สาธารณกุศล ภายใน 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ได้ส่งมอบความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ประชาชน เยาวชน ผ่านโครงการตังค์โต Know-how รวมทั้งสิ้นกว่า 118,555 ราย นับตั้งแต่ปี 2566 จะดำเนินโครงการภายใต้มูลนิธิไทยเครดิต เพื่อขยายและครอบคลุมในทุกมิติ และกลุ่มเป้าหมาย เพื่อคุณภาพชีวิต ที่ดีของทุกคนในสังคม