รางวัลชมนาดครั้งที่12
ใกล้เข้ามาทุกขณะกับงานประกาศรางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) รางวัลแห่งความสำเร็จของสตรีที่มีใจรักในงานประพันธ์ ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 เพื่อส่งเสริมให้นักเขียนทั้งมืออาชีพและมือใหม่สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผู้หญิง รวมถึงผลักดันเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล และส่งเสริมงานประพันธ์ทางวรรณกรรมให้มีคุณภาพสามารถต่อยอดเป็นบทละคร ภาพยนตร์ จนถึงการผลิตเป็นภาพวรรณกรรมในรูปดิจิทัลฟิล์ม โดยปีนี้ได้เปิดกว้างให้นักเขียนหญิงสามารถส่งผลงาน ทั้งงานเขียนประเภทนวนิยาย และงานเขียนเชิงสารคดีเข้าประกวด และจะประกาศผลผู้ชนะเลิศในวันอังคารที่ 10 ต.ค. 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม
โดยปีนี้มีนักเขียนหญิงส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 25 เรื่อง ได้แก่ 1.รุ้งทอแสง 2.กะลากับน้ำชา 3.ประติมากรรม 4.The Momento 5.เพชรเมฆาหาคู่(จนเจอ!) 6.สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ฆาตกร” 7.พลังแห่งความพ่ายแพ้ 8.เติม(รัก)ในช่องว่าง 9.แม่ฮะ…ไม่เป็นไร 10.ปรารถนาสุดท้าย 11.สโนว์ไวท์ไม่กินแอปเปิล 12.แผ่นฟ้าลาตะวัน 13.รักในรอยแค้น 14.Opera Family (project) 15.The Blue Love Story (เรื่องรักของเรา) 16.ท้องฟ้าพาใจ 17.สุริยาไม่เคยลาลับ 18.ศูนย์รับฝากความทรงจำ 19.แมวขาวชะตาฟ้า 20.โศกสะท้อน Echo of Lament 21.คืนหนึ่ง…ค่ำนั้น 22.กากีฤากาบุรุษ 23.กานต์ปรียา 24.โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี และ 25.มายากรรม
พันฤทธิ์ เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะ 12 ปี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด มีความปรารถนา และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมงานประพันธ์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้กลุ่มนักอ่านทั่วไปทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของนักเขียนสตรีไทย เราเชื่อมั่นว่ามีหญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่รักงานวรรณกรรม โครงการรางวัลชมนาดจึงเปรียบเสมือนเวทีคุณภาพที่จะสานฝันเส้นทางสู่การมีอาชีพเป็นนักเขียนให้กับผู้หญิงไทยทุกคน ดังนั้นโครงการชมนาด ได้ส่งเสริมนักเขียนทั้งมืออาชีพและมือใหม่ ซึ่งแต่ละท่านได้ฝากผลงานคุณภาพที่สร้างสรรค์จากมุมมองของผู้หญิงในรูปแบบสารคดี (Non-Fiction) ที่ประพันธ์จากชีวิตจริง และถูกนำมาตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่สู่สายตานักอ่าน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน, พฤกษามาตา, ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน, เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน และ ขังหญิง
“จากความสำเร็จดังกล่าว คณะกรรมการตัดสินรางวัลชมนาดตระหนักดีว่า ความสามารถของหญิงไทย ไม่ควรถูกตีกรอบ หรือมีพื้นที่หน้ากระดาษไว้สำหรับงานเขียนในรูปแบบสารคดีเท่านั้น และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2563 ได้กำหนดกติกาให้ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานประเภท “นวนิยาย” (Fiction) เข้าร่วมประกวด ด้วยเล็งเห็นว่าวรรณกรรมประเภทนี้ เป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่านทุกรุ่นทุกสมัย ตลอดจนยังไม่มีเวทีใดที่เน้นให้ได้แสดงออกเฉพาะนักเขียนสตรีอย่างเต็มที่ และได้ประกาศรับผลงานเป็นประเภทนวนิยายมาจนถึงปัจจุบัน”
ด้าน ‘นทธี ศศิวิมล’ หรือ ศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลชมนาดประจำปี 2565 กล่าวว่า ชมนาดนอกจากเป็นเวทีที่ให้โอกาสนักเขียนหญิงทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่าได้นำผลงานมาประกวดแล้ว ยังเป็นเวทีที่เปิดกว้างไม่ได้ตีกรอบว่าต้องเป็นนวนิยายแนวไหน หลังจากได้รับรางวัลทำให้ได้กลุ่มผู้อ่านมากขึ้น รวมไปถึงได้รับโอกาสตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ นั้นหมายถึงการนำผลงานส่งต่อไปถึงผู้อ่านต่างประเทศ ซึ่งโอกาสแบบนี้ในเมืองไทยยังถือว่าน้อยมากๆ
“ทำอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหลักมา 15 ปี จริงๆ แล้วมีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศมาบ้าง แต่เริ่มมาจาก ปลายทาง หรือ ฝรั่งที่อ่านภาษาไทยออก ชื่นชอบผลงานเรา แล้วมาติดต่อเพื่อตีพิมพ์เป็นภาษาอื่นๆ แต่ในทางกลับกัน การที่นักเขียนจะส่งออกผลงานตัวเองไปต่างประเทศ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก หากมีเวทีอย่างชมนาดก็เป็นเรื่องที่ดีที่นักเขียนไทยจะมีโอกาสนำผลงานไปตีพิมพ์ภาษาอื่นๆ”
‘นทธี ศศิวิมล’ กล่าวถึงนักเขียนหน้าใหม่ว่า มีน้องๆ มาปรึกษาเรื่องงานเขียนว่า หน้าแรก ยากที่สุด สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ เพราะเป็นส่วนที่สำคัญต่อการดึงความสนใจให้ผู้อ่านเปิดอ่านในบทต่อๆ ไป แต่จริงๆ แล้ว หากยังเริ่มเขียนบทแรกไม่สมูท อยากให้ลองเขียนจนจบเรื่องเสียก่อน แล้วค่อยกลับมาปรับ เพราะหากติดอยู่ที่หน้าแรก งานเขียนก็จะไม่มีทางเขียนถึงตอนจบได้เลย
“อีกหนึ่งความท้าทายของนักเขียนยุคใหม่ คือ นักเขียนไม่ได้ต่อสู้กับนักเขียนกันเองแล้ว แต่เราต่อสู่กับ โซเซียล เดี๋ยวนี้มีสื่อโซเซียลที่สามารถเล่าเรื่องสั้นๆ ภายในไม่กี่นาที ดังนั้น นักเขียนเองก็ต้องปรับตัว จะเขียนอย่างอย่างไรให้มีคุณภาพ เข้ากับยุคสมัย ผลงานสามารถนำไปต่อยอดเป็น บทภาพยนตร์ ละคร รวมถึงเกม วิชวลโนเวล (Visual Novel) เกมของคนรักวรรณกรรม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก”
สำหรับปีนี้คณะกรรมการรอบคัดเลือก ได้แก่ นรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานกรรมการรอบคัดเลือก พร้อมด้วยกรรมการ 4 ท่าน ดังนี้ บุญญรัตน์ บุญญาทิษฐาน, อภิญญา เคนนาสิงห์, ตรีคิด อินทรขันตี และ เสาวรี เอี่ยมละออ ส่วนคณะกรรมการรอบตัดสิน ได้รับเกียรติจาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ ศิลปินแห่งชาติ รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการรอบตัดสิน พร้อมด้วย 4 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นรีภพ จิระโพธิรัตน์, รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร, กนกวลี พจนปกรณ์ และ ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา
โดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล “ชมนาด” พร้อมเงินสด 100,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ เพื่อวางจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ ประเทศในทวีปอเมริกา, ยุโรป และแอฟริกา เป็นต้น ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 และอับดับ 2 จะได้รับเกียรติบัตรชมเชย พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ พร้อมค่าลิขสิทธิ์จัดพิมพ์เผยแพร่ภาษาไทยตามมาตรฐาน
อย่างไรก็ตามพิธีประกาศรางวัลชมนาด ครั้งที่ 12 (Fiction-Novel) จัดขึ้นในวันอังคารที่ 10 ต.ค. 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม โดยภายในงานมีกิจกรรมเสวนา ในหัวข้อ “เขียนนิยายอย่างไรให้สร้างสรรค์และสนุก” โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรม ได้แก่ รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา พร้อมด้วยนักเขียนชื่อดังอย่าง อุมาพร ภูชฎาภิรมย์, จันทร์ยวีร์ สมปรีดา (รอมแพง), พึงเนตร อติแพทย์ โดยมี ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ รับหน้าที่พิธีกร
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.praphansarn.com