ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
ผู้เขียน | อนุชิต ไกรวิจิตร |
เผยแพร่ | วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2560 |
ผักบุ้ง เป็นพืชที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยของเรามานาน แล้วก็เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากพืชชนิดนี้มีคุณประโยชน์มากมายจนหาข้อจำกัดไม่ได้เลย เพราะในตัวผักบุ้งนั้นจะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่สำคัญอีกด้วย
พืชชนิดนี้จะอาศัยอยู่เหนือน้ำ หรือในที่ที่มีความแฉะ เพราะพืชชนิดนี้จะชอบน้ำมากเป็นพิเศษ ถ้าหากขาดน้ำไปจะกลายเป็นการสร้างความเสียหายให้กับวงจรของผักบุ้งเลยก็ว่าได้ โดยลักษณะทั่วไปของผักบุ้งคือ ลำต้นจะไม่มีขน ภายในลำต้นจะกลวงโบ๋ ส่วนใบจะออกสลับกัน มีปลายใบที่เรียวแหลมดูสวยงาม จะมีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร สามารถพบได้ตามลำคลอง หนอง บึง ร่องน้ำในสวน หรือตามแหล่งน้ำต่างๆ
คุณสุภาวดี แตงสุข และสามี
คุณสุภาวดี แตงสุข คือหนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกผักบุ้ง และเป็นเจ้าของแปลงนาผักบุ้งน้ำ ที่ตำบลทวีวัฒนา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี
ผักบุ้งที่ปลูกจากรุ่นสู่รุ่น
คุณสุภาวดี เล่าว่า เดิมทีที่ดินแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นสวนผลไม้มาก่อน แต่เนื่องจากช่วงนั้นต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เป็นอย่างหนัก จึงเป็นเหตุที่ทำให้ต้องล้มสวนออกจากบริเวณนั้น แล้วเปลี่ยนมาเป็นนาผักบุ้งที่อยู่ให้เห็นถึงปัจจุบัน
คุณสุภาวดี บอกว่า การทำนาผักบุ้งถือเป็นธุรกิจของครอบครัว ที่ทำสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งในส่วนของคุณสุภาวดีเอง ก็ทำอาชีพนี้มาเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว โดยมีสาเหตุที่เลือกปลูกผักบุ้งประเภทในน้ำว่า ลักษณะเด่นรวมๆ มันปลูกง่าย รวมถึงขั้นตอนอื่นๆ ไม่ต้องลงทุนลงเมล็ดพันธุ์ใหม่ สามารถเอาตัวเก่าของผักบุ้งมาทำพันธุ์เพื่อใช้ได้ต่อเลย และเป็นการช่วยลดต้นทุนได้ และมันจะต่างจากพันธุ์ทั่วไปตรงที่ ผักบุ้งพันธุ์นี้มันดูแลง่าย ตรงที่ว่า ผักบุ้งจีนจะใช้คนงานเยอะ แต่ถ้าเป็นผักบุ้งน้ำ บางทีเรามี 7-8 คน เราก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นผักบุ้งพันธุ์อื่นมันจะใช้แรงงานจากคนค่อนข้างเยอะ แต่อันนี้เราตัดแล้วขึ้นกองได้เลย
ผักบุ้ง ปลูกคล้ายแปลงทำนา
ในส่วนของวิธีการปลูก คุณสุภาวดีจะใช้วิธีคล้ายกับนาข้าว ทุกครั้งที่มีการเตรียมดินจะย่ำให้จม ถ้าเป็นนาเก่าหรือนาที่มีผักค้างอยู่ในแปลงต้องย่ำให้หนักๆ เพื่อให้เกิดดินดำผุดขึ้นมา เมื่อเสร็จสิ้นจากการเตรียมดินแล้ว จึงค่อยๆ นำพันธุ์ผักบุ้งที่เป็นยอดๆ จะใช้ประมาณ 3-4 ยอด มาปักหรือดำเหมือนกับการดำนาข้าวแบบทั่วไป แล้วจัดให้ผักบุ้งที่ดำลงไปให้นอนราบ แล้วก็จัดทำเช่นนี้เรียงต่อไปเรื่อยๆ จนสุดแปลง โดยระยะความห่างของแถวจะอยู่ที่ประมาณ 5 ศอก โดยแปลงแห่งนี้จะใช้เวลาในการเพาะปลูกที่ 2 เดือน ก่อนที่จะย่ำทิ้งเพื่อปรับแปลงนาใหม่
นาผักบุ้ง
โดยระยะเวลาการเจริญเติบโตของผักบุ้งนี้ ถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างดี เพราะเพียงแค่ 3 สัปดาห์ ผักบุ้งที่เพาะก็จะแตกยอดออกมาอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการใส่ใจในรายละเอียดการใส่ปุ๋ยบำรุง
“ใช้ปกติเหมือนพืชอื่นๆ เลย แต่จะเป็นสูตรปุ๋ยที่เราจะเลือกเอาเอง ว่าจะบำรุงยอด บำรุงใบ หรือว่าบำรุงลำต้น ส่วนมากเขาจะใช้ 25-7-7 เป็นปุ๋ยเม็ด เราจะใช้ถังใส่ปุ๋ย แล้วก็ค่อยๆ มาหยอดมาเหวี่ยงปุ๋ยตามกอผักบุ้งที่เราปลูก จะใส่อาทิตย์ละหน แต่จะใส่ไม่เยอะ ใช้ 50 กิโลกรัม ต่อ 3 ไร่” คุณสุภาวดี กล่าว
ใบผักบุ้งกำลังเติบโตอย่างสวยงาม
ในส่วนของน้ำในคันนาผักบุ้งถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ โดยน้ำที่จะเลี้ยงผักบุ้งได้ ต้องมีความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ผู้ดูแลต้องพยายามไม่ปล่อยให้น้ำแห้งจนเกินไป จึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำลงนาผักบุ้งเมื่อพื้นที่เริ่มแห้ง 7 วันหลังจากที่ปล่อยน้ำไปแล้ว เมื่อผักบุ้งอยู่ในช่วงที่ดีเราจะต้องรีบตัดทันที ไม่อย่างนั้นขี้ตะไคร่ที่เกิดขึ้นจะมาเกาะได้ เพราะจะทำให้ผักบุ้งโตมาแบบไม่สวย เมื่อนำไปขายจะได้ราคาไม่ดี
ระยะเวลา 2 เดือน คือช่วงเวลาที่ดีในการเก็บผักบุ้ง เพราะในช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยอดผักบุ้งยาวและสวยงาม ยอดผักบุ้งของคุณสุภาวดีที่ได้จะมีความยาวอยู่ที่ ประมาณ 30 เซนติเมตร
ศัตรูพืชตัวฉกาจ
ศัตรูพืชเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณสุภาวดีกำชับว่าเป็นอะไรที่ละเลยไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ซึ่งคุณสุภาวดีได้บอกวิธีการป้องกันศัตรูพืชเหล่านี้ว่า “ทุกครั้งที่เราตัดจะมีตัวหนอน ส่วนใหญ่เป็นพวกแมลง เพลี้ยก็กิน ไรแดงก็กิน หนอนก็กวนยอดผักบุ้ง เราหมั่นสังเกตแล้วก็ป้องกัน”
สำหรับการใช้สารเคมี คุณสุภาวดีบอกว่า เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สำคัญกว่าแรงใจ ก็คือ “แรงงาน”
อุปสรรคอีกอย่างที่แก้ไม่หาย สำหรับคุณสุภาวดีก็คือ เรื่องของคนงานนั่นเอง ด้วยความที่มีคนงานเก็บผักบุ้งอยู่ไม่กี่คน แล้วเขาก็ไม่ได้ดูแลเฉพาะนาผักบุ้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังปลูกนาข้าวในละแวกนั้น เป็นการสร้างรายได้เสริมอีกด้วย จึงทำให้การที่ต้องลงเก็บผักบุ้งที่แปลงในทุกๆ ครั้ง จะเหนื่อยมากเป็นพิเศษ คุณสุภาวดีจึงมองว่าปัญหาที่สำคัญคือ เรื่องของแรงงานนั่นเอง
ลูกทีมของคุณสุภาวดี ที่กำลังเก็บผักบุ้ง
ดูแลผักบุ้ง แล้วอย่าลืมดูแลตัวเอง
อาชีพปลูกผักบุ้งประเภทนี้ เป็นงานที่ต้องทำในน้ำตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลาคือ เรื่องของโรคต่างๆ ที่เกิดจากการที่ต้องอยู่ในน้ำนานๆ ทางคุณสุภาวดีเผยว่า การทำงานในน้ำแบบนี้ เป็นเรื่องปกติที่อาจจะมีอาการคันจากแหนในน้ำบ้างในบางครั้ง แต่ก็สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ โดยทุกๆ ครั้งที่ขึ้นจากน้ำ เขาจะใช้ครีมอาบน้ำที่มีสารป้องกันหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในการชำระล้างร่างกายในทุกๆ ส่วน
ผักบุ้ง ยังเป็น ที่ต้องการของตลาด
ด้านของการตลาดการจำหน่ายผักบุ้งของคุณสุภาวดี เผยว่า “การจัดส่งของเรา เราจะส่งแบบเป็นมัด 1 มัด ของเราจะเป็น 25 กำ ของผักบุ้งที่นำมารวมกัน โดยมาตรฐานของมัด จะอยู่ที่ 5 กิโล หรือจะเกินก็ได้ เพราะถ้าหากเรานำไปส่งที่ตลาด ที่นั่นจะมีการสุ่มตรวจน้ำหนักผักของเรา ซึ่งเราต้องให้ได้เกิน 5 กิโลกรัม ไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะโดนตำหนิได้”
โดยราคาที่ขายส่ง จะอยู่ที่ มัดละ 30-35 บาท หรือถ้าเป็นในช่วงที่ดีสุดของคนปลูกผักบุ้ง ก็จะมีราคาอยู่ที่ มัดละ 50-60 บาท เลยทีเดียว ถ้าผักดี
ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาของพ่อค้าคนกลางและฤดูกาลตามสภาพอากาศ ถ้าเป็นในช่วงหน้าฝน ผักบุ้งหรือผักอื่นๆ ราคาก็จะตก แต่ถ้าหากอยู่ในช่วงหน้าหนาว ราคาก็จะสลับมาเป็นดี โดยตลาดที่คุณสุภาวดีมักจะนำผักไปส่งเป็นที่หลักๆ ก็คือ ตลาดสี่มุมเมือง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ผักบุ้ง เป็นมิตรกับ ทุกพื้นที่ (ที่ปลูกแล้วอยู่ได้)
ทั้งนี้ในจังหวัดต่างๆ ก็สามารถปลูกผักบุ้งในน้ำได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะที่จังหวัดนนทบุรี ที่คุณสุภาวดีปลูกไว้เท่านั้น แต่หากจังหวัดอื่นมีพื้นที่ที่มีน้ำจืดและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่เป็นอุปสรรคจนเกินไป ก็สามารถปลูกได้เช่นกัน ที่ต้องเน้นย้ำเรื่องน้ำและพื้นที่เป็นเพราะเคยมีนาอยู่ที่สมุทรปราการ แล้วก็เคยไปปลูกผักอยู่ที่นั่น แต่มันไม่โอเค เพราะที่แห่งนั้นเป็นน้ำเค็มน้ำกร่อย พอเอาไปปลูกเหมือนกับว่า ผักมันจะไม่ชอบ พอปลูกก็เหมือนยอดจะเล็ก การเจริญเติบโตก็จะต่างกัน ส่วนมากเหมือนเขาจะชอบน้ำจืดมากกว่า ถ้าเป็นแม่น้ำก็ไม่มีปัญหานะ
ผักบุ้งที่ถูกคัดก่อนนำมามัดรวมกัน
สุดท้ายนี้ คุณสุภาวดี ยังฝากถึงคนที่คิดอยากที่จะลองทำผักบุ้งในน้ำ ประกอบเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมว่า“การปลูกผักบุ้ง มันก็เหมือนการปลูกผักทุกอย่างแหละ คือทุกครั้งที่เราทำ ก็ต้องเอาใจใส่เขาให้มากๆ เหมือนกันนะ เราต้องดูพวกศัตรูพืช ถ้ามีวัชพืชมาเกาะหรือมาทำลายผักบุ้งของเรา เราก็ต้องเก็บ เหมือนผักที่เราปลูกทุกอย่าง ถ้าเราทำดีหรือตั้งใจ ผลผลิตที่ได้ก็จะดีตามไปเอง”
หากใครมีความสนใจที่จะปลูกผักบุ้งในน้ำ ก็สามารถปรึกษาได้ที่ คุณสุภาวดี แตงสุข หมายเลขโทรศัพท์ (089) 107-0124