คนจ.อยุธยา เก็บเห็ดตับเต่าริมรั้วช่วงหน้าฝน ขาย 4 เดือน มีรายได้เกือบ 5 แสน
ผู้เขียน | ดวงกมล โลหศรีสกุล |
---|---|
เผยแพร่ | วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2559 |
ดินใต้โคนต้นโสนที่ตำบลสามเรือน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยานับเป็นสิ่งล้ำค่าราวกับขุมทรัพย์ เพราะดินจากธรรมชาติบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะเป็นที่ขึ้นของ “เห็ดตับเต่า” เห็ดที่มีหมวกลักษณะคล้ายร่มสีดำ – น้ำตาลอมเหลืองอ่อน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 10 – 25 ซม น้ำหนักเยอะต่อ1ดอก เกือบ 2 กิโลกรัม มีขนเล็กๆ คล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล ส่วนเนื้อของเห็ดชนิดนี้จะหนา มีความเหนียวหนึบ เมื่อนำมาต้มหรือผัด จะไม่ค่อยเละหรือแหยะเหมือนเห็ดชนิดอื่น
เห็ดตับเต่ามักจะขึ้นในช่วงฤดูฝน ขึ้นมากในป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าต้นสะแก ถ้าเป็นในสวนมักจะพบในสวนผลไม้ เช่น สวนไผ่ รวมถึงขึ้นมากใต้โคนต้นโสน ที่ตำบลสามเรือน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คุณจำลอง จักรกร บ้านเลขที่ 55 หมู่ 6 ตำบลสามเรือน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หญิงสาววัย 56 ปี เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีอาชีพทำนามากว่า 100 ปี แต่ปัจจุบันเลิกทำนาแล้ว หันมาปล่อยที่นาให้คนเช่า แล้วเปิดบริษัทรับทำบัญชี รวมถึงเก็บเห็ดตับเต่าขายเฉพาะช่วงหน้าฝน ขาย 4 เดือนมีรายได้เกือบ 5 แสนบาท
คุณจำลอง เผยกับเส้นทางเศรษฐีว่า เห็ดตับเต่า เป็นเห็ดโบราณ ขึ้นเองตามทุ่งโสน บริเวณชายคลองหรือที่มีน้ำท่วมขัง ในอดีตเห็ดตับเต่าไม่มีใครสนใจ ชาวบ้านรังเกียจเสียด้วยซ้ำ เพราะลักษณะรูปร่าง สีสัน ไม่สะอาดสะอ้าน ไม่น่ารับประทานเหมือนเห็ดชนิดอื่นๆงถูกปล่อยทิ้งเน่าไปเองตามธรรมชาติ กระทั่งตอนอายุ 10 ขวบ เพิ่งรู้ว่าเห็ดชนิดนี้ คนภาคอีสานนิยมกิน อีกทั้งระยะหลังมีพ่อค้ามารับซื้อ ราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ จากกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ปัจจุบันพ่อค้าคนกลางรับซื้อกิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนตามท้องตลาดขายกิโลกรัมละ 180- 200 บาท