มองแบบไม่ลำเอียง ฟังอีกมุม“ฟอลคอนแห่งอยุธยา”จากนักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศส

Content พาเพลิน

ถ้าอยากให้นวนิยายหรือละครสักเรื่องสนุกครบรส นอกจากตัวละครเอกอย่างคู่พระนาง ที่เห็นจะขาดเสียมิได้คงเป็น “ตัวร้าย” ดังเช่นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างกระแสไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ทำไมขุนนางฝรั่งนามว่า “คอนสแตนติน ฟอลคอน” บุรุษรูปงามที่รับบทโดย “หลุยส์ สก๊อต” ถึงได้ถูกมองว่าร้ายกาจนัก

ถือเป็นโชคชะตาหรือบุพเพสันนิวาสก็มิทราบได้ ที่ทำให้นักเขียนชาวฝรั่งเศส “แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์” ผู้เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “ฟอลคอนแห่งอยุธยา” ได้รับเชิญจากสถานีโทรทัศน์ช่อง arte ของฝรั่งเศส ให้มาถ่ายทำสารคดีแนะนำจังหวัดลพบุรี บ้านเกิดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงบ้านพักของพระยาวิไชเยนทร์หรือฟอลคอนถึงสถานที่จริง

นานมีบุ๊คส์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 3 เล่มของแคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ คือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา ตากสิน มหาราชชาตินักรบ และ หยดน้ำตาสยาม จึงไม่พลาดที่จะไปสัมภาษณ์เธอถึงกระแสละครที่กำลังโด่งดัง ซึ่งเชื่อมโยงกับหนังสือฟอลคอนที่เธอเขียน เธอได้เปิดเผยถึงละครบุพเพสันนิวาสนี้ว่า


“ฉันไม่เคยดูละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากดู ฉันพอรู้มาว่าฟอลคอนในละครนั้นถูกมองว่าเป็นตัวร้าย ซึ่งความจริงแล้วคนไทยในสมัยนั้นก็มองฟอลคอนเป็นตัวร้ายจริงๆ ด้วยความที่เป็นคนโปรดของพระนารายณ์ การเป็นคนโปรดของกษัตริย์ทำให้มีผู้คนอิจฉาริษยา อีกทั้งตัวฟอลคอนยังมีนิสัยหยิ่งยโส แต่ฉันเชื่อว่าแท้จริงแล้วฟอลคอนรักแผ่นดินสยามด้วยใจจริง เขาพยายามเปิดประตูให้สยามติดต่อสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก เพื่อให้สยามปกป้องตัวเองและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพียงแต่ท่าทีการแสดงออกอาจไม่ถูกต้องนัก ด้วยความหยิ่งยโส ไม่ฟังความเห็นต่าง และฉันเชื่อว่าฟอลคอนผูกพันอย่างลึกซึ้งและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ส่วนในละครที่ฟอลคอนบังคับให้มารีแต่งงานด้วยนั้น ฉันมองว่าความจริงแล้วตรงกันข้าม ฟอลคอนต่างหากที่ถูกพระนารายณ์บังคับให้แต่งงานกับมารี เพราะทรงเป็นหนี้ชาวญี่ปุ่นเป็นเงินจำนวนมาก จึงใช้การแต่งงานนี้ผ่อนผันจ่ายหนี้ ความจริงฟอลคอนไม่ได้สนใจในตัวมารีเลย แถมยังคิดว่ามารีค่อนข้างซื่อบื้อด้วยซ้ำ แต่มารีเป็นหลานสาวของยามาดะ เศรษฐีชาวญี่ปุ่น ฐานะร่ำรวย นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฟอลคอนยอมแต่งงานกับมารี เพราะขณะนั้นฟอลคอนเองก็ไม่ได้มีฐานะอะไร นอกจากเป็นพระประสงค์ของพระนารายณ์แล้ว เขาอาจแต่งงานเพื่อยกฐานะตนเองด้วย”


หากย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา เธอกล่าวว่า “ฉันค้นพบเรื่องราวเกี่ยวกับฟอลคอนด้วยความบังเอิญ ฉันไปเยี่ยมชมพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์เคยประทับ แต่บังเอิญไปพบบ้านพระยาวิไชเยนทร์เข้าก่อน พอได้เห็นบ้านพักทูตฝรั่งเศสเลยรู้สึกแปลกใจและสนใจ จากนั้นฉันจึงซื้อหนังสือมาจากพิพิธภัณฑ์และอ่านเจอว่าฟอลคอนทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่กษัตริย์ในสมัยนั้น คล้ายคลึงกับตัวฉันที่ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ประธานาธิบดี ฉันรู้สึกว่าน่าสนใจเลยศึกษาเพิ่มเติม โดยตั้งใจจะนำมาเขียนบทความเกี่ยวกับเพื่อนร่วมอาชีพในประวัติศาสตร์ แต่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น และพบว่าเรื่องราวซับซ้อนเกินกว่าจะเขียนเป็นบทความ จากบทความก็เลยกลายเป็นหนังสือเล่มหนาอย่างที่เห็น

“สิ่งที่ฉันพยายามทำให้ดีที่สุดในการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือ ถ่ายทอดเหตุการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ใช้เวลาค้นคว้าอยู่เป็นปีก่อนเริ่มต้นเขียน และใช้เวลาเขียนอยู่ 5 ปี ระหว่างเขียน ฉันจะกลับไปตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องที่สุด เพราะฉันเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ฉันจึงต้องทำให้มั่นใจว่าคำเรียกขานหรือคำศัพท์ต่างๆถูกต้องตามจริง โดยหลักฐานสำคัญที่ฉันศึกษา คือ จดหมายเหตุซึ่งเขียนโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ หลักฐานส่วนใหญ่ในสมัยอยุธยาถูกทำลายไปพร้อมกับการเสียกรุง แต่โชคดีที่จดหมายเหตุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศสและอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน ฉันก็พยายามมองประวัติศาสตร์สยามในสายตาของ ‘คนนอก’ ซึ่งน่าจะเป็นมุมมองอันแตกต่างที่ไม่ได้มองประวัติศาสตร์จากมุมมอง ‘ความเป็นไทย’ ตอนที่เขียนฉันพยายามเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ดังนั้นเรื่องราวจึงเล่าผ่านสายตาของคนนอกที่ไม่ลำเอียงและปราศจากอคติ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ฟอลคอนแห่งอยุธยา

เรื่องราวของฟอลคอนที่เกิดมาอาภัพ เป็นลูกผสมที่ผู้คนรังเกียจ ชีวิตของเขาต้องต่อสู้อย่างทรหด เขาออกทะเลร่อนเร่ไปกับเรือสินค้า ห่างบ้านเกิดเมืองนอนมาไกลโพ้น สู่ทวีปเอเชียที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจ จากเสมียนสู่พ่อค้า และจากพ่อค้าสู่ขุนนางแห่งอยุธยา ฟอลคอนกลายเป็นขุนนางคนโปรด ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ รับใช้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างใกล้ชิด เรืองอำนาจจนหาใครอื่นในอยุธยาทัดเทียมได้ยากยิ่ง หากแต่อำนาจมักมาพร้อมความรับผิดชอบมากล้น ฟอลคอนต้องเจรจากับผู้คนหลากหลายอย่างมีชั้นเชิง ด้วยคำพูดที่ทั้งอ่อนโยนและแข็งกร้าว ทั้งอ่อนน้อมและเหยียดหยาม ทั้งปลอบโยนและข่มขู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ แต่เพื่อยังประโยชน์แก่อยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ หรือตัวเขาเองกันแน่