เจาะลึกความสำเร็จ 4 เด็กไทย นิสิตจุฬาฯผู้คว้าชัยการแข่งเคส เวทีลับคม “แผนธุรกิจ”

Business ธุรกิจ
เรื่อง/ภาพ กนกวรรณ มากเมฆ

 

น่นอนว่าการจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายบริษัทกว่าจะมาถึงจุดที่มีกำไรได้ก็เรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยสร้างสมประสบการณ์ให้กล้าแกร่งมากขึ้น

ในโลกของการศึกษา การที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ ก็ถือเป็นส่วนช่วยฝึกฝนวิธีการวิเคราะห์ แก้ปัญหา ลับคมการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยเป็นการพัฒนาทักษะและเสริมประสบการณ์ให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้

อย่างเช่น การแข่งเคส (Case Competition) หรือการแข่งขันเชิงธุรกิจ/ประกวดแผนธุรกิจ ที่จะจำลองสถานการณ์ทางธุรกิจให้ผู้เข้าแข่งขันต้องมาแก้ไขปัญหา วางกลยุทธ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย โดยจะมีการจัดแข่งขันในหลายเวทีในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งนักศึกษาเข้าร่วม

ผลงานล่าสุดคือการคว้ารางวัลชนะเลิศ 2 รายการใหญ่ของนิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือการแข่งขัน Heavener International Case Competition 2018 (HICC) ณ มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา

“มติชน อคาเดมี” คุยกับทีมนิสิตที่เข้าแข่งขันในเวทีนี้และคว้าชัยชนะมาได้ ได้แก่ พริม-พริมา ไชยวรุตน์ ปี 3, พิพพิน-วรรณวเรศ บุญคง ปี 4, บอส-จักรพจน์ จิตรวรรณภา ปี 4 และ บุญ-บุญชนะ ศวัสตนานนท์ ปี 4 ซึ่งการแข่งครั้งนี้ “พริม” ได้รางวัล Best Speeker ด้วย โดยมี อ.ดร.นัท กุลวานิช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

“พิพพิน” เริ่มเล่าให้ฟังว่า การจะไปแข่งขันเคสในเวทีต่างๆ ได้ นิสิตจะต้องเข้าชมรม BBA Chula Case Club ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจุฬาฯจะมีการคัดเลือกเข้าไปอยู่ในชมรม ในชมรมก็จะเป็นการฝึกฝนและส่งนิสิตไปแข่งเคสต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรายการที่ฟลอริดาจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 3 และจุฬาฯเคยส่งไปแข่งมาแล้ว 1 ครั้ง

การแข่งขันในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 20 ทีม จากนานาประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรีย สหรัฐฯ  นิวซีแลนด์ เนปาล ฮ่องกง และจากไทยมีจุฬาฯและ ม.ธรรมศาสตร์ โดยการแข่งขันของเวทีนี้จะแบ่งออกเป็น 2 เคส เคสแรกเป็นเคส 5 ชั่วโมง แบ่งเป็นการพรีเซนต์ 5 นาที และถามตอบ 15 นาที ซึ่งจะแตกต่างจากเวทีอื่นๆ ตรงที่เป็นการจำลองสถานการณ์จริงที่ให้เวลาพูดไม่นาน และเน้นถามตอบมากกว่า

(จากซ้าย) บอส, พริม, บุญ และ พิพพิน

โจทย์แรกที่เจอ “วางกลยุทธ์ขยายโปรดักต์ใหม่ดังไกลทั่วประเทศ”

สถานการณ์จำลองสำหรับเคส 5 ชั่วโมงที่น้องๆ เจอ เป็นสถานการณ์ของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเป็นติวเตอร์และมีเนื้อหาออนไลน์ ซึ่งมีโปรดักต์ตัวใหม่ขึ้นมา และบริษัทแห่งนี้อยากขยายโปรดักต์ไปทั่วประเทศ โจทย์คือจะวางกลยุทธ์ให้บริษัทนี้อย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย

“บอส” อธิบายให้ฟังว่า จริงๆ แล้วก่อนการแข่งขัน 1 เดือน ผู้จัดการแข่งขันจะส่งชื่อบริษัทที่เป็นโจทย์มาให้ เพื่อให้แต่ละทีมได้ทำความรู้จักกับบริษัทและโปรดักต์ต่างๆ แต่จะมาบอกโจทย์จริงๆ คือวันแข่งขัน

“เมื่อได้รับโจทย์มา เราก็ใช้เวลาอ่านโจทย์ แล้วมาพูดคุยกันให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วโจทย์ต้องการอะไร จากนั้นก็ระดมความคิดว่าจุดประสงค์คืออะไร ต้นเหตุคืออะไร สถานการณ์เป็นแบบไหน และกลยุทธ์ที่เราจะวางมีข้อดีข้อเสียอย่างไร คุยกันในภาพรวม ก่อนจะมาช่วยกันอย่างละเอียดว่าจุดประสงค์ในการทำกลยุทธ์นี้คืออะไร ต้องทำอะไรบ้าง ทำทำไม และทำอย่างไร คือต้องตอบกรรมการให้ได้หมดทุกอย่าง และข้อสุดท้ายต้องมีตัวเลขการเงินมาเป็นตัวสนับสนุน เพราะจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าพวกเราจะทำได้จริงไหม ลงทุนมากไปหรือเปล่า หรือผลตอบแทนจะออกมาเป็นอย่างไร” บอสกล่าว

ด้วยเวลาเพียง 5 ชั่วโมง ทำให้เมื่อคุยภาพรวมเสร็จ พวกเขาต้องรีบแยกกันไปทำในส่วนของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการคิดและลงลึกในข้อมูล และทำสไลด์ แต่ก็มีการคุยกันตลอด เพราะสิ่งที่แต่ละคนคิดออกมาจะไปส่งผลต่อตัวเลขในโมเดล ดังนั้น ทุกคนในทีมต้องรู้ข้อมูลทุกอย่าง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพเดียวกัน และช่วยในเรื่องการตอบคำถามด้วย

เคส 30 ชั่วโมง ตัวตัดสินผู้ชนะ

เคส 5 ชั่วโมงมีคะแนนเพียง 30% ของคะแนนที่ใช้ตัดสินเท่านั้น แต่อีก 70% มาจากเคส 30 ชั่วโมง ที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมต้องเก็บตัวอยู่ในห้องพักของโรงแรม ห้ามติดต่อคนภายนอก ห้ามปรึกษาอาจารย์ โดยโจทย์ที่ทีมจุฬาฯได้รับ เป็นเคสของบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำด้านไอทีและเรื่องการป้องกันดิจิตอล  โดยจะทำอย่างไรให้พนักมานที่เพิ่มรับเข้ามาใหม่ปรับตัวกับองค์กรได้ พนักงานมีความสุข มีทัศนคติสอดคล้องกับแนวทางของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ที่ปัจจุบันมักเป็นปัญหาหลักของทุกองค์กร

ขั้นตอนการทำงานของทั้ง 4 คน คือ เมื่อได้รับโจทย์มา ต่างคนจะต่างอ่านตัวโจทย์ให้ละเอียด จากนั้นก็มาพูดคุยกันว่าเข้าใจตรงกันหรือไม่ ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจเหมือนกัน ใครไม่ข้าใจต้องอธิบายให้เห็นภาพไปด้วย เสร็จแล้วก็เริ่มคุยกัยเรื่องกลยุทธ์ ค้นหาข้อมูลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต เช่น งานวิจัย จากนั้นก็เริ่มลงรายละเอียดคร่าวๆ ก่อนจะปรึกษากันเรื่อง Storyline ว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรให้กรรมการเข้าใจง่ายที่สุด โดยมีเวลาพรีเซนต์ 10 นาทีและถามตอบอีก 15 นาที

จากนั้นก็ทำสไลด์นำเสนอ ซึ่งมีการแบ่งกันทำในต่ละส่วน แต่ก็จะดูให้มีความสอดคล้องกัน และเมื่อเกิดปัญหาในส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อนก็จะเข้ามาดูด้วย เช่น คิดกลยุทธ์หนึ่งขึ้นมาแล้วไม่แน่ใจ ก็จะช่วยกันค้นข้อมูล ดังน้น จึงเหมือนว่าทุกการตัดสินใจจะมาจากทุกคนในทีมตลอด

“บอส” เล่าว่า การคิดกลยุทธ์ของเคสนี้จะอาศัยการศึกษาตัวอย่างที่เคยมีคนทำมาแล้ว และนำมาปรับใช้ เพราะการใช้กลยุทธ์เดิมที่เคยมีจะช่วยยืนยันได้ว่าสิ่งที่คิดไปจะมีผลดีแบบนี้

“ดังนั้นในการคิดกลยุทธ์จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เริ่มจากการดูโครงสร้างค่าใช้จ่ายของบริษัทว่ามีค่าใช้จ่ายสูงสุดในด้านไหน ข้อ 2 ต้องหาว่าการลงทุนของเราจะเป็นเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และผลตอบแทนเท่าไหร่ และข้อ 3 ต้องดูตัวชี้วัดที่จะตอบโจทย์ เช่น กรณีนี้เป็นเรื่องงของบุคลากร ตัวชี้วัดอาจเป็นตัวเลขจำนวนพนักงานที่ออกจากบริษัทภายในปีแรก นอกจากนี้ยังดูเรื่องค่าใช้จ่ายในการปลูกฝังพนักงานคนหนึ่งว่าเท่าไหร่ เพราะถ้าคนเหล่านี้ออกไป เท่ากับค่าเทรนนิ่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เสียไปจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

การทำสไลด์ของพวกเขาเนื้อหานอกจากเนื้อหาจะแน่นแบบพอดี ยังมีการเพิ่มแบ็กอัพสไลด์ที่คาดว่าอาจจะโดนกรรมการถามเพิ่ม รูปแบบของโมเดลรวมไปถึงทุกสิ่งที่นำมาใช้จะมีเหตุผลสนับสนุน เพราะโจทย์ที่ได้รับเป็นธุรกิจจริงๆ จึงเน้นไปที่การสามารถนำไปใช้จริงได้

การเตรียมพร้อม-ทีมเวิร์ค สิ่งนำพาชัยชนะ

นอกจากความรู้ความสามารถของแต่ละคนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งของการประสบความสำเร็จครั้งนี้มาจากการเตรียมพร้อมที่ดี ที่แต่ละคนมีการฝึกฝนทักษะ มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในคลับที่ทำให้สามารถนำไปปรับใช้ได้ นอกจากนี้ยังมาจากทีมเวิร์ค หรือการทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่ทุกคนจะต้องฝึกทำโจทย์ร่วมกัน ไปจนถึงปรับทัศนคติให้เข้ากันด้วย

ขณะที่อาจารย์จะช่วยเข้ามาเทรนด์ให้ในช่วงก่อนไปแข่ง โดย “พริม” อธิบายว่า อาจารย์จะมาช่วยดูว่าต้องฝึกอันไหน หาเคสมาให้ลองทำ รวมไปทั้งช่วยส่งข้อมูลให้บ้าง นอกจากนี้ยังช่วยดูแลเรื่องการเดินทาง ที่พัก และติดต่อกับผู้จัด แต่เมื่อถึงเวลาแข่งขันจะไม่สามารถคุยกับอาจารย์ได้เลย มีการยึดโทรศัพท์ เพื่อให้ทุกทีมมีความเท่าเทียมกัน

การแข่งขันเหมือนการได้ไปเปิดโลก

“พริม” กล่าวอีกว่า การแข่งเคสนอกจากจะได้พัฒนาทักษะด้านธุรกิจ ซึ่งมองว่านี่เป็นแส่วนเล็กๆ เท่านั้น แต่ประโยชน์ที่ได้จริงๆ คือการได้ไปเปิดโลก ได้เห็นมุมมองคนอื่น

“มุมมองของเราก็อาจจะค่อนข้างไทยนิดนึง แต่พอไปเจอคนฮ่องกงเขาก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง คนสิงคโปร์ก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง พอได้ไปฟังการพรีเซนต์ของคนอื่นก็ได้เห็นว่าเขาคิดแบบไหน นอกจากนี้ยังได้ไปคุย ไปสร้างเครือข่ายกับคนอื่นๆ เป็นการเปิดโลกให้เราได้มีโอกาสไปคุยอะไรแบบนี้” พริมระบุ

“บอส” กล่าวว่า การแข่งเคสเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้สามารถนำทฤษฎีที่เรียนมาใช้จริง เกิดการเชื่อมโยงว่าสถานการณ์แบบนี้น่าจะใช้ทฤษฎีนี้ เป็นต้น

ด้าน “บุญ” ระบุว่า เวทีการแข่งขันก็เหมือนกับการจำลองการทำงาน เพราะการเรียนในห้องเรียนเป็นการเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือ

แต่การไปทำงานจริงนั้นไม่ได้มีปัญหาด้านเดียวที่รอให้แก้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องโผล่ขึ้นมา ทำให้รู้ว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

ขณะที่ “พิพพิน” กล่าวว่า นอกจากสิ่งที่เพื่อนๆ กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ได้จากการแข่งขันเป็นเรื่องของ Soft Skill เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การปรับตัวเข้ากับทีม ทำอย่างไรให้ทีมมีความสุข เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหากไปทำงานข้างนอกจริงๆ ก็ต้องทำงานเป็นทีม เพราะไม่มีใครสามารถทำงานคนเดียวได้

หลังจบจากเวทีนี้แล้วนิสิตปี 3 อย่างพริมก็ยังมีโอกาสไปแข่งอีก 1 ปี สิ่งที่เธอจะทำก็คือต้องฝึกฝนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศึกษากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกรรมการ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ก็อาจจะต้องไปศึกษาเคสที่เกี่ยวกับ Internet of Things และไอทีเพิ่ม รวมไปถึงเตรียมเป็นรุ่นพี่ปี 4 คอยช่วยเหลือและฝึกฝนน้องๆ ในรุ่นถัดมาด้วย

ส่วนน้องๆ ปี 4 ทั้ง 3 คน ต่างก็วางแผนชีวิตหลังเรียนจบไว้ตามทางที่อยากเดิน โดยพิพินจะไปเรียนต่อในสิ่งที่สนใจ เช่น สายบริหาร ธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งช่วยงานของครอบครัวด้วย ขณะที่บอสก็จะกลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัวเช่นกัน ส่วนบุญที่สนใจเรื่องการเงินและการลงทุน ก็จะไปทำงานในบริษัทตามสายอาชีพนี้


 

Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111