โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]
ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 – 12 เมษายน 2561
ถึงยุคโบราณคดีเฟื่องฟู
เป็นดังนั้นจริงแท้ แม่หญิงการะเกด เมื่อไปทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสกับมติชนอคาเดมีไปยังอยุธยา ในวันที่ 31 มีนาคม ฉันก็เห็นแม่หญิงการะเกดอีกหลายร้อยคนยืนถ่ายรูปอยู่หน้าวัดไชยวัฒนาราม เมื่อยามพลบค่ำ 6 โมงเย็น
ก่อนหน้านั้นเมื่อฉันไปวัดพุทไธสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดที่เขามาถ่ายทำบุพเพสันนิวาส ฉันก็เห็นการะเกดเดินกันว่อน สไบปลิว จนฉันเกือบจะเหยียบชายสไบเข้าให้ครั้งหนึ่ง
คนขายน้ำที่วัดพุทไธสวรรค์หัวเราะทั้งวัน อารมณ์ดี เพราะขายน้ำได้วันละร้อยโหล ไม่รวมน้ำหวาน ฉันได้ฉวยโอกาสขอแถมนมสด เขาก็บอกยินดีครับ ผมงี้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้ทำละครย้อนยุคต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ เศรษฐกิจดีไม่รู้เรื่อง
ฉันทีแรกก็เอออวย มานึกอีกทีรัฐบาลเกี่ยวอะไร นี่มันผลงานช่องสาม ผู้กำกับฯ ผู้สร้าง ผู้แต่งเรื่อง และผู้เขียนบทไม่ใช่รึแม่การะเกด
มติชนอคาเดมีก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย จัดทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสสองครั้ง เต็มหมด อาจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ที่ฉันเป็นแฟนคลับ มาบรรยายด้วย จนฉันได้มีโอกาสมาในครั้งนี้ ได้รู้ว่ารายละเอียดในละครก็มีการเพี้ยน การแต่งเติมไปบ้าง แต่ก็เข้าใจกันได้เพราะนี่คือเรื่องแต่งสำหรับการบันเทิง
ถามอาจารย์ว่าใครเป็นคนแต่งบุพเพสันนิวาสคะ อาจารย์บอกว่า “รอมแพง” เขาจบโบราณคดี ฉันก็ถึงบางอ้อเลย มิน่ารีเสิร์ชเยี่ยม มีเกร็ดต่างๆ สอดแทรก ขนาดอาจารย์ยังชื่นชม เมื่อได้คุณศัลยา นักเขียนบทมือหนึ่งของไทยมาปรุงรส ด้วยเข้าใจรสนิยมคนดูไทยทะลุปรุโปร่ง ก็เลยยกระดับละครขึ้นไปอีก และเข้าใจว่าทางช่องสามเองก็มีส่วนมองการตลาดได้เด็ดขาดอีกด้วย
มันไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลตรงไหนเลยนะคะ โปรดทราบ
การที่คนทั้งประเทศเกิดกระแสการรับรู้และมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ชาติ ไทย ประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์อย่างกว้างขวางเช่นนี้มีผลมาถึงมติชนเป็นอย่าง มาก เพราะในแง่การเผยแพร่แล้วถือว่ามติชนคือเสาหลักประวัติศาสตร์และโบราณคดี
คอลัมน์คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กูรูโบราณคดีในมติชนสุดสัปดาห์มีคนแชร์คราวละเป็นพันๆ คนทุกครั้ง
หนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ ทั้งแบบสารคดีและวิชาการ ทั้งแบบตรงไปตรงมา และสอดแทรกการวิเคราะห์จากปราชญ์ลำดับต้นๆ ของประเทศ มติชนยืนหยัดพิมพ์ขายมาตลอด มีนักเขียน นักวิชาการประวัติศาสตร์ในมือมากกว่าสำนักพิมพ์ไหน รวมทั้งต้นฉบับดีๆ ลายมือผู้คนในยุคนั้นๆ ก็ถูกส่งมาที่นี่
มติชนอคาเดมีจัดทัวร์ประวัติศาสตร์มาหลายปีแล้ว มีแฟนเหนียวแน่น วิทยากรคุณภาพเพียบและหลากหลาย
มติชนจัดเสวนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีสม่ำเสมอ
ทั้งหนังสือ ทัวร์ ทอล์ก มติชนคือชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึง
เมื่อตลาดเป็นใจมติชนย่อมได้รับลมใต้ปีกหอบเอาคุณค่าต่างๆ ที่มีบินสูงขึ้นไป ยุคนี้เป็นยุคของ content ใครมี content ดีกว่าย่อมได้เปรียบ
สําหรับทัวร์ตามรอยครั้งนี้อาจารย์ปรีดีสร้างความสนุกสนานด้วยการเอาสิ่ง ที่เห็นจากละครมาอธิบายเพิ่มเติม เช่นคำว่าออเจ้าใช้เรียกคนที่เราไม่รู้จักไม่รู้ชื่อเหมือนคำว่าเธอ เมื่อรู้ชื่อแล้วก็เรียก ออ ตามด้วยชื่อ เช่น ออฉิม ออเรียม แล้วแซวพี่หมื่นว่าเรียกออเจ้าอยู่นั่น ไม่รู้ซะทีว่าเธอชื่อการะเกด
การะเกดเป็นชื่อของผู้ชายนะคะ หลักฐานปรากฏจากเพลง “เจ้าการะเกด เจ้าขี่ม้าเทศจะไปไหนเอย”
ส่วนทองหยิบ ฝอยทอง ก็มาจากโปรตุเกสร้อยปีมาแล้ว ก่อนมารี เดอ กีมา จะมาอยู่อยุธยา
ทัวร์กับอาจารย์ปรีดี เริ่มต้นขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา ได้ความรู้ว่าที่ใช้ชื่อนี้เพราะเจ้าสามพระยา หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยาผู้ทรงพระปรีชาสามารถ กษัตริย์พระองค์นี้เป็นผู้สร้างวัดราชบูรณะให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่ผู้เป็นพี่ ซึ่งรบพุ่งกันจนเสียชีวิตด้วยกันทั้งคู่
ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กรุวัดราชบูรณะแตก อย่างที่เคยเป็นข่าวครึกโครม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ เครื่องทองต่างๆ ทั้งที่เป็นของสูง และที่เกี่ยวกับศาสนา ถูกลอบขนออกมา ทางการไปพบเข้าจึงเอาคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสนับสนุนให้สร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาจากเงิน 3 บาทที่ขายพระเครื่องจากกรุได้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย จากนั้นก็มีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ตามมา
สถานที่ต่อมาที่อาจารย์พาไปคือวัดบรมพุทธาราม ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา กษัตริย์สมัยอยุธยาผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ละครยังเดินเรื่องไปไม่ถึงตอนสิ้นสมัยพระนารายณ์และ พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ วัดบรมพุทธารามนี้ยังมีร่องรอยของเจดีย์และพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปอยู่ ที่ยังเห็นโดดเด่นคือ สะพานบ้านดินสอ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ยังมีสายน้ำขนาดเล็กลอดใต้สะพาน มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ตัวสะพานเองก็มีรูปทรงน่าชมมาก บริเวณนี้เมื่อวัดทรุดโทรมลงกลายเป็นย่านการค้าเครื่องเขียนประเภทดินสอ ปัจจุบันเป็นเขตอนุรักษ์อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
สิ่งที่ฉันรู้สึกก็คือน่าเสียดายที่เทคโนโลยีการก่อสร้างของไทยในสมัยอยุธยา ยังไม่ก้าวหน้า ใช้ดินเป็นฐานแล้วใช้อิฐก่อซ้อนกันขึ้นไป อาคารต่างๆ จึงทรุดโทรมลงได้ง่าย ก็ยังดีที่ยังเหลือซากอิฐไว้ให้ชม
ที่ฉันชอบเป็นพิเศษคือภูมิทัศน์บริเวณป้อมเพชร
ได้ความรู้จากอาจารย์ว่าที่นี่สายน้ำ 3 สายมาบรรจบกันคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี มองไปเห็นผืนน้ำกว้างเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสักมาบรรจบกัน ชัดเจน ที่นี่ยังหลงเหลือป้อมที่เคยสร้างไว้ป้องกันพระนคร เป็นที่ไว้ปืนใหญ่คอยยิงข้าศึกหากรุกล้ำเข้ามา เป็นชัยภูมิที่มีความเหมาะสมอย่างเห็นได้ชัด
บริเวณนี้เป็นหนึ่งในฉากในละครบุพเพสันนิวาส
ฉันมาอยุธยาเป็นสิบครั้งก็ไม่เคยมาที่ป้อมเพชรนี่ คราวนี้โชคดีมากับมติชนเลยได้มา
วัดธรรมาราม คือสถานที่ถ่ายทำฉากก่อกองทรายในละคร มติชนพาไปดูด้านหลังวัด ยังเห็นทรายที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณหลังโบสถ์ วัดนี้อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา และเคยเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพพม่าก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถควบคุมการสัญจรทางน้ำได้
อาจารย์พาเราลงเรือที่ท่าน้ำวัดกษัตราธิราช ชมโบราณสถานไปเรื่อยๆ อาจารย์บอกว่าในละคร พี่หมื่นพายเรือไกลมากอย่างไม่น่าเชื่อ ก็แซวกันไป ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะมันคือละคร
เราขึ้นเรือที่วัดพุทไธสวรรค์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ฉันเคยมาที่วัดนี้แล้ว มาคราวนี้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ที่นี่เป็นฉากถ่ายทำบุพเพสันนิวาสหลายฉาก ถ้าย้อนกลับไปดูจะได้เห็นประตูที่แม่หญิงการะเกดก้าวออกมา เห็นพระพุทธรูปเรียงราย
ที่นี่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของพระเจ้าอู่ทองก่อนสร้างกรุง ศรีอยุธยา เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกดได้เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าแท้จริงเธอคือใคร
ถ้าไม่ได้ไปที่วัดไชยวัฒนารามเป็นช็อตสุดท้าย เราก็คงไม่ได้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างฟีเวอร์ของละครกับประวัติศาสตร์เป็นแน่แท้
ทำให้ฉันได้ประจักษ์แน่แก่ใจว่าดราม่านั้นมีพลังมหาศาลขับเคลื่อนการกระทำ ของคนในสังคมได้ รถบัสของเราต้องจอดชั่วคราวให้เรารีบลงตรงหน้าวัดซึ่งแต่ก่อนเคยมีฝรั่งเดิน ประปราย มีเพิงขายน้ำเงียบเหงา เท่านั้นจริงๆ แต่มาคราวนี้ อะไรกันนั่น
บู๊ธให้เช่าชุดไทย สไบ ผ้านุ่ง ผ้าโจงกระเบนแน่นขนัดสองข้างทาง สลับกับร้านขายน้ำ เครื่องดื่ม ของฝาก มีอาสาสมัครคอยโบกรถให้ เราเดินฝ่าแม่นางการะเกดและพี่หมื่นไปยังที่วัดไชยวัฒนารามจำลองที่อยู่ด้าน หน้าวัด
วัดไชยวัฒนารามสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของวัดไชยวัฒนารามเป็นเหตุผลทางการเมืองกลายๆ เป็นที่เล่าลือกันว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นคือโอรสลับๆ ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่เกิดแต่หญิงชาวบ้าน แต่ในทางการแล้วคือบุตรชายของออกญาศรีธารมาธิราชพี่ชายคนใหญ่ของพระมารดา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งก็ถือว่ามาจากคนธรรมดา
อาจารย์อธิบายสืบเนื่องจากละครว่า เนื่องจากไม่ได้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์มาก่อน จึงต้องสร้างวัดที่ใหญ่โตอลังการเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ ที่เราเห็นในละครว่ายอดพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเปล่งประกายเป็นสีทองอร่าม งดงามนั้น เป็นเรื่องจริง และไม่ใช่เฉพาะยอดพระปรางค์อย่างในละครเท่านั้น แต่เป็นทองคำทั้งองค์ เรื่องนี้แสดงว่าคนทำละครทำได้ดีมาก มีการค้นคว้าที่ดี เพราะเมื่อครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ก็พบว่าตัวพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ผิวขององค์พระปรางค์มีรูพรุนเต็มไปหมด
ซึ่งการที่มีรูพรุนนั้นเกิดจากการที่เขาเอาตะปูสังควานร เป็นตะปูเหล็กยาวๆ ตรึงเข้าไปที่องค์พระปรางค์…
ฉันกลับมาพร้อมด้วยความรู้สึกถึงอาณุภาพของสื่อและอยากที่จะตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างต่อจากนี้
อยากจะคิดว่ากระแสบุพเพสันนิวาสจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประวัติศาสตร์และ โบราณคดีมากขึ้น และเยาวชนที่สนใจอยู่แล้วแต่ถูกผู้ใหญ่ห้ามปรามร้องยี้ว่าเรียนไปทำอะไร ก็จะเลิกร้องยี้เสียที
หนังสือประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะขายดี
นักโบราณคดีที่มีฝีมือในการเขียนนิยายจะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จะเฟื่องฟู หวังว่าการใฝ่รู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีในหมู่คนทั่วไปจะเติบโตขึ้นอีกด้วย
มติชนจะจัดตามรอยบุพเพสันนิวาสไปยังลพบุรีอีกในวันที่ 29 เมษายน ยิ่งไม่น่าพลาด เพราะอย่างที่รู้กันว่าแม้อยุธยาจะเป็นเมืองหลวง แต่ลพบุรีเป็นเมืองของพระนารายณ์ ที่นั่นมีนารายณ์ราชนิเวศน์ หอดูดาว และคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็จบชีวิตลงที่นั่น
การเมืองอันเข้มข้นเกิดขึ้นที่นั่นด้วย