เรื่อง : ธฤต อังคณาพาณิช, ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค
หากพูดถึงแอปพลิเคชั่นสำหรับติดต่อสื่อสาร พูดคุย หรือที่เรียกว่า “แอปฯแชต” ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น ไลน์ (Line) เพราะจากข้อมูลของไลน์ ประเทศไทย ระบุว่า คนไทยมากกว่า 83% ใช้แอปพลิเคชั่นไลน์ โดยนอกจากจะสื่อสารกันผ่านทางข้อความ ข้อความเสียง วิดีโอคอล อีกหนึ่งสิ่งที่ใช้แทนการสื่อสารได้นั่นก็คือ “สติ๊กเกอร์” ที่ความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจากไลน์ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2561 นี้ ไทยมียอดดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์เพิ่มสูงถึง 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และมีไลน์สติ๊กเกอร์ในตลาดเพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 เท่าจากปีที่ผ่านมา รวมถึงมีครีเอเตอร์สติ๊กเกอร์คนไทยในปัจจุบันมากถึง 340,000 คน จากทั่วโลก 1.5 ล้านคน นับว่าเป็นครั้งแรกที่ไลน์สติ๊กเกอร์และไลน์ครีเอเตอร์มาร์เก็ตในไทยมีการเติบโตขึ้นเป็นอับดับ 1 ในปีนี้
สาเหตุที่ทำให้ไลน์สติ๊กเกอร์เป็นที่นิยมนั้นอาจเป็นเพราะคาแร็กเตอร์ของสติ๊กเกอร์ ที่โดยมากจะเป็นตัวการ์ตูนที่ถูกดีไซน์มาให้น่ารักและใช้ง่าย มีท่าทางที่เหมือนกับการทำกิจวัตรประจำวันของเรา นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันคนไทยเข้าถึงช่องทางซื้อสติ๊กเกอร์ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บัตร LINE Prepaid card ที่สามารถเติมเงินได้ตาม 7-11 และร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วประเทศนั่นเอง
สำหรับสติ๊กเกอร์ที่กำลังเป็นที่นิยม คือ สติ๊กเกอร์เกี่ยวกับชื่อ ที่จะมีการนำชื่อเล่นที่มีคนใช้เยอะมาใส่ในสติ๊กเกอร์ ซึ่งจุดเด่นคือการระบุตัวผู้ใช้ได้อย่างชัดเจน เมื่อสติ๊กเกอร์แทนตัวเองได้ก็จะรู้สึกถึงความใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น ที่กำลังเป็นที่นิยมอีกคือ สติ๊กเกอร์ที่เกี่ยวกับละคร โดยเฉพาะสติ๊กเกอร์จากบุพเพสันนิวาส ที่ทำให้สติ๊กเกอร์ใส่ชุดไทยบูมขึ้นมาด้วย
ส่วนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีคนใช้ไลน์มากเป็นอันดับ 1 นั้น จะเป็นเทรนด์ตัวการ์ตูนน่ารักๆ หรือคาแร็กเตอร์ที่แสดงท่าทางโอเวอร์เกินจริง ซึ่งประเทศอื่น ๆ อย่างไต้หวันและมาเลเซีย ก็นิยมสติ๊กเกอร์ไลน์ในลักษณะนี้ด้วย
ขณะที่ไลน์ได้จัดงานมอบรางวัล LINE Stickers Awards 2018 ที่มอบรางวัลให้กับครีเอเตอร์ที่สร้างผลงานสติ๊กเกอร์โดดเด่นสูงสุดใน 7 สาขา (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.matichonacademy.com/content/journal/article_15671) ซึ่งงานนี้ “มติชนอคาเดมี” มีโอกาสพูดคุยกับ 4 ครีเอเตอร์ที่มารับรางวัลในครั้งนี้
สติ๊กเกอร์ไลน์คืองานศิลปะอย่างหนึ่ง
“มหันห์ตชัย ไพรสินธิ์” หรือ ต้นไม้ เจ้าของสติ๊กเกอร์สุดฮิตมากมายอย่าง นายต้นไม้ ส้มเช้ง ตัวหมีและตัวหมู ซึ่งทำสติ๊กเกอร์ไลน์มากว่าสี่ปีแล้ว กล่าวว่า แต่เดิมตนเป็นนักดนตรีกลางคืน ไม่ได้มีรายได้มากนัก แต่พอมาทำแฟนเพจและสติ๊กเกอร์แล้วก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจนเกินคาด จนทุกวันนี้เป็นรายได้หลักของเขา แต่ก็ยังไม่อยากให้มองการเป็นครีเอเตอร์เป็นอาชีพหลัก อยากให้มองว่าเป็นงานอดิเรกที่เรารักที่จะทำมัน ถึงจะทำมันได้ดีบ้างไม่ดีบ้างก็ไม่เป็นไร แค่ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด
“แรกเริ่มเราเริ่มต้นวาดคาแร็กเตอร์ของเราในกระดาษก่อนแล้วอัพลงแฟนเพจ แต่พอดีว่ามีแฟนเพจหลายท่านอยากใช้คาแร็กเตอร์ของเราเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ จึงได้กลายมาเป็นนายต้นไม้ในทุกวันนี้ ผมโชคดีตรงที่มีฐานแฟนเพจ พอทำออกมาแฟนเพจก็ให้การสนับสนุนได้ดี ทำให้เรามีความมั่นคงในระดับหนึ่ง เพราะแฟนเพจของเราก็คือคนที่ซื้อสติ๊กเกอร์ของเราด้วย” มหันห์ตชัยกล่าว
เจ้าของสติ๊กเกอร์นายต้นไม้กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนมองงานครีเอเตอร์เป็นผู้สร้างศิลปะแบบหนึ่ง ทุกวันนี้เรายังให้ค่ากับสิ่งนี้น้อยมากหรือแทบจะเป็นของฟรีเลย
“บางทีก็มีคนมาขอให้เราทำงานวาดรูปให้ แล้วบอกเราว่าแค่นี้เองไม่ต้องคิดเงินหรอก หรือว่าคิดเงินแพงจัง ของแค่นี้เอง ผมอยากให้คิดว่าศิลปะคืองานที่มีค่า มันใช้ความคิดในระดับหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้มีคนที่ทำงานนี้น้อยอยู่เพราะว่าแบบนี้ ทำแล้วคนก็ไม่ได้ให้ค่าเขาว่าเป็นงานหนึ่งที่มีรายได้และมีความมั่นคง สุดท้ายนี้สิ่งหนึ่งที่ครีเอเตอร์ทุกคนต้องเจอ ก็คือความสิ้นหวังและความท้อแท้ มันต้องมีมาแน่นอน ผมอยากให้พยายามก้าวข้ามตรงนั้นไปให้ได้ พ่อผมสอนไว้ว่าทำงานจนกว่างานจะไล่เราออก อย่าไปลาออกเอง สักวันหนึ่งต้นไม้นี่จะออกดอกออกผลเอง” มหันห์ตชัยกล่าว
ถ้างานเราดีพอ คนจะสนใจเอง
ด้าน “คะนาโกะ ซุฮาระ” ครีเอเตอร์จากญี่ปุ่น เจ้าของสติ๊กเกอร์ สึมุริน หอยทากจอมกวน กล่าวว่า การทำสติ๊กเกอร์ขึ้นมาอันหนึ่งนั้นไม่ง่ายและไม่ยาก แต่การจะทำให้คนรู้จักนั้นต้องใช้เวลา และต้องใช้ความพยายามสร้างผลงานไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดจุดหนึ่งที่งานของเราดีพอก็จะมีคนสนใจเอง
“การทำสติกเกอร์อันหนึ่งไม่ยาก แต่ว่าบางทีมันอาจจะออกมาดีหรือไม่ดีก็ได้ อยากให้ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำ ลองทำไปเรื่อยๆ ดูก่อน แล้วก็ลองส่งขายดู เพราะถ้าเราไม่ส่งก็ไม่รู้ว่ามันจะขายดีไหม” คะนาโกะกล่าว
ไอเดียใหม่ๆ มาจากชีวิตประจำวันรอบตัว
“เฉิง ชง ลี” ครีเอเตอร์จากประเทศไต้หวัน เจ้าของสติ๊กเกอร์ Sweethouse Happy Deer กล่าวว่า การสังเกตชีวิตประจำวันรอบๆ ตัว ทำให้เรามีไอเดียใหม่ๆ มาทำสติ๊กเกอร์เสมอ เพราะจริงๆ แล้วการทำสติ๊กเกอร์ก็คือการสังเกตการใช้ชีวิตของเราเองหรือคนรอบตัว แล้วหยิบเอามาสร้างเป็นผลงานที่เสริมความน่ารัก สดใส อย่างสติ๊กเกอร์กวางน้อยของเขา
“การชอบสังเกตคนทำให้เราได้ไอเดียใหม่ๆ มากมาย ที่ไม่ซ้ำกับของคนอื่น เดิมทีผมชอบเขียนไดอารี่แล้วก็วาดเป็นรูปภาพ แล้วทีนี้มีแฟนคลับที่อยากให้วาดเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ก็เลยมาทำงานนี้ อยากให้ตอนนี้คนที่จะเข้ามาเป็นครีเตอร์เก็บสะสมประสบการณ์ไปก่อน ซึ่งประสบการณ์เกิดได้จากทุกๆ อย่างที่เราทำ พยายามทำทุกๆ อย่างให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ส่วนสติ๊กเกอร์ก็อยากให้วาดในสิ่งที่เราชอบ ไม่ควรตามเทรนด์ เพราะถ้าเราตามเทรนด์แล้วผลงานมันออกมาไม่ดี เราจะไม่ชอบทำและเลิกทำไปเลย” เฉิง ชง ลี กล่าว
ลองทำเรื่อยๆ ต้องมีสักอันที่จะฮิต
ขณะที่ “เมลานี เซ็ตโยวาตี ซันโตโซ่” ครีเอเตอร์จากประเทศอินโดนีเซียเจ้าของสติกเกอร์ Milk & Mocha กล่าวว่า ได้แรงบันดาลการทำสติ๊กเกอร์มาจากการที่ชื่นชอบตัวการ์ตูนที่น่ารัก จึงออกแบบแต่สติ๊กเกอร์ที่มีคาแร็กเตอร์น่ารัก และติดตามนักวาดภาพประกอบหลายคน ซึ่งคนอินโดนีเซียจะชอบสติ๊กเกอร์ที่เป็นรูปสัตว์น่ารักๆ ตัวสติ๊กเกอร์ก็จะเป็นคู่รักที่มีความร่าเริง
“แรกเริ่มเราอัพลงในทวิตเตอร์ก่อน แต่พอได้ข่าวว่าไลน์จะประกวดสติ๊กเกอร์จึงทำส่งให้ไลน์ ซึ่งได้รายได้ที่ดีเกินคาดมากๆ ตัวสติ๊กเกอร์ชุดที่ได้ทำเงินได้ทั้งหมดสูงสุดอยู่ที่ 5 แสนบาท ตอนแรกสติ๊กเกอร์ที่ทำตามความชอบของเรายังไม่ติดตลาด แต่เราได้ไอเดียมาจากการผสมกับเทรนด์ที่ฮิตกันในขณะนั้น จึงกลายมาเป็นสติ๊กเกอร์ที่ได้รับความนิยมในแบบเขา ในปัจจุบันการทำสติ๊กเกอร์ไม่ใช่เรื่องยาก อยากให้ลองทำไปเรื่อย ๆ เพราะอาจจะมีสักอันก็ได้ที่เป็นที่นิยม” เมลานีกล่าว
สุดท้ายนี้การที่จะมาเป็นครีเอเตอร์หรือผู้ออกแบบสติกเกอร์นั้น ก็เหมือนการทำอาชีพอื่นๆ ที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นและความชอบในการสร้างสรรค์งานดีๆ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ต้องตั้งใจทำเพื่อที่จะทำมันออกมาให้ดีที่สุด และได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป
Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111