เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนพระทัยในงานด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ค้นพบทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองมีชื่อ’เมืองศรีเทพ’ปรากฏอยู่แต่ไม่มีผู้ใดทราบว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด
ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบ‘สมุดดำ’เล่มหนึ่งเป็นต้นร่างกล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่2 ไปตามหัวเมืองต่างๆ มีเส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงทรงตั้งสมมุติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะตั้งอยู่ทางลำน้ำป่าสัก เมื่อเสด็จเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ.2447 จึงให้หาผู้ชำนาญท้องที่มาสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ในลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้าง ได้รับข้อมูลว่ามีเมืองหนึ่ง เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่อยู่ในป่าแดงใกล้กับเมืองวิเชียรบุรีไปถึงได้ไม่ยาก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงเสด็จไปยังเมืองวิเชียรบุรีโดยล่องเรือไปทางแม่น้ำป่าสัก เมื่อเสด็จถึงเมืองวิเชียรบุรี ทรงแวะเยี่ยมพระยาประเสริฐสงคราม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ทรงสอบถามเรื่องเมืองศรีเทพได้ความว่า ‘เมืองวิเชียรบุรี’ แต่เดิมมีชื่อเรียก2อย่าง คือ ‘เมืองท่าโรง’ และ‘เมืองศรีเทพ’ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ ‘พระศรีถมอรัตน์’ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งปราบกฏเวียงจันทน์ พระศรีถมอรัตน์มีความชอบมากจึงโปรดฯให้ยกศักดิ์เมืองศรีเทพเป็นเมืองตรี และเปลี่ยนนามเมืองเป็น ‘วิเชียรบุรี’ ดังนั้นชื่อเมืองศรีเทพที่ปรากฏในทำเนียบเก่าและหนังสือสมุดดำจึงเป็นชื่อเก่าของเมืองวิเชียรบุรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงล่องเรือจากเมืองวิเชียรบุรีไปขึ้นท่าเรือที่บ้านนาตะกรุด แล้วเดินทางบกมายังเมืองโบราณซึ่งอยู่ห่างจากลำน้ำราว 4.2 กิโลเมตร ทรงสำรวจเมืองโบราณแล้วมีพระราชวินิจฉัยว่า เมืองโบราณแห่งนี้เป็นต้นเค้า ของการเรียกชื่อเก่าของเมืองวิเชียรบุรี ว่าเมืองศรีเทพในปัจจุบันจึงมีการเรียกชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เมืองศรีเทพ
เมืองศรีเทพ ตั้งอยู่ในต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองโบราณที่มีคูเมือง กำแพงเมืองล้อมรอบ พื้นที่รวมประมาณ 2,889 ไร่ แบ่งออกเป็น2ส่วน ได้แก่
เมืองใน ผังเมืองค่อนข้างกลม เนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง พื้นที่ภายในตัวเมืองเป็นลูกคลื่นเนินดินสูงต่ำไม่เท่ากัน กลุ่มโบราณสถานสำคัญขนาดใหญ่ ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และเขาคลังใน นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานขนาดเล็กอีก 45 แห่ง รวมทั้งสระน้ำและหนองน้ำ 70 แห่ง ตั้งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ สระน้ำที่มีขนาดใหญ่สุด คือสระปรางค์
เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีคูเมือง กำแพงเมือง ล้อมรอบทุกด้าน ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมบน เนื้อที่ประมาณ 1,589 ไร่ มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง ภายในตัวเมืองพบโบราณสถานขนาดเล็ก 64 แห่ง รวมทั้งมีสระน้ำขนาดเล็กตั้งกระจายอยู่ทั่วไป สระน้ำที่มีขนาดใหญ่สุด คือ สระขวัญ ตั้งอยู่กลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
พื้นที่นอกเมืองศรีเทพยังปรากฏเนินดินโบราณสถานตั้งกระจายตัวอยู่อีกราว 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง โบราณสถานที่สำคัญ คือ เขาคลังนอก ปรางค์ฤาษี และสระแก้ว ส่วนด้านทิศตะวันตกห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของถ้ำเขาถมอรัตน์ ศาสนสถานสำคัญที่ตั้งอยู่ภายในถ้ำหินปูน
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่เขตเมืองใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพทำการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 2531 พบหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นร่องรอยของชุมชนดั้งเดิมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เมื่อราว 2,000-1,500 ปีมาแล้ว คือโครงกระดูกมนุษย์ที่ฝังร่วมอยู่กับสิ่งของเครื่องใช้ในระดับความลึกจากผิวดินลงไปประมาณ 4 เมตร รวมทั้งโครงกระดูกช้างโบราณในสมัยหลังลงมา
การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้นี้เป็นเครื่องยืนยันถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมือง ที่รับอารยธรรมทวารวดีและเขมรโบราณในราวพุทธศตวรรษที่ 13-18 และ ถูกทิ้งร้างเสื่อมสลายไปก่อนหรือต้นสมัยสุโขทัย
เขาคลังใน ศาสนสถานในพุทธศาสนา ชื่อของโบราณสถาน มีที่มาจากความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่เชื่อกันว่าเป็นคลังเก็บของมีค่าหรือคลังอาวุธในสมัยโบราณ
องค์ประธานมีขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยศิลาแลงฉาบปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความกว้าง 28 เมตร ความยาว 44 เมตร และความสูงประมาณ 12 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในก่อทึบตัน ส่วนฐานด้านล่างยังคงปรากฏภาพปูนปั้นประดับอาคารเป็นลายก้านขด รูปสัตว์และคนแคระแบบศิลปะทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14
เขาคลังในมีบันไดขึ้น-ลงทางด้านหน้า ส่วนบนของฐานโบราณสถานเป็นลานกว้าง พบร่องรอยว่าเดิมอาจมีสถูปประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตกและวิหารขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า แต่ในปัจจุบันพังทลายไปเกือบหมด นอกจากนี้ยังพบฐานของเจดีย์ วิหาร และอาคารขนาดเล็กหลายแห่ง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเขาคลังใน เมืองศรีเทพ คล้ายกับโบราณสถานวัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองคูบัว จ.ราชบุรี ร่วมสมัยในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีเช่นกัน
ปรางค์สองพี่น้อง ปราสาทประธานก่อด้วยอิฐแบบศิลปะเขมร ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพิ่มมุมขนาดความกว้างด้านละ 10 เมตร ฉาบปูนทั้งหลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีปราสาทขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ สร้างขึ้นเพิ่มเติมอยู่บนฐานเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อโบราณสถาน
นอกจากนี้ยังพบแนวทางเดินและอาคารขนาดเล็กสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอีกหลายหลัง จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบประติมากรรมรูปสุริยเทพ ศิวลึงค์ ฐานโยนี รูปโคนนทิ และทับหลังจำหลัก รูปอุมามเหศวร ศิลปะแบบบาปวน-นครวัด พุทธศตวรรษที่ 16-17 สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ต่อมาอาจถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นพุทธสถานแบบมหายาน
เขาคลังนอก ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร ลักษณะเป็นฐานอาคารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดความกว้างด้านละ 64 เมตร และความสูงประมาณ 20 เมตร มีบันไดตรงกึ่งกลางด้านทั้งสี่ด้าน ส่วนฐานของโบราณสถานซ้อนกัน2ชั้น ประดับตกแต่งด้วยรูปจำลองอาคาร โดยรอบเหนือส่วนฐานด้านบนเป็นลานประทักษิณ ตรงกึ่งกลางมีสถูปก่อด้วยอิฐผังรูปสี่เหลี่ยม สภาพส่วนยอดพังทลาย การขุดแต่งทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุหลายชิ้นสำคัญ คือ พระพุทธรูปประทับยืนแสดงธรรม ศิลปะทวารวดี
นอกจากนี้ยังพบฐานสถูปเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่ตามแนวแกนทิศ และฐานอาคารขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐและศิลาแลงอีกหลายหลัง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบสันนิษฐานได้ว่าเขาคลังนอกเป็นสถูปเจดีย์ทางพุทธศาสนา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เขาคลังนอก ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานสมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ และมีความสมบูรณ์มากที่สุดที่พบในปัจจุบัน
ปรางค์ฤาษี ตั้งอยู่บริเวณวัดป่าสระแก้ว นอกเมืองศรีเทพทางทิศเหนือ ออกไปราว 2 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดู มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานมีขนาดเล็กก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้าง 6.95 เมตร ความยาว 7.65 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร ด้านหน้ามีฐานอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและฐานอาคารก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ลักษณะคล้ายมณฑปเชื่อมต่อกับโคปุระทางด้านทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน และแนวทางเดินด้านหน้าปูด้วยศิลาแลง
ทางด้านทิศใต้ของปราสาทประธาน มีปราสาทขนาดเล็กก่ออิฐมีฐานศิลาแลงรองรับ 1 หลัง และมีกำแพงแก้วล้อมรอบ การขุดแต่งทางโบราณคดีปรางค์ฤาษีพบ ศิวลึงค์ ฐานรูปเคารพ และชิ้นส่วนโคนนทิ กำหนดอายุสมัย ราวพุทธศตวรรษที่ 16 มีอายุร่วมสมัยกับปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง
______________________________________________________________________________
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ ทัวร์ ปริศนา”ศรีจนาศะ”รัฐโบราณที่ถูกลืม จ.ลพบุรี-เพชรบูรณ์-นครราชสีมา จะพาไปเยี่ยมชม และร่วมค้นหาคำตอบว่า ‘ศรีเทพ-เสมา’ที่ไหนคืออาณาจักรศรีจนาศะ กันแน่?
ทริปนี้นำชมและบรรยายโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา
เดินทางวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2561
ราคา 5,900 บาท
คลิกอ่านโปรแกรมการเดินทาง : https://www.matichonacademy.com/tour/article_20284