หลังจากที่ไปชิมฝีมือชาวเนปาลที่เมลเบิร์นมาเกือบเดือนแล้ว แต่ใจกลับยังคิดถึงอาหารเนปาลอยู่เลย
ที่เคยคิดว่าจะลองทำดูก็ต้องพับไว้ก่อน พอดีมีพี่ที่รู้จักกันชวนไปชิมที่ร้านอาหารเนปาลที่ร้าน “หิมาลายา” (Himalaya) เปิดอยู่แถวๆ ประตูน้ำนี่เอง
พิกัดร้านจาก ปากซอยราชปรารภ 1 เดินตรงไปจนสุดทาง แล้วเลี้ยวขวา (ถ้าเลี้ยวซ้ายเป็นตึกใบหยก) เดินมาหน่อยเดียวเลี้ยวซ้ายเข้าซอยแรก ตรงไปอีกนิดร้านอยู่ขวามือ สังเกตทางเข้าจะมีป้ายชื่อร้านแขวนอยู่ เดินเข้าไปนิดเดียวร้านอยู่ซ้ายมือ
ย่านนี้เป็นย่านแขก ส่วนมากจะมีร้านอาหารอินเดียเยอะ ขณะที่ร้านอาหารเนปาลน่าจะมีร้านนี้ร้านเดียว มารู้ทีหลังว่าเจ้าของร้าน คือ พี่ธันวา ชาวเนปาลอดีตนักข่าวโต๊ะต่างประเทศ กอง บก.มติชนนี่เอง
ดังนั้น รับประกันได้ว่าอาหารร้านนี้รสชาติเนปาลแท้แน่นอน เพราะพี่ธันวาเป็นชาวเนปาลแท้ๆ ธันวา เป็นชื่อภาษาไทย ส่วนชื่อเนปาล คือ “อัสสชิตะ อวาเล” เกิดที่เมืองปาตัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุ
ชีวิตในวัยเด็กดื้อและซนมาก พ่อจึงจับบวชเณร แล้วชีวิตก็ผกผันได้มีโอกาสเข้ามาอยู่วัดที่เมืองไทย กระทั่งสึกออกมาได้ฝึกงานเป็นนักข่าวประจำโต๊ะต่างประเทศที่มติชน
ด้วยความผูกพันบ้านเกิดเมืองนอน จึงตัดสินใจเปิดร้าน Himalaya สาขาแรกอยู่ที่สุขุมวิท 31 ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงร้าน ส่วนที่ประตูน้ำเป็นสาขาที่ 2 เพิ่งเปิดร้านได้ 3-4 เดือน
วันนั้นเรากับพี่สาวไปกัน 2 คน ลองสั่ง Chicken Momo 100 บาท Egg Bara 100 บาท Chiura Choyala Aloo Sadeko Set 150 บาท ได้ยินพนักงานออกเสียงว่า จูร่า ชอยล่า อะลู ซาเดโก Chicken Thali 195 บาท Veg Chawmin 95 บาท ส่วนเครื่องดื่มสั่ง ชามัสซาล่า จะเป็นชาดาร์จีลิงผสมนมและเครื่องเทศของชาวหิมาลายัน 30 บาท และลาสซี่ เป็นเครื่องดื่มโยเกิร์ต 45 บาท
เริ่มจาก “Chicken Momo” หรือโมโม่ไก่ ใครเคยไปเนปาลต้องได้ลองกินกันทุกคน เพราะโมโม่ถือเป็นอาหารจานด่วนยอดนิยม ใช้แป้งห่อเนื้อสัตว์ต่างๆ แล้วนำไปนึ่ง สมัยใหม่นำไปทอดก็มี
เท่าที่ลองชิมไม่ว่าใครทำโมโม่รสชาติจะไม่หนีกันเท่าไหร่ สิ่งที่จะตัดสินว่าฝีมือใครเด็ดกว่ากันให้ดูที่น้ำจิ้ม น้ำจิ้มโมโม่ปัจจุบันพัฒนารสชาติแบบตะวันตก แต่ถ้าดั้งเดิมจริงๆ ซอสโมโม่ต้องทำจากถั่วที่มีสีเหลืองบดละเอียดปรุงรสชาติ รสชาติจะหอมมันอร่อย
จานต่อมา “Egg Bara” จานนี้เป็นโรตีที่ทำจากถั่วบด ถั่วนี้เป็นชนิดเดียวกับที่ทำน้ำจิ้มของโมโม่ นำไปทอดกับไข่ไก่ เป็นได้ทั้งอาหารรับประทานเล่น หรือเป็นมื้อกลางวันก็ยังได้ กินคู่กับยำมันฝรั่ง หรือยำไก่ จะเข้ากันมาก
ต่อด้วย “Chiura Choyala Aloo Sadeko Set” เสิร์ฟมาในถาดสเตนเลสใบใหญ่ วางทุกอย่างอยู่ในถาดใบเดียว เพราะโดยปกติชาวเนปาลนิยมรับประทานด้วยมือ
เมนูนี้อาจต้องทำใช้เวลาทำความคุ้นเคยนิดนึง เพราะหลายสิ่งแตกต่างจากความคุ้นชินเดิมๆ ไปมาก อย่างข้าวเม่าแบบแห้ง ถั่ว Bhatmas ทอด กินกับยำมันฝรั่งที่คลุกเคล้าสมุนไพร และเครื่องปรุงให้เข้ากันเหมือนสลัด และยำไก่ย่าง เป็นอย่างเดียวในเซตที่รสชาติจัดจ้านที่สุด และมีกลิ่นหอมกระทะไหม้ที่ชวนรับประทาน
ส่วนการที่จะได้เห็นและชิมอาหารที่หลากหลายจะมีตอนช่วงเทศกาลเท่านั้น อาหารพิเศษบางอย่างก็จะมีเฉพาะฤดูกาลนั้นๆ ดังนั้น ใครอยากจะกินเมนูอะไร ไม่ต้องรอเทศกาล เดินเข้าร้านอาหารก็จะมีอาหารนับสิบนับร้อยอย่างให้เลือกเลย
ธันวา เจ้าของร้าน วัย 50 ปี บอกว่า เมื่อก่อนอาหารเนปาลยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ทุกวันนี้คนเนปาลออกนอกประเทศไปอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น ไปเปิดร้านอาหาร คนจึงเริ่มรู้จักอาหารเนปาลมากขึ้น โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ร้านอาหารเนปาลมีมากถึง 3,000 ร้าน หรือที่ประเทศออสเตรเลียมีชาวเนปาลไปอยู่ถึง 300,000 คน แม้แต่ในประเทศเนปาลเองร้านอาหารก็เกิดขึ้นมากมาย เพราะผู้คนในปัจจุบันนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเยอะขึ้น
ใครที่กำลังสนใจอาหารเนปาลอยู่ต้องลองค่ะ!
ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ชม นำพา [email protected] |