หากคิดถึงของฝากจากเมืองสี่แคว หรือ จังหวัดนครสวรรค์ คงหนีไม่พ้น ขนมโมจิ ที่เป็นขนมของฝากเลื่องชื่อไปทั่วประเทศ โดยขนมโมจิเป็นขนมอบทรงกลมแบน มีไส้และกลิ่นหลากหลายชนิด ทั้งไส้เค็ม ไส้หวาน และมีเนื้อแป้งที่มีสัมผัสที่นุ่มนวล แต่ในญี่ปุ่น ก็มีขนมที่เรียกว่า โมจิ (餠) เช่นเดียวกัน ซึ่งขนมทั้งสองแบบนั้นมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน และขนมโมจินครสวรรค์ก็ไม่ใช่โมจิที่มาจากญี่ปุ่นแต่ประการใด
ขนมโมจิของจังหวัดนครสวรรค์ เป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลี นมข้นหวาน นมสด เนย ผสมเข้าด้วยกัน และอบเป็นชั้นเปลือกนอกหรือแป้ง ส่วนของไส้นั้น รสชาติยอดนิยมอย่างถั่วกวนก็ผ่านกรรมวิธีการนึ่งถั่วให้สุกและยีกับตะแกรง จากนั้นก็กวนกับมะพร้าวและน้ำตาลให้เข้าที่ ปั้นให้เป็นก้อน และอบควันเทียนไว้หนึ่งคืน จึงนำไปห่อกับแป้งที่เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จสิ้น โดยโมจิจะนิยมนำไปกินคู่กับน้ำชาหรือกาแฟก็เข้ากัน
ส่วน โมจิ (餠) จากญี่ปุ่น คือขนมที่ทำจากข้าวเป็นส่วนผสมหลัก โดยผ่านกรรมวิธีการตำให้เหนียวนุ่มด้วยครกไม้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งโมจิเป็นขนมที่รับประทานกันเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ด้วยรูปแบบและรสชาติที่หลากหลาย
กันไป อาทิ ในวันขึ้นปีใหม่ของประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีประเพณีในการรับประทานซุปที่ใส่โมจิเข้าไป อย่าง โซนิ (雑煮) อีกทั้งโมจิยังต่อยอดให้เป็นขนมชนิดอื่นได้อีกด้วย อย่างเช่น ไดฟุกุ (大福) อันเป็นขนมที่เป็นโมจิสอดไส้ต่าง ๆ เช่น ถั่วแดง หรือ สตรอว์เบอร์รี่ก็ได้ เป็นต้น
เห็นได้ว่า ขนมโมจิที่เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์นั้นผิดไปจากโมจิของญี่ปุ่น เพราะว่าคำว่าโมจิเป็นเพียงชื่อเท่านั้น กล่าวคือวัตถุดิบขนมดังกล่าวทำมาจากข้าวตำนั้นเป็นคนละอย่าง ไม่เกี่ยวข้องกัน และที่กล่าวว่าเป็นเพียงชื่อนั้น แต่เดิมแล้ว ขนมโมจิของจังหวัดนครสวรรค์นั้นคือ “ขนมเปี๊ยะนมข้น” ที่มีลักษณะคล้ายขนมเปี๊ยะทั่วไป ต่างที่ใช้แป้งสาลีและนมข้นหวานเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีสัมผัสที่นุ่มกว่านั่นเอง ส่วนสาเหตุที่ชื่อว่าโมจินั้น ทางผู้ผลิตรายใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์นั้นเห็นว่าในจังหวัดเริ่มที่จะผลิตขนมเปี๊ยะนมข้นกันมากขึ้น จึงริเริ่มในการเปลี่ยนชื่อเป็นโมจิ และก็เป็นชื่อที่ใช้ต่อเนื่องมาในที่สุด
__________________________________________
อ้างอิง :
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยธนาคารไทยพาณิชย์, 2542
Mochi From : Wikipedia, the free encyclopedia https://en.wikipedia.org/wiki/Mochi
______________________________________________
ที่มา : เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม
ผู้เขียน : ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา