จาก‘เชลล์ชวนชิม’ถึง‘ถนัดศรีชวนชิม’ตำนานอร่อยร่วม60ปี

Journal ข่าวสาร

การจากไปของคุณชาย หรือ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ จะนำมาซึ่งความเสียใจของครอบครัว ญาติมิตร และแฟนคลับจำนวนมาก ทว่า โลโก้ความอร่อยยี่ห้อ ม.ร.ว.ถนัดศรี จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป เพราะเชื่อแน่ว่า ไม่มีใครไม่รู้จัก “เชลล์ชวนชิม”

เป็นเหมือนกันไหม ถ้าร้านไหนมีป้าย“เชลล์ชวนชิม”หน้าร้าน มักจะทำให้คุณเชื่อมั่นว่าอร่อยและเดินเข้าไปฝากท้องโดยพลัน แบบไม่ต้องคิดมาก

“เชลล์ชวนชิม”เกิดขึ้นได้ยังไง เมื่อไหร่?

เชลล์ชวนชิม เกิดขึ้นเมื่อปี 2504 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายและการโฆษณาของบริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด สมัยนั้นบริษัทเชลล์ฯ เพิ่งเริ่มจำหน่ายแก๊สหุงต้มในประเทศไทย ในขณะที่คนไทยยังคุ้นเคยกับการใช้ถ่านใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ในการหุงอาหาร

ท่านภีศเดชกับ ม.ร.ว.ถนัดศรี จึงปรึกษากัน เพื่อหาทางส่งเสริมการขาย โดยเห็นร่วมกันว่า ต้องเป็นเรื่องอาหารการกิน จากนั้นจึงมาคิดชื่อและโลโก้ ตอนแรกออกมาว่า “ชวนชิม” โดยท่านภีศเดชทรงเติม “เชลล์” เข้าไปข้างหน้า ออกมาเป็น “เชลล์ชวนชิม” โดย ม.ร.ว.ถนัดศรี เป็นผู้ชวนชิมและเขียนแนะนำ และมีบริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดรายการ

“เชลล์ชวนชิม” รักษานโยบายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นอย่างเคร่งครัดตลอดมา คือ แนะนำอาหารอร่อยได้มาตรฐาน บริการดี ไม่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ติดเรื่องราคา จะถูกหรือแพงก็ได้ ขอให้อร่อย โดยการแนะนำฟรี ไม่มีการเรียกร้องค่าตอบแทนจากร้านอาหารแต่อย่างใด

คอลัมน์เชลล์ชวนชิม ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2504 ใช้นามปากกา “ถนัดศอ” เรื่องที่มาของนามปากกานั้น มาจากที่สมัยนั้นคุณประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นบรรณาธิการอยู่ ขอให้คุณประมูล อุณหธูป นักเขียนชื่อดัง ตอนนั้นอยู่กองบก.ของสยามรัฐ ตั้งนามปากกาให้ คุณประมูลจึงตั้งให้ว่า “ถนัดศอ” เป็นการเลียนเสียงชื่อของคุณ “ประหยัด ศ.”นั่นเอง

โลโก้ของ “เชลล์ชวนชิม” ในยุคแรก เป็นรูปหอยเชลล์และเปลวแก๊สแลบออกมา ต่อมาในเดือนกันยายน 2525 ได้เปลี่ยนโลโก้เป็นรูปชามลายครามลายผักกาด โดยลายผักกาดหมายถึง อาหารการกิน ส่วนชามลายครามเป็นสัญลักษณ์ของความเก่าแก่ สูงค่า รวมความเป็นสัญลักษณ์แห่งการกินดีกินเป็น

คอลัมน์เชลล์ชวนชิม ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ต่อเนื่องมานานกว่า14ปี จึงย้ายไปตีพิมพ์ใน นิตยสารฟ้าเมืองไทย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2518 และสุดท้าย ย้ายไปประจำอยู่ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ จนถึงตอนสุดท้ายเมื่อปลายเดือนมกราคม 2555

ตลอด50ปี “เชลล์ชวนชิม” โดย “ถนัดศอ” ได้สร้างคนให้เป็นเศรษฐีมากมาย นโยบายของเชลล์ชวนชิม คือ ให้แล้วให้เลย ไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ หรือยึดคืนแต่อย่างใด ร้านไหนยังรักษาคุณภาพมาตรฐานความอร่อยไว้ได้ ลูกค้าก็ยังไปอุดหนุนกันคับคั่ง ส่วนร้านไหนเปลี่ยนเจ้าของเปลี่ยนมือคนทำ ฝีมือด้อยลงไป ลูกค้าไปแล้วไม่ประทับใจก็จะไม่ไปอีก เขาก็อยู่ไม่ได้ไปเอง

ภายหลังบริษัทเชลล์ฯไม่ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้แล้ว ก็จะไม่มีการแนะนำร้านเชลล์ชวนชิมเพิ่มอีก แต่ ม.ร.ว.ถนัดศรี ยังคงทำเรื่องของการชวนชิมต่อไป โดยใช้ชื่อ “ถนัดศรีชวนชิม” และตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เหมือนเดิม โดยในช่วงแรกจะเป็นการทบทวนร้าน “เชลล์ชวนชิม” รุ่นเก่าๆที่ยังรักษาคุณภาพมาตรฐานไว้ให้ดี ให้ผู้อ่านทราบว่ามีร้านอร่อยๆที่ไหนบ้าง

แน่นอนว่า “ถนัดศรีชวนชิม” จะเน้นเรื่องรสชาติและคุณภาพของอาหารเป็นหลัก และไม่มีการเรียกเก็บเงินจากร้านค้าแต่อย่างใด เพราะมีผู้สนับสนุนออกเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานอยู่แล้ว คือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด(มหาชน) เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน PT เช่นเดียวกับ “เชลล์ชวนชิม”ที่มีบริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ให้การสนับสนุน

และแม้ว่าวันนี้จะสิ้นบุคคลสำคัญอย่างคุณชาย หรือ ม.ร.ว.ถนัดศรี แล้ว แต่ตำนาน “เชลล์ชวนชิม” “ถนัดศรีชวนชิม” และนามปากกา “ถนัดศอ”จะถูกจดจำตลอดไป