อันซีนเมืองเพชร วันเดย์ทริปเที่ยว12จุดวิถีชุมชน สัมผัส‘วิถีตาล-เมืองเก่า’

Culture ศิลปวัฒนธรรม

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดย อพท.8 เปิดเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยววิถีชุมชน จ.เพชรบุรี สัมผัส “วิถีนา วิถีตาล” ผ่านการเล่าเรื่องโดย “ชุมชนถ้ำรงค์” และย้อนชมอดีต “ชุมชนเมืองเก่าเพชร” ซึมซับ ศิลปะชั้นครู หนังใหญ่ วัดพลับพลาชัย ลายปูนปั้น สกุลช่างเมืองเพชร สัมผัสวัฒนธรรมวิถีชุมชนริมน้ำกลางเมือง ผ่านการบูรณาการของหน่วยงานรัฐ และท้องถิ่น เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล

โดยนายสุจินต์ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 อพท. พาเยี่ยมชมกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 2 ชุมชน ใน จ.เพชรบุรี ประกอบด้วย ชุมชนถ้ำรงค์ ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด และชุมชนเมืองเก่าเพชร อ.เมืองเพชรบุรี เป็นการพัฒนาในรูปแบบท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้กระบวนการ การมีส่วนร่วมกับราชการและภาคพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพสามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ก่อให้เกิดรายได้อย่างทั่วถึง

โดยจะเริ่มจากจุดที่ 1 คือ วัดถ้ำรงค์

เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อดำ และหลวงพ่อขาว ภายในถ้ำเป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชนปางห้ามญาติ หล่อด้วยสำริดดำทั้งองค์ นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่อีกหลายองค์ โดยบริเวณหน้าถ้ำมีฝูงลิงออกมาวิ่งเล่น และหากินอยู่พอสมควร ช่วยสร้างสีสันในการกราบไหว้หลวงพ่อทั้งสองได้ไม่น้อย

จุดที่ 2 สวนตาลลุงถนอม

                แหล่งชุมชนที่ปลูกต้นตาลเป็นจำนวนมาก ด้วยวิถีอาชีพการทำตาลของชาวบ้าน ที่หาดูได้ยากในเมืองไทย โดยแหล่งปลูกตาลที่สำคัญและเด่นดังที่สุดในชุมชน คงหนีไม่พ้น สวนตาลลุงถนอม ภู่เงิน บนพื้นที่ราว 10 ไร่ นับเป็นแห่งเดียวในเพชรบุรี ที่มีการปลูกต้นตาลมากที่สุด ตาลที่นี่มีลำต้นอวบใหญ่แผ่ก้านใบร่มครึ้ม แถมยังเป็นการปลูกตาลแบบมีระเบียบเป็นแถวเป็นแนว แบบสวนผลไม้อีกตั้งหาก

จุดที่ 3 บ้านยีตาลโตนด

มาถึงเมืองเพชร ต้องแวะไปชมกรรมวิธีการทำขนมตาล มีกระบวนการนำผลตาลโตนดสุกมายีแยกเนื้อออก ส่วนวิธีการคือนำลูกตาลมาปอกเปลือก แกะเอาเฉพาะส่วนเมล็ดในสีเหลืองทองมายีกับน้ำ และนำไปกรอง ผ่านการเคี่ยวจนข้นให้เหมือนแป้ง ผสมน้ำตาลโตนด นำไปนึ่งเป็น ขนมตาลที่หอมหวาน พร้อมรับประทานแล้วจ้า

จุดที่ 4 ใบตาลเครื่องจักรสานงานฝีมือ

หัตถการจากใบตาล เป็นผลิตภัณฑ์ชาวบ้านสร้างสรรค์ด้วยสองมือ สินค้าทุกชิ้นทำด้วยความประณีตและใส่ใจในรายละเอียดทุกผลิตภัณฑ์ที่ออกมา ทำให้มีคุณภาพ และมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยใช้ใบตาลวัสดุท้องถิ่น สร้างเป็นอาชีพ ถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน

IMG_8214
IMG_8315

จุดที่ 5 รับประทานอาหารชุดขันโตก ที่ศาลากลาง

เมนูขันโตก ประกอบด้วย 1.ข้าวผัดแดง 2.แกงหัวตาล 3.ทอดมันขนมจีน 4.ผักชะคามกับกุ้ง 5.น้ำพริกแดง 6.ขนมหม้อแกง เป็นอาหารพื้นบ้านของคนเมืองเพชร บอกเลยอร่อยสุดๆ

จุดที่ 6 วัดพลับพลาชัย

วัดเก่าแก่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย หลวงพ่อฤทธิ์เป็นผู้นำในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมการศึกษา และเป็นผู้ก่อตั้งคณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย ใช้เป็นการแสดงมหรสพ การเชิดหนังเรื่องรามเกียรติ์ มีชื่อเสียงมาก ปัจจุบันหนังใหญ่ยังคงเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ภายในวัดพลับพลาชัย นอกจากนั้นภายในวัดยังมีศิลปะ ลายปูนปั้นหน้าบันที่วิหารและซุ้มประตูโบสถ์ ให้นักท่องเที่ยวได้ชมอย่างไม่รู้เบื่อ

จุดที่ 7 ลานสุนทรภู่

สถานที่ตั้งพลับพลารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 5 ครั้งที่เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นลานกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมริมแม่น้ำเพชรบุรี ลานแห่งนี้เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์สุนทรภู่สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของกวีเอกของชาติ ที่แต่งนิราศเมืองเพชร มีบทบรรยายถึงวัดพลับพลาชัยอีกด้วย

จุดที่ 8 บ้านมนัสจรรยงค์

มนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสั้นของไทย ต้นแบบนักเขียนผู้ทรหดบนเส้นทางวรรณกรรม ด้วยผลงานเรื่องสั้นกว่า 1,000 เรื่อง และเรื่องยาวอีก 20 เรื่อง ผลงานที่โดดเด่นคือ “จับตาย”

จุดที่ 9 สมบัติแม่น้ำเพชร

พิพิธภัณฑ์สมบัติแม่น้ำเพชร แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวเพชรบุรี เป็นวัตถุโบราณ ทีมีอายุกว่าพันปี ทั้งหม้อน้ำ รูปสลักนกยูงชาวมอญ เครื่องมือโบราณสมัยทวารวดี ทั้งขวานหิน เงินโบราณ หม้อตาลเมืองเพชร ภาชนะดินเผา เป็นต้น

จุดที่ 10 ศาลาคามวาสี

โรงเรียนสตรีแห่งแรกของ จ.เพชรบุรี มีชื่อว่า “โรงเรียนเพชรสตรี” เป็นศาลาหลังใหญ่ที่จุคนได้ 100 – 150 คน อาคารถูกออกแบบเหมือนศาลาการเปรียญ หลังจากที่ยกเลิกการเป็นโรงเรียน ศาลาคามวาสีแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา จนถึงปัจจุบัน

จุดที่ 11 บ้านสะสมผลงานมิตร ชัยบัญชา

“มิตร ชัยบัญชา” พระเอกตลอดกาลของคนไทย มีพื้นเพเป็นคนเพชรบุรี มิตร ชัยบัญชา มีผลงานการแสดงเอาไว้ทั้งหมด 266 เรื่อง ก่อนจะเสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ในปี พ.ศ. 2513 ด้วยความชื่นชอบและได้เก็บสะสมผลงานของมิตร ชัยบัญชา มานาน คุณสนั่น จึงปรับพื้นที่ชั้นล่างของบ้านที่เช่าอยู่ ทำเป็นห้องจัดแสดงภาพและประวัติของมิตรเพื่อแบ่งปันให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมจนถึงทุกวันนี้

จุดที่ 12 สตรีทอาทข้างบ้าน

ซอยชุมชนตลาดริมน้ำ ซอยเล็กๆ ในย่านการค้าของเมืองเพชร มีภาพวาด Street Art อยู่ตามจุดต่างๆตลอดทาง โดยภาพวาดเหล่านี้ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินเมืองเพชร มีภาพที่สื่อถึงความเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน และอีกส่วนมากเป็นภาพแมว เนื่องจากในซอยมีแมวอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นอีกจุดที่สามารถมาเดินชมวิถีชีวิตชาวตลาดเมืองเพชรแล้วยังได้ถ่ายรูปกับภาพวาดสวยๆ อีกด้วย