“ผ้าปาเต๊ะ” หรือผ้าบาติก (Batik) เป็นเครื่องนุ่งห่มที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีต้นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย คำว่า “ปาเต๊ะ”หรือ “บาติก” มาจากภาษาชวา ใช้เรียกชื่อผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด ซึ่งวิธีการทําผ้าปาเต๊ะจะใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ผ้าปาเต๊ะบางชิ้นอาจผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสี และย้อมสีหลายๆ ครั้ง ส่วนผ้าปาเต๊ะอย่างง่าย อาจทําโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียน แล้วจึงนําไปย้อมสีที่ต้องการ
สมัยก่อนคนชวานิยมใช้ผ้าปาเต๊ะ ในลักษณะ 1. โสร่ง (Sarung) เป็นผ้าที่ใช้นุ่งโดยการพันรอบตัว 2. สลินดัง (salindang) หมายถึง ผ้าซึ่งใช้นุ่งทับกางเกงของบุรุษ หรือเรียกว่า “ผ้าทับ” เป็นผ้าที่เน้นลวดลายประดับเป็นกรอบหรือชาย 3. อุเด็ง (udeng) หรือผ้าคลุมศีรษะ โดยทั่วไปจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผ้าชนิดนี้สุภาพบุรุษใช้โพกศีรษะเรียกว่า “ซุรบาน” สำหรับสตรีจะใช้ทั้งคลุมศีรษะ และปิดหน้าอกเรียกว่า “คิมเบ็น” (kemben) ต่อมามีการดัดแปลงเป็นเครื่องแต่งกายประเภทอื่นๆ ใช้กันทุกเพศทุกวัย จนกลายเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติของอินโดนีเซีย ทำให้ผ้าปาเต๊ะหรือผ้าบาติก กลายเป็นสินค้าส่งออกไปขายทั่วโลก และมีการเผยแพร่เทคนิคการทำผ้าชนิดนี้ไปประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา
กศน.ปากพนังจัดอบรมอาชีพ
“ผ้าปาเต๊ะ” กลายเป็นสินค้าขายดี อินเทรนด์สุดๆ ในยุคคนไทยนิยมนุ่งชุดผ้าพื้นเมืองในชีวิตประจำวัน เพราะผ้าปาเต๊ะนับเป็นงานศิลปะบนผ้าที่มีการเขียนลวดลายหลากหลายบนเนื้อผ้า เช่น ลายต้นหมาก ลายดอกดาหลา ลายดอกไม้ ฯลฯ ผ้าปาเต๊ะแต่ละผืนมีการสร้างลวดลายที่มีความซับซ้อนสวยงามวิจิตร ใน 1 ผืน จะมี 2 ลาย และสีหลัก 2 สี มีลวดลายสีสันที่สดใส สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้
เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมีกลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติก ที่มีฝีมือด้านการออกแบบลายผ้า และตัดเย็บผ้าบาติกจำนวนมาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดทำแผนในการพัฒนาให้จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองแห่งบาติก โดยขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ร่วมสวมใส่ผ้าบาติกทุกวันพฤหัสบดี เพื่อสร้างกระแสความนิยมใช้ผ้าบาติก ตามนโยบายสานพลังประชารัฐ ให้จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองแห่งบาติก เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
ทุกวันนี้ ผ้าปาเต๊ะ เป็นสินค้าขายดี เพราะเป็นสินค้าแฟชั่นที่เข้ากับยุคสมัยและผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย เช่น เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมผม หมวก ฯลฯ คุณสุรศักดิ์ อนันต์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอปากพนัง มองเห็นโอกาสและช่องทางในการพัฒนารูปแบบและการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะให้มีความหลากหลาย สร้างมูลค่าได้สูงขึ้น จึงจัดกิจกรรมอบรมอาชีพ “การเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะดีไซน์” หลักสูตร 30 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ว่างงาน ผู้เกษียณอายุ และประชาชนทั่วไป ได้มีรายได้และมีงานทำอย่างยั่งยืน
คุณชมภู ชุตินันทกุล ครู กศน.ตำบลปากพนัง กล่าวว่า “ผ้าปาเต๊ะ” เครื่องนุ่งห่มที่เป็นเอกลักษณ์ของชายแดนใต้ ด้วยสีสันและลวดลายที่สดใสสวยงาม ทำให้ผ้าปาเต๊ะมีความสวยงามโดดเด่นสะดุดตา การเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดี เนื่องจากผ้าปาเต๊ะเพ้นต์มือ เป็นงานฝีมือที่มีมูลค่าสูง การเพ้นต์สีผ้าปาเต๊ะทำได้ไม่ยากแค่ใช้สีอะครีลิกเขียนลวดลายบนผ้าปาเต๊ะ ใช้กากเพชร แต่งแต้มลวดลายตามจินตนาการ ยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าผ้าปาเต๊ะให้สูงขึ้น
กิจกรรมอบรมอาชีพ “การเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะ” เริ่มต้นในพื้นที่ตำบลก่อน หลังจากนั้น เชื่อมงานจากตำบล สู่โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งอาชีพ ของ กศน.อำเภอปากพนัง เรียนจากตำบลแล้ว ยังอยากเรียนอีกก็มาเรียนต่อยอดได้ที่อำเภอปากพนัง จากหลักสูตรการเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะของตำบลมาเรียนต่อยอดการทำกระเป๋าจากผ้าปาเต๊ะที่ กศน.อำเภอจัดไว้ เช่น คุณเกสร ช่อผูก จาก กศน.ตำบลบ้านเพิง
นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงเครือข่ายบูรณาการหน่วยงานเอกชน ประชาชน เครือข่ายจากเทศบาลอำเภอปากพนัง ชมรมผู้เกษียณอายุ เครือข่ายจากโรงเรียนสตรีปากพนัง ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้จังหวัดสงขลา กลุ่มอาชีพการเคหะจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน
ทั้งนี้ กศน.ปากพนังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามากรอกใบสมัครเข้าอบรมอาชีพ โดยพิจารณาผู้สมัครเรียนที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด เช่น ผู้ไม่มีอาชีพ ผู้ที่ต้องการพัฒนาอาชีพ ฯลฯ เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพเรื่องการเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะดีไซน์ ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย กศน.จัดเตรียมวัสดุทุกรายการให้ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมอาชีพ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป
การเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะ สร้างรายได้ดี
คุณบำเพ็ญ บุญชูดวง วิทยากรอบรมหลักสูตร “การเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะ” กล่าวว่า การเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะ เป็นงานผลงานศิลปะ ที่ช่วยให้ผ้าปาเต๊ะมีความสวยงามมากขึ้น สามารถสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับผู้เรียนได้อย่างดี
“ราคาผ้าปาเต๊ะในท้องตลาดทั่วไป ประมาณ 120-150 บาท บวกค่าสีเขียนผ้าอะครีลิก และอุปกรณ์ทั้งหมดอีกประมาณ 200 บาท คำนวณค่าแรงงานขั้นต่ำอีกวันละ 300 บาท รวมต้นทุนประมาณ 650 บาท ต่อผืน แต่ขายผ้าปาเต๊ะที่ผ่านการเพ้นต์สีในราคาขายปลีกผืนละ 1,000 บาท หากใครจะรับไปขายต่อ สามารถบวกผลกำไรเพิ่มโดยขายในราคาผืนละ 1,200 บาท ก็สามารถหาตลาดได้อย่างสบายๆ” คุณบำเพ็ญ กล่าว
หากใครสนใจอยากเพ้นต์สีผ้าปาเต๊ะ คุณบำเพ็ญแนะนำอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้งานประกอบด้วย ผ้าปาเต๊ะ สีกากเพชร สีเขียนผ้าอะครีลิก จานสี พู่กัน (เบอร์ 1, 4, 6) กระดาษหนังสือพิมพ์ (ใช้รองผ้า) สก็อตช์เทป ถุงพลาสติก (ใช้ในการทำกรวยเพ้นต์ผ้า) เข็มหมุด แก้วขนาดเล็ก (ใช้สำหรับจุ่มล้างพู่กัน เมื่อต้องการเปลี่ยนสี)
ขั้นตอนการเพ้นต์ผ้าปาเต๊ะ
- การเลือกผ้าและลวดลาย สำหรับเพ้นต์ ให้ใช้ผ้าปาเต๊ะที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป แต่เลือกลวดลายเด่นๆ หรือลายตามใจชอบ
- การเลือกตำแหน่งที่จะเพ้นต์แล้วนำผ้ามาวางบนโต๊ะ สอดหนังสือพิมพ์ ไว้ใต้ผืนผ้า กลัดเข็มหมุดเป็นระยะ
- เริ่มเพ้นต์โดยระบายสีขาวเป็นสีรองพื้น ให้เว้นขอบของลวดลายไว้
- หลังจากนั้น ระบายสีที่เหมาะสมหรือสีที่ชอบเพื่อให้ลวดลายโดดเด่น
- ระบายสีกากเพชรแต่งแต้ม ให้เกิดความแวววาว สวยงาม ตัดเส้นภาพตามขอบของลวดลายให้ลวดลายมีความคมชัด โดดเด่น
- ผ้าที่เพ้นต์แล้วมีความสวยงาม เป็นงานฝีมือที่มีมูลค่า น่าสวมใส่ และทำให้ผู้เรียนสามารถจำหน่ายให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะเพ้นต์มือผลงานผู้เข้าอบรมอาชีพกับ กศน.ปากพนัง มีขาย ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนเบี้ยซัด สนใจติดต่อ คุณบำเพ็ญ บุญชูดวง โทร. (098) 446-2363 หรือติดต่อ กศน.ตำบลปากพนัง คุณครูชมภู ชุตินันทกุล โทร. (089) 292-1900
ที่มา | ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |