เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 กันยายน ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 7 รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ มีการเปิด Samitivej Parenting Center เป็นศูนย์ที่ช่วยผนึกกำลังพ่อแม่แพทย์สร้างเด็กฉลาดด้านอารมณ์ในการปรับตัว RQ (Resilience Quotient) #สร้างเกราะให้ใจแกร่ง
ศูนย์ Samitivej Parenting Center เปิดขึ้นเพื่อช่วยพ่อแม่แก้ปัญหาเด็กขี้กลัว อ่อนแอ ขาดความมั่นใจ ดื้อ ต่อต้าน โดนรังแก เป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้นในสังคมยุคนี้ ถ้าปล่อยไว้ไม่แก้ไขอาจนำไปสู่พัฒนาการของคนรุ่นใหม่ที่ใจร้อน หงุดหงิดง่าย เป็นอันธพาลและอาชญากรได้ในที่สุด ปัญหานี้จำเป็นต้องมีการแก้ไขเร่งด่วนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เด็กและเพิ่มความสามารถในการปรับตัวในสภาวะยากลำบาก รพ. เด็กสมิติเวช ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพเด็ก จึงได้ตั้งศูนย์นี้ขึ้นเพื่อให้สถาบันครอบครัวมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ ช่วยให้บุตรหลานมีความยืดหยุ่น ฟื้นตัวกลับมาได้เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤติ
พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัทสมิติเวช จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาว่า มาจากสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันพบว่าเด็กอายุ 12 ปีตั้งครรภ์มากขึ้น มีปัญหาเรื่องอัตราการเกิด โดยในกทม.มีอัตราการเกิดแค่ 0.9 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนไม่อยากมีลูก ไม่อยากแต่งงาน แต่ในต่างจังหวัดไกลๆมีอัตราการเกิดเยอะ นี่คือปัญหา
“เด็กทารกที่ยังพูดไม่ได้ พวกเรานึกว่าเขาไม่รู้เรื่อง แต่เขารู้เรื่องตลอด แต่สื่อสารกับเราไม่ได้ สายตาที่เขาจับจ้องนั่นคือสังคมแรกที่เขาเห็น รวมถึงปัจจุบันบ้านเริ่มเล็กลง และเด็กมีพี่เลี้ยงเป็น Mobile phone ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา”พญ.สมสิริกล่าว
พญ. สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ. สมิติเวช และ รพ. บีเอ็นเอช และ ผู้อำนวยการ รพ. เด็กสมิติเวช กล่าวว่า ในยุคนี้โลกเปลี่ยนแปลงเยอะ เป็นยุคดิจิทัล โซเชียลมีเดีย เด็กเกิดมาไม่เคยรอ เดี๋ยวนี้อยากดูทีวีไม่ต้องคอย สามารถดูย้อนหลังได้ อยากกินอะไรก็สามารถสั่งซื้อมาเลย เขาจะเคยชินกับการไม่ต้องคอย ไม่ต้องอดทน ไม่ต้องรอ ความอดทนจะน้อยลง แต่คำถามอยู่ที่ว่าชีวิตปัจจุบันจะยืนหยัดได้ไหม เจอเพื่อนล้อ มีการแข่งขัน ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ใครจะดูแล ลูกเราจะอยู่ในยุคดิจิทัลยังไง เมื่อก่อนจะมีแต่ IQ , EQ แต่ปัจจุบันมี RQ จะทำยังไงให้เขายืนหยัดและยืดหยุ่นได้
“เด็กในกรุงเทพฯ มีความอดทนน้อยกว่าเด็กชนบท ถึง 2 เท่า เพราะสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมเมือง การเลี้ยงดูที่สุขสบาย พ่อแม่ปกป้องลูกมากเกินไป มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น เร็วขึ้น ทำให้เด็กไม่ต้องทนรออะไร อยากพูดอยากแสดงออกก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดถึงผลกระทบต่อคนอื่น การแก้ปัญหานี้แต่ต้นมือจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องเร่งพัฒนา Resilience Quotient (RQ) หรือความฉลาดทางอารมณ์ที่จะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวในสภาวะที่ยากลำบาก เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคนี้
“ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะดูแลเด็กแบบ Total Health Solution หรือการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ
กว่า 150 คน จึงได้จัดตั้ง Samitivej Parenting Center ขึ้น โดยจะดูแลเด็กในขั้น Advanced ที่ไม่ใช่เพียงแค่รักษาอาการต่างๆ ของเด็ก แต่เป็นศูนย์ในการรวมพลังของแพทย์และพ่อแม่ผู้ปกครองในการเรียนรู้วิธีรับมือกับลูกอย่างมีแบบแผนถูกต้อง และตรงจุด ตัวอย่างเช่น เด็กต่ำกว่าอายุ 6 ขวบที่มีปัญหาในเรื่องดื้อหรือสมาธิสั้น จะไม่แนะนำให้ใช้ยา พ่อแม่เป็นยาที่ดีที่สุดในการปรับพฤติกรรมของลูก เด็กมีความเก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบในยุคนี้แลัว แต่เด็กต้องเติบโตมาด้วยคุณภาพทางอารมณ์ด้วย Samitivej Parenting Center ให้บริการ ดูแลสุขภาพจิตเด็ก โดยผ่านรากฐานที่สำคัญที่สุดของสังคม นั่นคือ “สถาบันครอบครัว”พญ. สุรางคณากล่าว
ด้านนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการ Samitivej Parenting Center รพ.เด็ก สมิติเวช กล่าวว่า แนวทางหลักในการดูแลสุขภาพจิตเด็กทำอย่างไร ผมคิดว่าพ่อแม่ทั่วไปก็ยังไม่ได้ศึกษา อย่างผมกว่าจะเป็นจิตแพทย์เด็กได้ ก็เป็นแพทย์และศึกษามา 12-13 ปี จนสามารถเขียนหนังสือ “คัมภีร์เลี้ยงลูก” ได้ แต่คนทั่วไปอยู่ๆก็เป็นพ่อแม่ที่มาจากเป็นผัวเมียกัน เลี้ยงลูกตามที่เคยเห็น และปัจจุบันแย่ตรงที่มีโซเชียลมีเดียเข้ามาด้วย
“จากเดิมผมเลี้ยงลูกไม่เป็น ต้องคอยโทรถามแม่ ต่อมาได้ศึกษาเรื่องนี้ ปัจจุบันผมเลี้ยงลูกจนจบแพทย์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ทั้ง 2คน ฉะนั้นรพ.สมิติเวช จะเป็นแหล่งองค์ความรู้ทางการแพทย์จริงๆ จะเป็นที่พึ่งพาการเลี้ยงดูบุตรหลานได้”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว และว่า
ศูนย์ Samitivej Parenting Center จะเน้นให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่และผู้ปกครองโดยตรง ในด้าน EF, EQ, Resilience, Growth Mindset ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพจิตเด็ก โดยการสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ ความคิด และการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ยากลำบาก (Resilience Quotient) นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
“เราต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยลดอัตราการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพชีวิตของเด็กเอง และต่อสังคม เช่น เด็กขี้กลัว อ่อนแอ ไม่กล้าเผชิญหน้า คิดวางแผนไม่เป็น หนีปัญหา ดื้อ ต่อต้าน อารมณ์เศร้า วิตกกังวลสูง พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ทะเลาะวิวาท ทำร้ายผู้อื่น หรือร้ายแรงถึงคิดสั้นจนทำร้ายตนเองถึงแก่ชีวิต ศูนย์แห่งนี้จะช่วยให้พ่อแม่มองเห็นปัญหาของลูกตั้งแต่ต้นและรีบจัดการโดยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะแก้ไขไม่ได้ รวมทั้งช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานพร้อมที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ” นายแพทย์ธีระเกียรติกล่าว
คุณนิหน่า – สุฐิตา ปัญญายงค์ ดารานักแสดงชื่อดัง แชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูกว่า วันแรกที่เป็นแม่คลอดที่รพ.สมิติเวช ตอนนี้ลูกอายุ7ขวบแล้ว ตอนแรกลูกยังเล็กร้องไห้ ไม่รู้จะทำยังไง ถึงกับลองใช้แอปพลิเคชั่นฟังเสียงเด็กร้องแล้วแปล บอกว่าหิว แต่จะหิวได้ยังไงเพราะเพิ่งกินไป สุดท้ายก็ค่อยๆเรียนรู้การเลี้ยงดูไปพร้อมๆกับลูก
“พอไปโรงเรียนลูกเล่าเรื่องต่างๆให้ฟังบ้าง เขาชอบเตะฟุตบอลมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งรุ่นพี่ไม่ให้เตะบอลด้วย กลับมาบ้านร้องไห้ เราทำความเข้าใจก่อนว่าเขาเสียใจ ผิดหวัง เราเลยแนะให้เขาเริ่มจากไปเก็บลูกฟุตบอลอยู่ข้างสนามก่อน ค่อยๆทำให้รุ่นพี่ยอมรับก่อน จากนั้น1สัปดาห์รุ่นพี่ก็ยอมให้เล่นด้วย พอทำได้ก็เป็นความภูมิใจ
“ส่วนปัญหาอื่นๆ เช่น ลูกเคยกัดเพื่อน เราก็อยากรู้ว่าเขาเป็นอะไร เลยพามาหาหมอที่รพ.สมิติเวช หมอบอกว่าลูกเราปกติ ดังนั้นจึงเห็นว่าถ้าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติควรมาปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำจากหมอดีที่สุด”ดาราสาวกล่าว
จากนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ บรรยายถึงเทคนิคการเลี้ยงลูกให้มีความอดทน และปรับตัวในโลกปัจจุบันได้ เรียนรู้การเอาตัวรอด จากประสบการณ์ของหมูป่าเด็กติดถ้ำ ว่า ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินคำว่า IQ (Intelligence Quotient) , EQ (Emotional Quotient) , AQ (Adversity Quotient) หรือ CQ (Creativity Quotient) มามากมายหลายคำนิยามในการพัฒนาจิตใจของเด็กเเละเยาวชน วันนี้เราจะมารู้จักกับ RQ คำที่เพิ่งคิดขึ้นมาใหม่ในปัจจุบันย่อมาจาก Resilience Quotient เป็นคำนิยามในช่วงที่เราเจอสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจ เหตุการณ์ร้ายเเรง เเต่เราก็สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ เหมือนคนที่ “ล้มเเล้วลุก” ได้ ซึ่งสะท้อนภาพอะไรได้หลายอย่างว่าเด็กที่จิตใจเเข็งเเกร่งนั้น ข้างในต้องมี “Growth Mindset” กรอบความคิดหรือทัศนคติ แนวคิดแบบยืดหยุ่นและเติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้า
ประกอบรวมกับ EF ซึ่งย่อมาจาก Executive Function ความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ดังนั้นการมี RQ จึงผสมกันทั้งการมี Growth Mindset เเละ EF ซึ่งเด็กทุกคนสามารถมีได้ หากได้รับการดูเเลอบรมที่ดี พ่อเเม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจในเรื่องนี้อย่างมาก
“จากผลวิจัยซึ่งทำระยะยาวพบว่า เด็กที่มีความสามารถรอได้เมื่อตอน 4 ขวบ เมื่อมีอายุมากขึ้นพบว่าส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดี และมีหน้าที่การงานดี มีรายได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการฝึกให้รอเป็นตั้งแต่เด็ก”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า การทำหน้าที่ของพ่อเเม่ ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตทางจิตใจของบุตรหลาน และต้องมีการฝึกฝนด้วย ไม่ว่าพ่อแม่จะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยต้องการเลือกสถานการณ์ให้ถูกต้อง ตามหลักพัฒนา 5 Point of EF intervention ได้แก่ Choose Situation – Change Situation – Choose Attention – Change Thoughts – Change Response พัฒนาไปพร้อมกับลูกๆ
ขณะที่จากการที่ตนได้สัมภาษณ์ทีมหมูป่า ผู้รอดชีวิตทั้ง 13 คน คุยเรื่องสภาพจิตใจ เรื่องการเอาตัวรอด การปรับตัว การตัดสินใจเเล้วนำมาวิเคราะห์การก้าวผ่านในปัจจัยต่างๆ พบว่าสิ่งสำคัญคือความสามัคคี การมีผู้นำเเละผู้ตามที่ดี มีความคิดในเเง่ดีจึงทำให้มีความหวังเเละกำลังใจ เป็นพื้นฐานที่ดีมากๆ ของสุขภาพจิตใจเด็ก เเละการเล่นกีฬาก็มีส่วนในการพัฒนา EF เเละ RQ อย่างมาก
ทั้งนี้ Samitivej Parenting Center จะเปิดโปรแกรมสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อการรักษาเด็กสมาธิสั้น (ADHD) และเด็กดื้อ(ODD) อายุระหว่าง 2-12 ปี โดยเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีโครงสร้างลักษณะเฉพาะและมีแบบแผนชัดเจนอิงตามแนวทางของ Russell A. Barkley ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมาธิระดับโลก โดยพ่อแม่และผู้ปกครองจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เรื่องโรคสมาธิสั้น และพฤติกรรมดื้อต่อต้าน อย่างครบวงจร อาทิ ฝึกสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก ฝึกการออกคำสั่งแบบมีประสิทธิภาพ ฝึกทักษะการปรับพฤติกรรม การเลือกโรงเรียน การรักษาโรคสมาธิสั้น ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-378-9125