เสวนา ‘ไม่มีจิ๋น…ไม่มีจีน’ กับการรวม7แคว้นเป็น1..จุดเริ่มต้นการปกครองแบบรวมศูนย์

Culture ศิลปวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ห้องโถงศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน(มติชนอคาเดมี) หมู่บ้านประชานิเวศน์1 มีการจัดเสวนา เปิดกรุสุสาน “จิ๋นซีฮ่องเต้” ไม่มีจิ๋น…ไม่มีจีน โดยมี ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ผศ.นวรัตน์ ภักดีคำ เป็นวิทยากร และ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ดำเนินรายการ

โดยเนื้อหาในวงเสวนาสรุปว่า ถ้าจีนไม่ผ่านช่วงเวลาที่จิ๋นซีปกครอง จะมีแคว้นเล็กๆเต็มไปหมด แต่จีนที่ระบบรัฐแบบนั้นหายไปได้คือคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของจิ๋นซีฮ่องเต้ จิ๋นซีเป็นคนเริ่มที่ทำให้เกิดการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าศูนย์กลาง ในแง่การปกครองจิ๋นซีฮ่องเต้ใช้เวลา 17 ปีในการรวมแคว้น โดยมีเว่ยเหลียวเป็นกุนซือให้จิ๋นซี ในการบ่อนทำลายอีก6แคว้นที่เหลือ ออกอุบายซื้อขุนนาง ติดสินบนขุนนางตามเมือง ตามแคว้นและค่อยๆบ่อนทำลายแคว้นเหล่านั้น พออ่อนแอก็ยกทัพเข้าไปตี พอกลืนเสร็จจิ๋นซีจึงใช้วิธีรวบอำนาจ

ทั้งนี้ ในยุคก่อนหน้าจิ๋นซี เป็นยุคที่ประเทศจีนยังไม่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน แบ่งออกเป็น 7 แคว้น คือ ฉิน เว่ย จ้าว ฉู่ ฉี เอียน หาน และทำศึกสงครามกันมาหลายร้อยปี แต่ละแคว้นมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง มีภาษา มีตัวหนังสือต่างกัน มีระบบชั่งตวงวัดแตกต่าง มีระบบเงินตราไม่เหมือนกัน จิ๋นซีเป็นผู้ที่ทำให้กลายมาเป็นหนึ่งอาณาจักร เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมา

ผศ.นวรัตน์ กล่าวถึงประวัติจิ๋นซีและการยึดครองแคว้นว่า ต้นตระกูลของจิ๋นซี เป็นพ่อค้าม้า แล้วหาม้าที่มีสายพันธุ์ดี ทำศึกได้ เอามาขายให้กษัตริย์ราชวงศ์โจว ในขณะนั้นอย่างมากก็ได้เป็นแค่แคว้น กว่าจะได้เป็นแคว้นเรื่อยๆลงมาจนกระทั่งกษัตริย์องค์หนึ่ง คือ ฉินเซี่ยวกง ฉินเซี่ยวกงถือว่าเป็นคนสำคัญมากของแคว้นฉิน เพราะว่าฉินเซี่ยวกงรับนโยบายจากชางยาง ว่า ถ้าเข้าพบฉินเซี่ยวกงถึงสามครั้ง ครั้งแรกบอกว่าอยากเป็นมหากษัตริย์ไหม ฉินเซี่ยวกงบอกชางยางคนนี้ใช้ไม่ได้ เพ้อเจ้อ พอครั้งที่สองบอกว่าถ้าไม่อยากเป็นมหากษัตริย์งั้นเอาเทียบเท่ากษัตริย์โจวเอาไหม ฉินเซี่ยวกง ก็บอกไม่เอา เพ้อเจ้ออีกเหมือนกัน

จนกระทั่งครั้งที่สาม ชางยางบอกว่าเอางี้ท่านอยากเป็นเจ้าแคว้นไหม แล้วก็บรรยายว่าอยากเป็นเจ้าแคว้นต้องทำอย่างไรบ้าง ฉินเซี่ยวกงอยู่บัลลังก์ถึงขนาดคลานเข่าลงไปคุยด้วย เพราะพูดได้น่าสนใจมากว่าถ้าฉันจะตีแคว้นอื่นฉันต้องทำยังไง ตอนนั้นฉินเซี่ยวกงหวังแค่นั้น ไม่ได้หวังว่าตัวเองต้องยิ่งใหญ่เป็นมหากษัตริย์ แต่ถ้าบอกว่าให้ไปตีแคว้นอื่น เอาดินแดนแคว้นอื่นไหม ทำเนียมจีนเขาบอกว่าพ่อแม่อยู่ที่เข่า เพราะฉะนั้นการคุกเข่าคือเป็นการขอโทษที่จริงใจมาก เพราะฉะนั้นฉินเซี่ยวกงถือว่าเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้แคว้นฉินยิ่งใหญ่ขึ้นมาเทียบเท่ากับแคว้นอื่นๆ โดยนโยบายของชางยางทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันโดยที่ไม่

ต้องบอกว่าต้นตระกูลเป็นใคร เป็นขุนนางไหม เป็นชนชั้นไหน จากฉินเซี่ยวกง ลงมาจนถึง องค์ที่หก คือจิ๋นซี ใช้ระยะเวลานานมาก หกชั่วคนกว่าจะมาถึงจิ๋นซี แต่นี่คือพื้นฐานที่ทำให้จิ๋นซีพัฒนาประเทศแล้วล้มแคว้นอื่นไปได้

นโยบายของชางยางคือ หนึ่งทหารต้องเข้มแข็งและอาณาจักรต้องร่ำรวย ความร่ำรวยของอาณาจักรจะได้ก็ต่อเมื่อประชาชนต้องรวยก่อน ชางยางได้รื้อระบบกฎหมายทั้งหมด ชางยางได้วิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยของการปฏิรูปแคว้นเว่ย ฉี ฉู่ ได้เสนอ 9 ทฤษฎีในการปกครองฉิน 1.นโยบายที่นา เลิกระบบนาแบบตัดกระทงนาร้อยโหม่วแต่ให้ตัดถนนระหว่างที่นา มีกฎหมายซื้อขายที่ดิน 2.นโยบายภาษี ล้มเลิกระบบจัดเก็บภาษีแบบเก่าเกษตรขึ้นอยู่กับจำนวนที่นา แรงงานอิงตามขนาดโรงงานซึ่งซางยางบอกว่า ราษฎรร่ำรวย ประเทศก็ร่ำรวย

3.นโยบายอวยยศจากภาษี ใครจ่ายภาษีมากได้เป็นขุนนาง เพื่อกระตุ้นให้ชาวนาผลิตเสบียงเข้าฉางหลวง 4.นโยบายความดีความชอบทหาร ได้บำเหน็จ ยศ ตามจำนวนที่ตัดหัวข้าศึกได้ ทำให้คนอยากเข้าเป็นทหาร 5.นโยบายการปกครองท้องถิ่นแบ่งเป็น 2 ระดับ มณฑล-จวิ้นและ อำเภอ-เสี้ยน ขึ้นเป็นส่วนกลาง 6.นโยบายผิดถ้วนหน้า แบ่งขุนนางระดับอำเภอเป็นสิบครัวเรือน เป็น 1 เจี้ย เมื่อมีคนทำผิด ให้ผิดทั้งสิบครัวเรือน ทำให้ราษฎรกลัวการทำผิดและกล้าที่จะทำความรับผิดชอบ

ผศ.นวรัตน์ ภักดีคำ
ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ

7.นโยบายชั่งตวงวัด ระบบชั่งตวงวัดของแคว้นฉินต้องเป็นเท่ากัน โดยรัฐบาลกำหนดมาตรฐาน ตรวจสอบ 8.นโยบายกำจัดอำนาจในการปกครองของขุนนางแต่ละระดับ โดยห้ามใช้อำนาจเห็นแก่พวกพ้อง 9.นโยบาย ล้มล้างความเชื่องมงายของราษฎร เช่น การฝังภรรยาตามสามี ธรรมเนียมกินอาหารเย็นห้ามใช้ไฟก่อนเทศกาลเช็งเม้ง  แต่ชางยางกลัวราษฎรจะไม่เชื่อและขุนนางในแคว้นฉินก็ไม่เชื่อ และมองว่าเสียผลประโยชน์ เสียอำนาจ

“ชางยางได้ตั้งเสาไม้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง โดยการเอาเสาไปปักไว้ที่ประตูเมืองทางทิศใต้ และติดประกาศว่าใครย้ายเสาต้นนี้จากประตูใต้ไปยังประตูทิศเหนือ จะให้รางวัล 10 ตำลึงทอง คนก็ไม่เชื่อ ชางยางจึงเพิ่มรางวัลเป็น 50 ตำลึงทอง ทำให้มีคนกล้ามาย้ายเสานี้ ชางยางก็ให้รางวัลตามที่ประกาศ และทำให้ราษฎรเชื่อถือ ชางยางจึงประกาศใช้กฎหมายใหม่”

การปฏิรูปของชางยาง ทำให้ฉินรุ่งเรือง แต่ทำให้ชนชั้นขุนนางเสียประโยชน์ ฉินฮุ่ยเหวินจวินบุตรชายของฉินเซี่ยวกงกระทำความผิด ชางยางให้ลงโทษไม่ไว้หน้าเพื่อรักษากฎหมาย ทำให้ฉินฮุ่ยเหวินจวินผูกใจเจ็บ ชางยางรู้ตัวว่าไม่รอดแน่ๆ เพราะทำโทษลูกขุนนางใหญ่ ชางยางหนีไปขอหลบซ่อน ณ โรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง แต่โดนปฏิเสธเพราะกฎหมายที่ชางยางบัญญัติไว้ระบุว่า ห้ามรับคนที่ไม่สามารถระบุตัวตนเข้าพักอาศัย ชางยางโดนจับกุมและถูกประหารด้วยวิธีเชอเลี่ย ผูกร่างกายเข้ากับรถเทียมม้าห้าคัน แล้วให้ม้าลากไปจนร่างฉีกขาด ฉินฮุ่ยเหวินจวินปฏิรูปบ้านเมืองตามชางยาง เปลี่ยนเป้าหมายจากการผนวกแคว้นส่วนกลางไปยึดแคว้นสู่ แคว้นปา ทางตะวันตกเฉียงใต้แทน

“จิ๋นซีขึ้นครองราชย์ก่อนค.ศ.247 พระชนม์ได้แค่ 13 พรรษาเท่านั้น เปรียบเหมือนฮ่องเต้หุ่น โดยมีไทเฮา หลี่วปู้เหวย และล่าวอาย ช่วยกันว่าราชการ แล้วจิ๋นซีมีหน้าที่ประทับตรา พออายุได้ 22 พรรษา ก่อนค.ศ. 238 ปี ได้เข้าพิธีราชาภิเษก สวมหมวกแล้วก็ว่าราชการเองได้ เพราะฉะนั้นพอจิ๋นซี อายุ 22 อันดับแรกคือ ปราบล่าวอาย ซึ่งมีข่าวซุบซิบว่าเป็นชู้กับแม่โดยที่ล่าวอายเข้าวังไปในฐานะขันทีปลอม ซึ่งคนที่ส่งเข้าไปก็คือ หลี่วปู้เหวย พอปราบล่าวอาย กำจัดหลี่วปู้เหวยได้เสร็จ ก่อนค.ศ. 230-ก่อนค.ศ.221 ปราบแคว้นหาน จ้าว เว่ย ฉู่ เอียน ฉี่ 6 แคว้น พอปราบหมดแล้วอายุได้ 39 พรรษา ได้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาอาณาจักรฉิน สถาปนาตนเองเป็น ฮ่องเต้ หรือ ฉินสื่อฮว๋างตี้ – จิ๋นซีฮ่องเต้

“ก่อนสวรรคตจิ๋นซีเสด็จประพาส คนก็ตีความกันไปว่าการเสด็จประพาสถึง 5 ครั้ง มันคือการไปดูอาณาจักร ไปดูกำแพงเมืองจีน แต่ว่าครั้งที่ 5 เสด็จไปไหนก็ได้มีการไปตั้งศิลาจารึกประกาศคุณงามความดีเอาไว้ตามยอดเขา จากนั้นครั้งที่ 5 ไปตายที่ซาชิว ซาชิวอยู่ที่เหอเป่ยปัจจุบันก็คือ เมืองหานตาน ตอนตายก็ได้มีประวัติเสนาบดีได้ปลอมราชโองการ ตายแล้วยังประกาศไม่ได้เพราะกลัวว่ารัชทายาทองค์จริงจะขึ้นมาครองตำแหน่งแล้วบงการไม่ได้ ก็เลยเอาปลาเค็มใส่ไว้ในรถเพื่อที่จะกลบกลิ่นศพ จนกระทั่งกลับไปเมืองหลวง แก้ราชโองการเรียบร้อยถึงได้ประกาศที่ไม่ใช่รัชทายาทขึ้นเป็นฮ่องเต้องค์ที่สองแทน

ประวัติศาสตร์มีมากมายหลายยุค ได้แก่ ยุคราชวงศ์โจว ที่มีทั้งราชวงศ์โจวตะวันตก ราชวงศ์ตะวันออก ซึ่งราชวงศ์โจวตะวันออก จะประกอบไปด้วย ยุคชุนชิว (771 – 476 ปีก่อนคริสตกาล) และจั้นกั่ว (476 – 256 ปีก่อนคริสตกาล) ราชวงศ์ฉิน (221 – 207 ปีก่อนคริสตกาล) ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ8)

สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก เป็นยุคสุดท้ายที่นิยมใช้สำริด ยุคที่พิธีกรรมเสื่อมสลาย มีการปรากฏหลักฐานศิลปกรรมที่เกี่ยวกับโลกหลังความตายที่เป็นต้นเค้าให้กับความเชื่อในยุคถัดมา (แนวคิดเรื่องหมิงซี่) ที่เป็นเรื่องของตุ๊กตา ความเชื่อของคนยุคนี้

สมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นยุคภาพสะท้อนการเปิดเส้นทางสายแพรไหม และเรื่องของความเชื่อโลกหลังความตายที่ยังคงอยู่ แต่อาจเปลี่ยนแปลงแนวคิดไป ซึ่งคือ แนวคิดเรื่องความสมจริงที่ไม่จำเป็นต้องเท่าคนจริง ๆ และแนวคิดเรื่องตุ๊กตาสัตว์ดินเผาที่เปลี่ยนจากเน้านม้าศึกกลายเป็นปศุสัตว์ แต่มีปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมัยราชวงศ์ฮั่นเปลี่ยนแปลงไป หรือการเปิดโลกทัศน์ของคนจีนในยุคนั่น ที่มีเส้นทางไปสู่ดินแดนโจวตะวันตก หรือเอเชียกลางซึ่งรวมไปถึงอินเดียด้วย

8