ชะอมเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม แต่เคยมีพบชะอมในป่า ลักษณะเป็นต้นไม้ใหญ่ วัดเส้นรอบวงของลําต้นได้ 1.2 เมตร ไม้ชะอมทีปลูกตามบ้าน จะพบในลักษณะไม้พุ่ม และเจ้าของมักตัดแต่งกิ่งเพือให้ออกยอดไม่สูงเกินไป จะได้เก็บยอดได้สะดวก ตามลําต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบเป็นใบประกอบขนาดเล็ก มีก้านใบแยกเป็นใบอยู่ 2 ทาง ลักษณะคล้ายใบกระถินหรือใบส้มป่อย
วิธีการขยายพันธุ์ชะอม
สามารถทำได้โดย การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง หรือการโน้มกิ่งชะอมฝังดินทำให้แตกรากใหม่เกิดเป็นต้นใหม่เพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถทำการขยายพันธุ์เองได้ หรือหาซื้อกิ่งพันธุ์ได้ตามร้านขายกิ่งพันธุ์ไม้ทั่วไป วิธีการปลูกชะอม ถ้าใช้กิ่งตอนจะนิยมยกร่องแล้วขุดหลุมปลูกบนร่อง
ทั้งนี้ เพราะป้องกันน้ำท่วมขังทำให้รากชะอมเน่าตายได้ โดยทั่วไปจะปลูกห่างกันต้นละประมาณ 30-50 เซนติเมตร เป็นแถวเป็นแนวหรือปลูกเป็นแปลงระยะห่างของแถวประมาณ 1 เมตร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ จะนิยมปลูกแบบแถวคู่ ระยะห่างของแถว 1 เมตร แต่ถ้าปลูกริมรั้วบางครั้งก็ใช้แถวคู่ ระยะห่างระหว่างแถวและระหว่างต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร
การดูแลและการเก็บยอดชะอม
เมื่อปลูกชะอมได้ประมาณสัก 3 เดือน ให้รดน้ำวันเว้นวัน ต้นชะอมจะชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะเพราะจะทำให้รากเน่าตายได้ ชะอมก็จะเริ่มแตกยอดอ่อนมาให้เก็บไปขายหรือใช้บริโภคได้แล้ว และเมื่อเก็บยอดชะอมไปขาย ชะอมก็จะแตกยอดใหม่มาเรื่อย ๆ ควรดูแลรักษาต้นชะอมโดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหลังจากปลูกชะอมได้ 2-3 เดือน จะทำให้ต้นชะอมแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี
การกระตุ้นการแตกยอดอ่อนของชะอม
เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยยูเรีย เพื่อกระตุ้นการแตกยอดใหม่ของชะอม แต่ควรใช้ในอัตราที่น้อยและต้องใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักด้วยจะทำให้ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์มาก ต้นชะอมจะเจริญเติโตดีด้วยการกระตุ้นการแตกยอดอ่อนของชะอม
อีกวิธีหนึ่งก็คือใช้น้ำหมักชีวภาพ ที่หมักจากยอดอ่อนของพืชชนิดต่าง ๆ ปริมาณการใช้อัตราส่วนน้ำหมัก 1 ลิตร ต่อน้ำ 40 ลิตร รดทุก 7 วัน ชะอมจะแตกยอดอ่อนได้ดี และช่วยให้ต้นแข็งแรงดีด้วย แต่ก็ควรใส่ปุ๋ยหมักในดินให้กับต้นชะอมด้วยจะดีมาก จากการปลูกชะอมโดยวิธีธรรมชาตินี้เกษตรกรทำกันมานานแล้วเป็นอย่างนี้สืบต่อเรื่อยมา
วิธีการปลูกชะอม 1 ต้น ร้อยยอด
ต้นชะอมเป็นไม้เลื้อยจะแตกยอดตามกิ่งและเกษตรกรจะเก็บยอดอ่อนไปจำหน่ายหรือบริโภค ฉะนั้นการปลูกชะอมก็ไม่จำเป็นต้องปลูกหลายต้น แต่เราจะปลูกต้นชะอม 1 ต้น แล้วปล่อยให้ชะอมมันเลื้อยทอดยอดไปเรื่อยๆ โดยเราก็จะจับลำต้นชะอม ให้ทอดยอดสูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วใช้เชือกฟางมัดไว้กับหลักที่ปักไว้เป็นแถวห่างกันระยะ 50 เซนติเมตร ให้ต้นชะอมเลื้อยขนานกับพื้นดินสูง 50 เซนติเมตร ยาวไปเรื่อย ๆ โดยปักหลักมัดกิ่งไม่ให้ล้ม ชะอมก็จะออกยอดตามลำต้นยาวไปเรื่อย ๆ เรียกว่าปลูกชะอม 1 ต้นแต่เก็บได้ร้อยยอด
เป็นการประหยัดพื้นที่ปลูกชะอม และถ้าเราจะเปลี่ยนหลักไม้ไปปลูกผักหวานแทนข้าง ๆ หลักที่ปักไว้ ก็จะมีผักอีกชนิดหนึ่งไว้รับประทานได้อีกด้วย และนี่ก็คือการจัดการการปลูกผักวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์
ผู้เขียน : นายสรณพงษ์ บัวโรย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ