บางคนใช้ใบตองในการรองอาหารเพื่อความน่ากิน บางคนขี้เกียจล้างคราบมันบนจานจึงใช้ใบตองแทน
ความจริงแล้ว ใบตองมีประโยชน์มากมาย หลายคนคงยังไม่เคยรู้ว่า ใบตองมีความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biodegradability) ที่ดีเยี่ยมด้วย
เนื่องจากสารสกัดจากใบตองมีสรรพคุณยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ (antimicrobial effects) ที่มีฤทธิ์ต้านออกซิแดนต์ (antioxidants) โดย “สารประกอบแทนนิน” (Tannin) , “สารประกอบพอลิฟีนอลิก” (Polyphenolic compounds) อย่างเจ้า “เอพิแกลโลคาเทชิน แกลเลต” (Epigallocatechin gallate : EGCG) และเจ้าสารกันหืนยอดนิยมอย่าง “บิวทิลเลตเตด ไฮดรอกซีโทลูอีน” (Butylated hydroxytoluene : BHT) ในปริมาณเล็กน้อย จึงทำให้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และเป็นสารกันหืนที่ดีด้วย ทำให้สามารถยืดอายุของอาหารได้ดีด้วย
นอกจากนั้น ใบตอง ยังมีสารไข (waxes) ที่เคลือบอยู่ที่ผิวใบตามธรรมชาติ สารไขเหล่านี้มีองค์ประกอบของกรดไขมันหลายๆชนิดอยู่รวมกัน เช่น behenic acid, lignoceric acid, palmitic acid และ stearic acid ที่เป็นไขแข็ง และเมื่อได้รับความร้อนจะหลอมละลายออกมาและทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวที่มีกลิ่นหอมแล้วทำให้กลิ่นอาหารนั้นหอมไปอีกแบบด้วยนะ
รวมถึงสารระเหยชนิดต่างๆ (Volatile organic compounds : VOCs) เช่น สารประกอบไฮโดรคาร์บอนอย่าง Heptadecane, Heneicosane, Octacosane, Tetriacontane, 10-Methylnonadecane, 3, 7, 11, 15-tetramethyl-Hexadecane, n-Pentadecylcyclohexane รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆที่ทำให้อาหารนั้นมีกลิ่นที่ดีขึ้นด้วย
อีกทั้ง ใบตองยังย่อยสลายง่าย ทำให้ขยะเหลือตกค้างนั้นไม่มี อย่างไรก็ตามวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายนั้น มักจะถูกย่อยสลายในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic digestion) ออกมาเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) และน้ำได้ดี และแน่นอนว่าออกซิเจนที่ถูกใช้ในการย่อยสลายนั้นโดยเฉพาะในแหล่งน้ำนั้นอาจจะทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ (Dissolved Oxygen : DO) ลดลงเนื่องจากค่า Biochemical Oxygen Demand (BOD) และค่า Chemical Oxygen Demand (COD) ที่สูงของวัสดุเหล่านี้ด้วย
นอกจากนั้นถ้าทิ้งในสภาวะฝังกลบ (Landfill) จนออกซิเจนไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วยย่อยสลายได้ (Anaerobic digestion) คราวนี้แก๊สที่ถูกปลดปล่อยจากการย่อยสลายก็จะกลายเป็นมีเธน (CH₄) แทน
แน่นอนว่า ทั้งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และมีเธนนั้นต่างก็เป็นแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas : GHG) มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน โดยที่มีเธนนั้นจะให้ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ที่ทำให้โลกร้อนได้ถึง 25 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
แต่ยังโชคดีที่ว่า มีเธนเป็นแก๊สติดไฟได้ และสามารถนำมาทำเป็นแก๊สชีวมวล (biogas) ที่เมื่อเผาไหม้จะทำให้กลายเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำออกมาด้วย จึงมีแนวคิดที่น่าสนใจจากหลายๆงานวิจัยที่พยายามหาเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสารอินทรีย์แล้วได้มีเธนออกมาเป็นเชื้อเพลิงตามบ้าน
ดังนั้นการจัดการขยะที่ย่อยสลายง่ายเหล่านี้ เราควรที่จะพิจารณากระบวนการจัดการขยะให้เหมาะสมด้วย อย่าคิดว่าเป็นขยะที่เกิดจากวัสดุธรรมชาติ แล้วเราจะละเลยการจัดการขยะเหล่านี้ได้
ดังนั้น บ้านไหนปลูกต้นกล้วยเอาไว้ ตัดมาใช้กันเถอะ ขอเพียงเลือกใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและจัดการขยะให้เหมาะสม
ข้อมูล : เพจเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว