ผลวิจัยจาก “เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์” ที่วิจัยเกี่ยวกับสินค้าที่จะมาในปี ค.ศ. 2020 โดยสาเหตุมาจากปัญหาขยะล้นโลกในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่เข้าสู่ขั้นวิกฤติ ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยผู้คนในประเทศไทยสร้างขยะ 27.82 ล้านตันต่อปี หรือ 76,219 ตันต่อวัน เฉลี่ยคนไทยก่อขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน อีกทั้งยังมีชื่อติดอันดับ 6 ของโลก กับตัวเลขปริมาณ “ขยะล้นทะเล”
ในความโชคร้ายก็ยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ร้านค้าปลีกจะ “เลิก” ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single – Use Plastic) ที่เคยใส่ของให้กับลูกค้า ขณะที่กระบวนการ “รีไซเคิล” และ Circular Economy ลดปัญหาขยะ กลายเป็นวาระสำคัญที่ผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์ต่างๆ หยิบยกมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ผลวิจัย เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ (Tetra Pak Index) ที่ดำเนินการมา 12 ปีต่อเนื่อง รายงานฉบับล่าสุดประจำปี 2019 ที่จัดทำร่วมกับบริษัท อิปซอสส์ (Ipsos) ชี้เทรนด์ความต้องการผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
หากสินค้าแบรนด์ต่างๆ หยิบยก 2 เรื่องนี้มาใช้ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ในการวางแผนการตลาดสินค้าในปี 2020 จากผลสำรวจผู้บริโภคเชื่อว่าตนเองเป็น ผู้รับผิดชอบอันดับแรก ทั้งต่อสุขภาพตัวเองและสิ่งแวดล้อม และรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้กับโลกที่เราอยู่ โดยเฉพาะปัญหา “ขยะ” เพื่ออนาคตของลูกหลานกลุ่ม New Gen
ตัวเลขที่ออกมาบ่งชี้ว่า 82% ของผู้บริโภคคิดว่าการดำเนินชีวิตแบบบใส่ใจสุขภาพนั้น มีความสำคัญเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี 47% เชื่อว่าการเลือกซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพของตัวเอง มีผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยคิดว่าการผลิตอาหารและขยะบรรจุภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบ
กับสิ่งแวดล้อม 59% เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคต จึงเป็นที่มาของเทรนด์ผู้บริโภคปี 2020 ที่จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการดูแลสุขภาพไปพร้อมกัน
สำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องการใช้ขยะพลาสติก แต่เห็นความตื่นตัวของผู้บริโภคในการลดการใช้ถุงพลาสติก ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการดูแลสิ่งแวดล้อม ดังนั้น พฤติกรรมผู้บริโภคทุกภูมิภาครวมทั้งเอเชียปี 2020 ไปในแนวทางไม่ได้ติดยึดกับแบรนด์ใหญ่ แต่มองหาแบรนด์ที่สร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อม ขณะที่เทรนด์การดูแลสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “แพ็คเกจจิ้ง” หรือบรรจุภัณฑ์มากที่สุด โดยเฉพาะความสามารถในการนำกลับมารีไซเคิลใหม่นั้น มาเป็นอันดับแรก พบว่าเกือบ 4 ใน 5 หรือ 80% ของผู้บริโภคทั่วโลก ยอมจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อแพ็คเกจจิ้งอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่เกือบ 2 ใน 5 ยินดีจ่ายเงินสูงกว่าให้กับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ผู้บริโภค ปี 2020 มีพฤติกรรมต่อต้านการใช้พลาสติกมากขึ้น เกือบ 2 ใน 3 ของผู้บริโภค เชื่อว่าคนที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม จะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก และ 1 ใน 3 มีแผนจะใช้พลาสติกน้อยลง จากแนวโน้มผู้บริโภคที่มองหาแพ็คเกจจิ้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ หากสินค้าแบรนด์ใดที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่า และกลายมาเป็น “ตัวเลือก” ของผู้บริโภค ซึ่งวันนี้การที่แบรนด์จะอยู่รอดและเติบโตได้ เพียงการทำกำไรอย่างเดียวไม่พอ แต่แบรนด์ต้องมีบทบาทที่ชัดเจนในการดูแลสิ่งแวดล้อม การคืนประโยชน์กลับสู่สังคม รับผิดชอบต่อสังคมด้วย จึงจะกลายเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าและถูกเลือกจากผู้บริโภค
นอกจากนี้ Tetra Pak Index 2019 ยังรายงานระบุถึงผู้บริโภค 6 กลุ่ม ที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ละกลุ่มมีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งความเชื่อและค่านิยม รวมทั้งแรงผลักดันและความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1.กลุ่ม Active Ambassadors สัดส่วน 8% จัดเป็นกลุ่มผู้นำสังคมที่ลุกขึ้นมาจุดกระแสการทำกิจกรรมเรื่องดูแลสิ่งแวดล้อม เก็บขยะ แยกขยะ รีไซเคิล เรียกว่าเป็นกลุ่มรักษ์โลกตัวจริงเสียงจริง
2.กลุ่ม Planet Friends สัดส่วน 14% เป็นกลุ่มที่พร้อมสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าทำแล้วดีต่อโลกและสังคมที่อยู่อาศัย แต่กลุ่มนี้ยังไม่ถึงขั้นลุกขึ้นมาจุดกระแสนำเทรนด์ แต่พร้อมทำตามเทรนด์รักษ์โลก 3.กลุ่ม Health Conscious ใส่ใจสุขภาพ สัดส่วน 10% ให้ความสำคัญกับอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารออร์แกนิก ที่จะเป็น Big Word ทำให้เกิด Brand Value ในกลุ่มผู้บริโภคสายเฮลท์ตี้ 4.กลุ่ม Followers หรือพวกตามเทรนด์ สัดส่วน 31% เป็นกลุ่มที่รับรู้ (Awareness) ประเด็นการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ไม่แอคทีฟเท่ากับกลุ่มนำเทรนด์และกลุ่มรักษ์โลก แต่ก็พร้อมปฏิบัติตาม
5.กลุ่ม Sceptics สัดส่วน 18% กลุ่มนี้จะมองเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นแค่กระแส จึงไม่คิดที่จะทำตาม ใช้ชีวิตบริโภคเหมือนเดิม และมีความคิดเชิงลบต่อกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม 6.กลุ่ม Laggards เป็นพวกเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ สัดส่วน 18% เป็นกลุ่มที่อยู่ในอาการมึน งง กับประเด็นการดูแลสิ่งแวดล้อม แม้จะรับรู้เรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำตาม แต่หากต้องการให้กลุ่มนี้ทำตาม จะต้องมาจากถูกกดดันทางสังคม หรือมีกฎหมายบังคับให้ปฏิบัติ
จากผลการวิจัยเทรนด์ผู้บริโภคในปี 2020 “แบรนด์” ที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตได้ จะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและการมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์สุขภาพ นอกจากการนำเสนอสินค้าและบริการที่ดี