อาหารญี่ปุ่น กลายเป็นอาหารฮิตติดอันดับ ที่คนทั่วโลกนิยมรับประทาน ขึ้นแท่นและครองแชมป์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะมีไขมันต่ำ ซึ่งผลการสำรวจของ “เจโทร” หรือ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นเอง พบว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2543 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี
โดยในปี 2562 มีร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งสิ้น 3,637 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 21% แยกเป็นร้านในกรุงเทพฯ 1,993 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 1,718 ร้าน ร้านในต่างจังหวัดจากเดิม 1,286 ร้าน เพิ่มขึ้นเป็น 1,644 ร้าน และประเภทของร้านที่มีจำนวนมากที่สุด คือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น มี 893 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 19% รองลงมาเป็นร้านซูชิ มี 683 ร้าน ร้านราเมน 429 ร้าน สุกี้หรือชาบู 427 ร้าน และอิซากายะ (ร้านปิ้งย่าง) 283 ร้าน
แค่ตัวเลขนี้ที่กล่าวมาข้างต้น นักธุรกิจไฟแรงอย่าง “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” เจ้าของข้าวถุงตราไก่แจ้ ย่อมตาลุกวาวและมองการณ์ไกลในการต่อยอดธุรกิจของเขาที่ค้าขายเกี่ยวกับ “ข้าว” อยู่แล้วในแบรนด์ “ไก่แจ้” ดังนั้น ช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม ปีหน้า (2563) ธีรินทร์จึงออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เป็นข้าวถุงเช่นเคย แต่ครั้งนี้เป็น “ข้าวญี่ปุ่น” บรรจุถุง ออกมาตีตลาดแข่งกับอีกหลายๆ ยี่ห้อที่มีอยู่ในขณะนี้ ก่อนจะเล่าถึงข้าวญี่ปุ่นธีรินทร์บอกว่าที่อยากทำข้าวถุงที่เป็นข้าวญี่ปุ่น เนื่องมาจากมีลูกค้าถามหาจำนวนมาก และที่สำคัญที่สุดคือลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์ของไก่แจ้ ว่าถ้าทำสินค้าอะไรออกมาก็ตาม ต้องคำนึงถึงคุณภาพ
“ดังนั้น นอกจากธัญพืชและถั่วแล้ว สินค้าหนึ่งที่ทำออกมาตอนนี้ คือ ข้าวญี่ปุ่น ผมมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงแรม ร้านอาหารญี่ปุ่นเยอะมากทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ แล้วเขาก็ถามมาว่าอยากได้ข้าวญี่ปุ่นจากเรา ส่วนเราเองก็อยู่ในธุรกิจข้าว มีเครื่องจักร อุปกรณ์ที่พร้อมในการผลิต จึงตัดสินใจทำข้าวญี่ปุ่นเป็นข้าวถุงออกมาขาย ซึ่งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ทำแพ็คเกจจิ้งเสร็จแล้ว และได้ทดลองเทสต์กับเชฟที่เป็นลูกค้าอาหารญี่ปุ่น เขาแฮปปี้ โอเค ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้เลย ในระยะแรกจึงทำเป็นแพ็คใหญ่ก่อนเพื่อส่งร้านอาหารเกรดบนหรือไฮเอนด์ เรียกว่ายังไม่ได้เปิดตลาดเต็มตัว จากนั้นปลายเดือนธันวาคมปีนี้ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2563 น่าจะบุกตลาดได้เต็มที่ด้วยความที่ข้าวของเราเป็นพรีเมี่ยมแมส ต้องบอกอย่างนั้น”
ธีรินทร์ บอกด้วยว่า ข้าวญี่ปุ่นที่นำมาทำเป็นข้าวถุง ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของไก่แจ้นั้น ไม่ได้มาไกลจากที่ไหน แต่เป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รับซื้อมาจากเกษตรกร แล้วผ่านขั้นตอนขบวนการคัดกรองต่างๆ ของทางโรงงาน มีการการันตีคุณภาพ ต้องได้มาตรฐานตามที่ตั้งไว้ “กว่าจะผ่านออกมาได้ เราเทสต์ข้าวไปแล้วถึง 100 ตัน เป็นการทดลองตลาดดูก่อนด้วยโดยใช้แบรนด์ไก่แจ้นี่แหละ ปริมาณการผลิตตอนนี้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า แต่ต้นปีหน้า มกราคม 2563 เราจะลงเต็มที่ ซึ่งผมมองว่าปริมาณการผลิตสามารถรองรับกับความต้องการของลูกค้าได้ ไม่น่าติดขัดหรือมีปัญหาอะไร เพราะผมมีสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าได้ตลอด ไม่เคยขาดตลาด อย่างช่วงที่ข้าวเหนียวมีราคาสูง ผมก็มีของให้ลูกค้าตลอด ไม่ขาดเลย”เจ้าของข้าวไก่แจ้การันตีตัวเอง
สำหรับ “ข้าวญี่ปุ่นตราไก่แจ้” เป็นการต่อยอดจากธุรกิจข้าวถุงหรือข้าวสารตราไก่แจ้ที่ธีรินทร์ได้สร้างตลาดมาระดับหนึ่งแล้ว “สิ่งที่ผมพูดออกไปไม่ใช่แค่เพื่อจะเชียร์ตัวเอง วันนี้ผมพูดอะไรก็แล้วแต่ คนที่จะเชื่อผมก็คือคนที่เคยใช้ไก่แจ้มาก่อนเขาเชื่อในความเป็นไก่แจ้ ผมเชื่อว่าตอนนี้แบรนด์ไก่แจ้เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดข้าวถุงในประเทศ แบรนด์ตัวนี้คนมั่นใจ เพราะว่าอะไรใครจะคิดว่าอยู่ดีดีทำข้าวถุงออกมาแบบโนเนมแล้วกลายเป็นติดตลาด ถ้าของไม่ดีจริงก็คงทำไม่ได้ ตรงนี้เป็นจุดแข็งของเรา จุดแข็งอีกอย่างคือช่องทางจัดจำหน่าย เรามีกระจายทุกพื้นที่ มีฐานลูกค้าทุกอำเภอ ทุกตำบลทั่วประเทศไทย ราคาขายส่งจากโรงงานอยู่ที่ประมาณ 160-170 บาทต่อ5กิโลกรัมเป็นตลาดกว้าง ถูกกว่าข้าวหอมมะลิ ราคาขายปลีกไม่น่าเกิน 200 บาทต่อ5กิโลกรัม เป็นกลุ่มที่โอเคสำหรับข้าวญี่ปุ่นที่จะนำไปทำซูชิขายได้ราคาหรือตลาดนัดก็ซื้อได้”
ล่าสุด มีการทำโค-แบรนด์ ระหว่างข้าวไก่แจ้กับขนมแบรนด์แม่นภา คือนำข้าวเหนียวตราไก่แจ้ไปทำเป็นวัตถุดิบในการทำขนม และวางขายสำหรับเป็นข้าวเหนียวนึ่งในร้านส้มตำ ซึ่งข้าวเหนียวถุงมีจำหน่ายในบิ๊กซี และโมเดิร์นเทรดทั่วไป
สำหรับสถานการณ์ข้าวไทยในขณะนี้ ธีรินทร์มองว่าถ้าพูดถึงเรื่องราคาอย่างข้าวหอมมะลิใหม่ ในปีที่ผ่านมาราคาตกลงไปช่วงหนึ่ง แต่เวลานี้มีแนวโน้มแข็งตัวขึ้นแต่อาจไม่มาก เนื่องจากปัจจัยการส่งออก ความต้องการจากต่างประเทศ และเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดคู่แข่งจากต่างชาติมากขึ้น ทั้งจีนเป็นผู้ส่งออกเอง เวียดนาม กัมพูชาที่ปลูกข้าวออกมาแข่ง แม้กระทั่งอินเดียเวลานี้ก็ปลูกข้าวเพื่อส่งออก ทำให้สถานการณ์ข้าวไทยโดยเฉพาะการส่งออกเหนื่อยหน่อย และข้าวไทยถ้าเทียบในระดับโลกแล้ว ข้าวไทยราคาแพงมาก
“ผมทำส่งออกเยอะ เดินทางแทบจะทุกทวีป สิ่งที่ได้เห็นคือพอเศรษฐกิจไม่ดีคนก็เริ่มมองหาสิ่งที่ถูกลง มองหาทางเลือก มีออฟชั่นในเรื่องสินค้าจากประเทศอื่นขึ้นมา ทำให้ข้าวไทยเกิดคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น บวกกับค่าเงินที่แข็งค่าเยอะมากทำให้การแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลำบากหน่อย ถึงอย่างไรผมว่าราคาข้าวไม่น่าจะถูกกว่านี้ในปีหน้า น่าจะทรงๆ ส่วนราคาในประเทศไทย ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิเก่าราคายังสูงเพราะเป็นข้าวที่คนไทยบริโภคมากที่สุด ถ้าข้าว 5% ก็ ราคา 70บาทปลายๆ ถึง80-90บาท ส่วนในเรื่องคุณภาพผมว่าข้าวไทยยังเป็นอันดับ 1 ในใจของคน คนอยากจะซื้อ แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีทางเลือกก็ต้องมาพอเงินไม่พอตลาดที่ไม่มีกำลังก็อาจต้องถอยลงไปบ้าง”
ธีรินทร์ สรุปตอนท้ายว่า ข้าวไก่แจ้ปีที่แล้วยอดขาย 2,200 ล้านบาท ปีนี้ 2,500 ล้านบาท ปีหน้า(2563) ตั้งเป้าที่ 3,000 ล้านบาท “…ตลาดต่างประเทศเราโตเร็วมากภายใน 2-3ปีนี้ จากไม่มียอดเลย ตอนนี้มียอดประมาณ 300 กว่าล้านบาท ตลาดต่างประเทศมีอัตราเติบโตสูงกว่าตลาดในประเทศ สัดส่วนอยู่ที่ 80/20 ปีนี้ข้าวไก่แจ้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 36 แล้ว จากเดิมขายในระดับอำเภอ ตอนนั้นโรงงาน 80 ตารางวา เวลานี้ทุกอย่างเติบโตขึ้น ถือว่าข้าวไก่แจ้เป็นแบรนด์ท็อปในประเทศ”