ชาวนาเมืองอุบลฯ ทำ “ข้าวเม่า” ขาย รายได้เดือนละเกือบแสน
ข้าวเม่า จัดเป็นอาหารว่างอย่างหนึ่งที่มีกลิ่นหอม รสอร่อย เป็นที่นิยมรับประทานในหมู่คนทางภาคอีสานอย่างกว้างขวาง และในปัจจุบันนี้พบว่า ประชาชนในภาคอื่นๆ ก็นิยมรับประทานข้าวเม่าด้วยเช่นกัน บางท้องที่นำข้าวเม่ามาแปรรูปเป็นขนมหวานในรูปแบบต่างๆ กัน ที่สำคัญเมื่อรับประทานแล้ว จะทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานเหมือนกับการรับประทานข้าว ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าข้าวเม่านั้นทำมาจากข้าวดีๆ นี่เอง จะเรียกว่าเป็นอาหารว่างหรือขนมก็ไม่ผิด
การทำข้าวเม่า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวชนบท ที่มีมานานตั้งแต่สมัยโบราณกาล ในอดีตพบว่า ชาวนาจะทำข้าวเม่าเพื่อใช้รับประทานเป็นอาหารว่างและใช้เป็นของฝากญาติพี่น้อง แต่คนเก่าแก่บอกว่า นอกจากทำเพื่อรับประทานแล้ว ยังทำเพื่อนำไปเซ่นไหว้ผีเจ้าปู่ที่รักษาไร่นา หรือที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นอีสานว่า ผีตาแฮกนั่นเอง เหตุที่ต้องเซ่นไหว้ก็เพราะว่าต้องการให้ ผีตาแฮก ดลบันดาลให้นาข้าวได้ผลผลิตสูงในปีนั้นๆ แต่ในปัจจุบันนอกจากจะทำข้าวเม่าตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านยังทำเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริมยามเว้นว่างจากการทำนาในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ในแต่ละปี และมีบางหมู่บ้านหรือบางครอบครัวที่ทำข้าวเม่าขายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว จนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม
คุณเกตธิดา มั่นวงค์ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 200 หมู่ที่ 3 บ้านดอนงัว ตำบลไหล่ทุ่ง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ทำข้าวเม่าขาย สร้างรายได้ในยามว่างเว้นจากการทำนา โดยคุณเกตธิดา เล่าว่า ตนเองทำข้าวเม่าขายมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก่อนก็ทำนาอย่างเดียว ต่อมาเห็นเพื่อนบ้านทำข้าวเม่าขายมีรายได้ดี จึงชวนสามีหันมาทำบ้าง โดยใช้เวลาว่างหลังจากดำนาเสร็จ กว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตก็หลายเดือน ช่วงที่รอเก็บเกี่ยวข้าวในนา จึงถือเป็นช่วงเวลาทองที่ต้องรีบทำข้าวเม่าขาย ตนเองทำกับสามีและมีลูกสาวอีก 2 คน ที่กำลังเรียนอยู่ มาคอยช่วยเหลือในวันหยุดและในเวลาที่พวกเขาเลิกเรียนในวันธรรมดา ส่วนข้าวที่นำมาทำข้าวเม่านั้น ต้องไปซื้อที่อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี เพราะทางนั้นเขาจะปลูกข้าวก่อน เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนที่หมู่บ้านพวกตนเอง ในช่วงที่ทำข้าวเม่านี้ ต้นข้าวยังไม่ออกรวงเลย
ราคาข้าวเม่าที่ขายในเวลานี้ก็คือ ขายส่งกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งจะทำขายส่งอย่างเดียว เนื่องจากมีแม่ค้าที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมาซื้อทุกวัน แล้วเขาก็นำออกไปขายที่ท้องตลาดในตัวอำเภอตระการพืชผล ดังนั้น เรื่องตลาดจึงไม่มีปัญหา นอกจากนี้ ยังมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่มาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด มาซื้อข้าวเม่าจากเพื่อนบ้านของตนเองไปจำหน่ายที่อื่นด้วย ทุกคนในหมู่บ้านที่ผลิตข้าวเม่า จึงไม่มีปัญหาด้านการตลาดเลย ในแต่ละวันถ้าผลิตได้มาก ก็จะได้เงินมาก ในแต่ละปีทุกคนจะทำข้าวเม่าขายในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ถามถึงกำไร…ในส่วนของตนเอง หลังจากหักลบต้นทุนผลผลิตแล้ว จะมีกำไร ตกวันละ 1,000 บาท เป็นอย่างต่ำ เดือนหนึ่งๆ ก็ตกประมาณ 30,000 บาท ก็พออยู่พอกิน และเหลือเก็บ พอได้ฝากธนาคารอยู่บ้าง ถ้ามีแรงทำมากกว่านี้ ก็จะมีกำไรดีกว่านี้ อย่างเพื่อนบ้านบางคนได้กำไรเป็นแสน เขามีแรงงานหลายคน ก็จะผลิตข้าวเม่าได้เยอะ เขาจึงมีกำไรมาก ตกเดือนละ 100,000 บาทก็มี หากท่านใดต้องการซื้อข้าวเม่าจากตนเอง ก็สามารถโทร.สั่งได้ โทร. (061) 692-7179 ข้าวเม่าที่นี่ อร่อย นุ่ม รสหอมหวาน เก็บไว้ได้นานวันอีกด้วย
คุณเกตธิดา เล่าถึงกรรมวิธี ขั้นตอนการผลิตข้าวเม่า ว่าเมื่อปักดำนาเสร็จ ก็จะไปหาซื้อข้าวที่ออกรวงแล้ว ซึ่งจะมีอยู่ที่อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากบ้านประมาณ 30 กิโลเมตร ที่นี่เขาทำนาปีละ 2 ครั้ง จึงมีข้าวที่พร้อมทำข้าวเม่าก่อนหมู่บ้านอื่น ส่วนข้าวในนาของพวกตนเองนั้นยังไม่ออกรวง ส่วนข้าวที่นำมาทำข้าวเม่านั้น คือข้าวเหนียว ซึ่งทำได้ทุกพันธุ์
เมื่อไปหาซื้อข้าวได้แล้ว ก็จะแกะเมล็ดข้าวดูว่า พอที่จะทำข้าวเม่าได้หรือยัง เมล็ดข้าวที่จะเอามาทำข้าวเม่าจะต้องไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป จากนั้นเลือกเอาเมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ (เมล็ดข้าวลีบ) ออก ค่อยลงมือทำตามขั้นตอนคือ ขูดข้าวเม่าด้วยไม้ไผ่ที่เหลา บางๆ ยาวประมาณ 5 นิ้ว ใช้กระด้งรองข้าวที่ขูด แต่ในปัจจุบันได้ใช้เครื่องขูด จากนั้นนำไปนึ่ง ประมาณ 30 นาที แล้วเอามาคั่วจนมีกลิ่นหอม จึงนำไปตำด้วยครกมอง (ครกกระเดื่อง) ปัจจุบันใช้เครื่องยนต์รถอีแต๋น หรือรถไถนาเดินตาม ตำแทนแรงงานคน
ขั้นตอนการตำนี้จะยุ่งยากสักหน่อย มี 3 ขั้นตอน เรียกว่า ขั้นตำ คือทำให้เมล็ดข้าวกะเทาะออก แล้วนำมาร่อนรำออก ตามด้วยการฝัดเอาแกลบออก ต่อไปก็เป็นขั้นต่าว หรือเรียกว่าตำครั้งที่ 2 ตำเสร็จก็ร่อนรำร่อนแกลบออกเช่นเดิม และตำขั้นสุดท้าย เรียกว่า ขั้นซ้อม ปิดท้ายด้วยร่อนรำร่อนแกลบออก ซึ่งการตำแต่ละครั้งนั้น จะใช้เวลาประมาณ 20 นาที เมื่อทำเสร็จก็จะเอาใบกล้วยและใบตองชาด มารองหรือห่อ เพื่อรักษาความนิ่มของข้าวเม่า หากเก็บในภาชนะอื่น ข้าวเม่าจะแข็งตัวเร็ว และไม่มีกลิ่นหอม
เนื่องจากขั้นตอนการทำยุ่งยาก ในปัจจุบันนี้ พวกตนเองจึงได้พัฒนาการผลิตเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย คือการใช้เครื่องจักรกลแทนคน แต่เวลาตำก็ใช้ครกมองเช่นเดิม เพียงแต่ใช้เครื่องยนต์ของรถไถนาเดินตาม มาต่อพ่วงให้ตำแทนคน โดยใช้เครื่องยนต์ติดตั้งที่หางครก ใช้ระบบสายพานคล้ายกับโรงสีข้าว เชื่อมโยงใส่กับครกมอง พอเปิดเครื่องยนต์ขึ้น ครกก็จะกระดกขึ้นลงเหมือนคนตำ แต่ทำให้เมล็ดข้าวแตกได้ในเวลาที่รวดเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า คุณเกตธิดา มีความพยายามสูงที่จะฟันฝ่าอุปสรรคในการดำเนินชีวิต โดยรู้จักคิดนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ในอดีต คือการทำข้าวเม่า มาพัฒนาประยุกต์เปลี่ยนจากการทำเพื่อบริโภคในครัวเรือน ไปสู่งานอาชีพที่ยั่งยืนได้ในอนาคต อีกทั้งเป็นการสืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้อีกด้วย ที่สำคัญเงินรายได้จากการขายข้าวเม่าในแต่ละปีนั้น มากพอที่จะส่งให้ลูกสาว 2 คน เรียนจบในระดับปริญญาตรี ได้อย่างสบายๆ และยังจะทำให้ครอบครัวของเธอเอง มีความอยู่ดี กินดี ไม่ต้องหนีจากบ้านเกิดไปขายแรงงานยังต่างถิ่นอีกต่อไป
ที่มา : ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ เทคโนโลยีชาวบ้าน
ผู้เขียน : กิตติภณ เรืองแสน