ผมคิดว่า การปรุงอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian Food) ให้คนที่ปกติสมาทานเนื้อสัตว์ทุกวันกินนั้นเป็นเรื่องท้าทายดี จะว่าไปน่าจะเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดที่ทั้งสองฝ่ายจะประนีประนอมเข้าหากัน เพื่อเสนอและรับการท้าทายในสิ่งที่ตนก็ไม่เคยคุ้นนะครับ
เพราะคนที่ติดรสเนื้อสัตว์ หรือรสปรุงแต่งอื่นๆ เช่น ผงปรุงรส ซอสปรุงรส น้ำตาลฟอกขาวนั้น มีลิ้นแบบหนึ่ง ขณะที่คนกินมังสวิรัติ (ที่อาจมีน้ำ/ผงปรุงรสของตนอีกชุดหนึ่ง) ก็ย่อมมีลิ้นอีกแบบหนึ่ง การข้ามฝั่งจึงดูเหมือนเป็นไปได้ยากเอาการ
แต่การใช้เทคนิคพลิกแพลงบางอย่าง ก็อาจทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความสนุกท้าทายไปได้นะครับ ตัวอย่างเช่น การพยายาม “เล่น” กับเห็ด อย่างเห็ดฟางหรือเห็ดนางฟ้า โดยเอาไปตากแดดก่อนปรุง หรือหมักเกลือนานหลายชั่วโมง จนกระทั่งได้รสเปรี้ยว ซึ่งถ้าใครเคยลองแล้ว จะรู้ว่า มันทำให้เห็ดที่ปรุงสุกแล้วมีกลิ่นรสใกล้เคียงเนื้อสัตว์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
การแลกเปลี่ยนรสลิ้นของสองฝั่งฝ่ายนี้ ที่ผมคิดว่าง่าย และสามารถทำได้หลากหลาย ก็คือใช้ “เต้าหู้” เป็นวัตถุดิบตัวกลางครับ เต้าหู้นั้นอุดมด้วยโปรตีนจากถั่วเหลือง คุณภาพเกือบเทียบเท่าเนื้อสัตว์ ยิ่งถ้าได้แหล่งประจำที่ทำอย่างประณีตพิถีพิถัน เนื้อแน่นนิ่ม รสชาติดี ก็จะสนุกกับโจทย์นี้ได้ไม่ยากเลยแหละ
ไม่เชื่อลองนึกถึงผัดกุยช่ายขาวหรือถั่วงอกกับเต้าหู้หมูสับตามร้านข้าวต้มกุ๊ยสิครับ ถ้าชักเอาหมูสับออกไปเสีย ก็ไม่น่าจะรู้สึกบกพร่องอะไรไปสักเท่าไหร่หรอกน่า
หว่านล้อมมาพักใหญ่ๆ ก็เพราะอยากชวนทำสำรับเต้าหู้ที่ผมลองปรับทำมาสองสามครั้งแล้ว คิดว่าพอจะลงตัวอยู่ครับ สำหรับ “เต้าหู้ผัดพริกดอง” สูตรนี้
การถอดวิญญาณมาลองปรุงแต่งรสกับข้าวมังสวิรัติกระทะนี้ เริ่มจากไปเสาะหาเต้าหู้ดีๆ ก่อน ผมเผอิญได้ “เต้าหู้โพธาราม” จากจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับว่ามีชื่อชั้นในระดับสูงของวงการเต้าหู้เมืองไทยมาครับ ก็เอามาทอดน้ำมัน แล้วหั่นชิ้นใหญ่ๆ เตรียมไว้
รสเผ็ดเค็มเปรี้ยวของจานนี้ ประสมขึ้นจากเต้าเจี้ยวดำ หอมแดง และ “พริกดอง” คือพริกดองน้ำส้มบดหยาบแบบที่ใช้ในร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว – ก๋วยเตี๋ยวเรือนั่นแหละครับ เราช้อนเอาแต่กากพริกติดน้ำส้มมานิดหน่อย ตำรวมในครกให้ละเอียด เติมน้ำมันงาและน้ำมันพริกแบบจีน จะได้ซอสข้นๆ มันๆ สำหรับผัด ที่กลิ่นหอมยั่วยวนมากๆ
ความสดชื่นของสูตรนี้มาจากหอมใหญ่ผ่าครึ่งหัว ซอยตามขวางชนิดบางเฉียบ กระเทียมโทนหั่นหยาบ ขิงแก่ซอยละเอียดคั้นน้ำเกลือหนึ่งครั้งแก้รสเฝื่อนขม และพริกชี้ฟ้าเขียวผ่าแคะเมล็ดและไส้ออก หั่นแฉลบเป็นเสี้ยวใหญ่หน่อย
ควรจะต้องมีกลิ่นหอมจากเหล้าจีนแบบที่ใช้ปรุงอาหารด้วย ขอให้เตรียมไว้สักหน่อยนะครับ
ของครบแล้วก็เริ่มทำได้เลย โดยตั้งกระทะน้ำมันบนไฟกลาง เทหอมใหญ่ลงผัดสักครู่พอให้ใสนุ่ม ใส่ขิงครึ่งหนึ่งก่อน ผัดต่ออีกหน่อย จึงเติมพริก กระเทียม และซอสข้นที่เราผสมไว้อย่างดีแล้วนั้นลงไปผัดให้เข้ากัน ใส่เหล้าจีน พอกลิ่นหอมส่าเหล้าโชยขึ้นมาก็ใส่เต้าหู้และขิงที่เหลือ ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันเร็วๆ หากน้ำแห้งเกินไปก็เติมพอให้ได้ความขลุกขลิก
ลองชิมดูครับ หากว่าอ่อนรสเค็มหรือเปรี้ยว ก็เติมซีอิ๊วขาวหรือพริกดองน้ำส้มอีกจนพอใจ
สุกดีแล้วตักใส่จาน ราดน้ำมันพริกแดงๆ จนชุ่ม จะทำให้มีกลิ่นหอมแบบเผ็ดๆ ผสานกับกลิ่นขิง น้ำมันงา เต้าเจี้ยวดำ ซีอิ๊วขาว และเหล้าจีน เมื่อบดพริกไทยดำหยาบๆ โรยหน้าเสียหน่อยก็แทบจะลืมไปว่านี่เป็นจานมังสวิรัติเอาเลยทีเดียว เพราะบรรดาเครื่องปรุงรสดีๆ ช่วยกันแต่งเติมกลิ่นและรสให้เต้าหู้เสียจนไม่ต้องสนใจเนื้อหมูเนื้อไก่อะไรอีกแล้ว
ยิ่งใครชอบเห็ดฟางหรือเห็ดหอมสด ก็หั่นบางๆ ตามยาวของดอก ใส่ลงผัดพร้อมขิงตั้งแต่แรก จะได้รสหวานลึกๆ ของน้ำเห็ดมาหล่อเลี้ยงให้ผัดพริกดองจานนี้สดชื่นขึ้นไปอีกครับ
เอาเข้าจริงแล้ว ดูเหมือนผมจะเป็นพวก “โลกสวย” ที่คิดว่าน่าจะนำเสนอรสชาติสดๆ จากวัตถุดิบดีๆ เพื่อดูดดึงแฟนคลับผงชูรส ผงปรุงรส ซอสปรุงแต่งรส ฯลฯ จากของทั้งสองฟากฝ่าย มาเป็นพรรคพวกให้ได้ในสำรับเดียว
แต่ความเชื่อแบบนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ มันต้องลองด้วยตัวเองสักครั้งนะครับ
ที่มา : มติชน