นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “ปลานิล” เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจากข้อมูลในปี 2559 มีปริมาณผลผลิตปลานิลจากการเพาะเลี้ยงถึง 176,463 ตัน มีการส่งออกปลานิลและผลิตภัณฑ์กว่า 7,975.4 ตัน คิดเป็นมูลค่า 598.5 ล้านบาท
โดยส่งออกในรูปแบบของเนื้อปลานิลแปรรูปแช่แข็งและแช่เย็น ถึงร้อยละ 38.1 ซึ่งการแปรรูปดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดเศษเหลือทิ้งจากหนัง เกล็ด ครีบ และก้างปลาปริมาณมากถึงร้อยละ 50-70 ของวัตถุดิบเริ่มต้นเลยทีเดียว กรมประมงจึงได้ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการนำเศษเหลือทิ้งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยการผลิตเป็นคอลลาเจน ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นการช่วยลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นายปวเรศวร์ อินทุเศรษฐ นักวิชาการผลิตภัณฑ์อาหารชำนาญการพิเศษ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง นักวิจัยผู้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การสกัดคอลลาเจนที่ละลายในกรดจากหนังปลานิล” กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเศษเหลือทิ้งจากการแปรรูปสัตว์น้ำส่วนใหญ่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการทำ
ปุ๋ย ซึ่งนับว่ามีมูลค่าค่อนข้างต่ำ จึงมีแนวคิดที่จะนำเศษเหลือทิ้งจากปลานิลมาศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ด้วยการสกัดเป็นคอลลาเจนเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องหนัง ยารักษาโรค วัสดุทางการแพทย์ เครื่องสำอาง อาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
ที่ผ่านมามีการศึกษาการสกัดคอลลาเจนจากหนังและก้างปลาซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาทะเล มีการศึกษาสกัดคอลลาเจนจากหนังปลาน้ำจืดน้อยมาก จึงนับเป็นความท้าทายของงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งอาจใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนาการใช้ประโยชน์เศษเหลือทิ้งจากสัตว์น้ำจืดชนิดอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต
สำหรับขั้นตอนการศึกษาสกัดคอลลาเจนจากหนังปลานิลนั้น เริ่มต้นจากการนำหนังปลามากำจัดโปรตีนที่ไม่ใช่คอลลาเจนออกโดยการแช่ในสารละลายด่าง จากนั้นกำจัดไขมันในหนังปลาออกโดยใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ แล้วจึงทำการสกัดคอลลาเจนโดยใช้กรดอะซิติก
จากนั้นกรองเอาส่วนของเหลวมาตกตะกอนคอลลาเจนโดยการเติมเกลือ แล้วแยกตะกอนโดยใช้เครื่องหมุนเหวี่ยง และนำตะกอนคอลลาเจนที่ได้ไปทำให้บริสุทธิ์โดยการทำไดอะไลซิส แล้วจึงทำให้แห้งจะได้เป็นคอลลาเจนบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าคอลลาเจนที่สกัดจากปลาทะเลและสัตว์บกทั่วไป
ซึ่งหนังปลานิล จำนวน 100 กรัม จะสามารถผลิตคอลลาเจนได้ปริมาณถึง 30 กรัม ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดทางความคิดอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้นำเอาเศษเหลือทิ้งส่วนอื่นๆ ของปลา เช่น เกล็ด มาสกัดเป็นคอลลาเจนได้อีกด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและลดเศษเหลือทิ้งจากการแปรรูปสัตว์น้ำให้เหลือน้อยที่สุด
ทั้งนี้ หากภาคเอกชน หรือกลุ่มธุรกิจ SME รายใดมีความสนใจในงานวิจัยดังกล่าว และต้องการนำไปพัฒนาขยายผลในเชิงอุตสาหกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์ 02-940-6130-45 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์