เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งเมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี แล้วเลยลุกลามเป็นสงครามโลก (สงครามโลกครั้งที่ 2) เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ขณะที่ทางด้านเอเชีย “ญี่ปุ่น” ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ต่อมากองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะฮาวาย ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายู และโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ขอรัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย เพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษ และขอให้ระงับการต่อต้านญี่ปุ่นของคนไทย คณะรัฐมนตรีโดยจอมพล ป พิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรีทำตามความต้องการของญี่ปุ่น และได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ
สุดท้ายญี่ปุ่นแพ้สงคราม เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แล้วรัฐบาลไทยก็ประกาศ ว่า การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและความประสงค์ของประชาชนชาวไทย ไทยต้องปรับความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกามิได้ถือไทยเป็นศัตรู ตามประกาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
โดย นายเจมส์ เบิรนส์ (James Byrnes) รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายเออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin) ไม่ยอมรับทราบการโมฆะของการประกาศสงครามง่ายๆ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 (เวลานั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้ารัฐบาล) ผู้แทนไทยได้ลงนามกับผู้แทนอังกฤษ ที่สิงคโปร์ ความตกลงนี้เรียกว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” ที่สำคัญคือไทยต้องคืนดินแดนของอังกฤษ ที่ได้มาระหว่างสงคราม และต้องชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ แต่ต่อมาไทยเจรจาขอแก้ไขได้
การที่ไทยเอาตัวรอดได้ทั้งๆ ที่อยู่ในฝ่ายประเทศแพ้สงครามนี้ “ขบวนการเสรีไทย” มีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศสัมพันธมิตร โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเห็นใจเมืองไทย ขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น มีทั้งที่สหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ ซึ่งขบวนการเสรีไทยนั้นมี “ปรีดี พนมยงค์” ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าเสรีไทย
ในงานเสวนา “120 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ และประวัติศาสตร์ 2475” ซึ่งมีขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการกล่าวถึงประเด็นนี้ โดย “กษิดิศ อนันทนาธร” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าทำไมสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทยจึงเรียกว่าเป็น “สงครามที่โมฆะ” ทั้งนี้ เพราะมันเป็นการประกาศสงครามไม่ชอบธรรม กษิดิศอ้างถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยพูดไว้ตอนคิดตั้งเสรีไทยทำนองว่า ตอนที่คิดจะตั้งเสรีไทยอาจารย์ปรีดีนึกถึงพระเจ้าตาก บอกว่าพระเจ้าตากกู้กรุงศีอยุธยาสมัยนั้น คล้ายเรากำลังกู้กรุงเทพ ทำนองนี้
“ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวพันกับอาจารย์ปรีดีตั้งแต่ต้น เพราะพอญี่ปุ่นบุกไทย พวกญี่ปุ่นก็รู้สึกว่าอาจารย์ปรีดีเป็นพวกต่อต้านญี่ปุ่น เป็นรัฐมนตรีคลังใน ครม. ซึ่งเป็นเสียงฝ่ายที่ไม่ชอบญี่ปุ่น จากข้อมูลญี่ปุ่นบุกไทยวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เย็นวันนั้นอาจารย์ปรีดีกับพรรคพวกก็ตั้งเสรีไทยที่บ้านพักแถวสีลม ขณะที่เสรีไทยในต่างประเทศก็ตั้งกันในเวลาต่อมา แล้วอาจารย์ปรีดีก็หลุดจากรัฐมนตรีไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันนี้เป็นประเด็นถกเถียงกัน เพราะมีคดีที่อาจารย์ปรีดีไปฟ้อง รอง ศยามานนท์ (อดีตรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ไปเขียนว่าจอมพล ป ช่วยอาจารย์ปรีดีตอนญี่ปุ่นจะเล่นงานอาจารย์ จอมพล ป จึงเอาอาจารยืปรีดีไปเป็นผู้สำเร็จราชการ เรื่องนี้อาจารย์ปรีดีโต้แย้งว่า “ไม่จริง” เรื่องการเป็นผู้สำเร็จราชการเป็นการคุยกันว่าจะมีการปรับ ครม. แล้วเสนอตำแหน่งนี้ให้กับอาจารย์ปรีดี แปลว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการหลังญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ประเด็นที่นำไปสู่การเป็น “โมฆะ” ของสงครามตอนนั้น เพราะว่าในประกาศสงครามที่จอมพล ป ประกาศร่วมกับญี่ปุ่น สู้กับสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ และอาจารย์ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว
“…เวลานั้นอาจารย์ปรีดีอยู่ที่อยุธยา ตอนประกาศสงครามนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มี 3 คน คือ 1.พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา 2.เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และ 3.อาจารย์ปรีดี แต่การประกาศสงครามมีเซ็นชื่อกันเพียง 2 คน อาจารย์ปรีดีไม่ได้เซ็นเพราะอยู่อยุธยา แต่จอมพล ป ลักไก่ประกาศออกวิทยุเลยว่าผู้สำเร็จราชการ 3 คนเซ็นชื่อแล้ว อันนี้อาจารย์ปรีดีมีในคำฟ้อง รอง ศยามานนท์ ด้วยที่ไปเขียนในหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ไทยในระหว่างรัฐธรรมนูญ…”
“…รอง ศยามานนท์ เขียนทำนองว่าอาจารย์ปรีดีได้วางแผนไปอยู่ที่อยุธยา โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจารย์ปรีดีอธิบาย ว่าเวลานั้นรู้กันอยู่แล้วว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา จะเสด็จไปตากอากาศที่หัวหิน สลับกันกับอาจารย์ปรีดีที่จะมาตากอากาศที่พระนครศรีอยุธยา อาจารย์ปรีดีมาพักอยู่ที่คุ้มขุนแผน ซึ่งมีโทรศัพท์ติดต่อได้ ถ้าโทรศัพท์มาบอก ในเวลาหนึ่งชั่วโมงก็นั่งเรือนั่งรถกลับกรุงเทพได้ แต่กลับไม่บอกสักคำว่า ชิ่งทำไปเลย ขณะที่จอมพล ป นั้น ญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม จอมพล ป ไปอยู่อรัญประเทศ ส่งเครื่องบินไปรับก็ไม่ยอมกลับมา รอจนเช้าถึงกลับมา จะบอกว่าปรีดีชิ่งได้ยังไง ก็ไม่บอกเอง ประเด็นนี้สุดท้ายนำไปสู่การที่เราบอกว่าการประกาศสงครามของไทยเป็นโมฆะ เพราะผู้สำเร็จราชการลงชื่อไม่ครบ 3 คน…”
ที่กล่าวมาเป็นความเห็นในวงเสวนา 120 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอีกกระแสหนึ่ง จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม หนังสือในเครือมติชน จำกัด(มหาชน) ปรากฏข้อเขียนเรื่องนี้เมื่อ 2 มิถุนายน 2562 ความว่าเหตุผลที่ไทยไม่แพ้สงคราม (คำประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ) มาจาก 2 กรณี คือ 1. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ไม่ประกาศสงครามกับสหรัฐ ด้วยการไม่ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐ 2. นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้สำเร็จราชการฯ ขณะนั้น มิได้ลงนามในการประกาศสงครามด้วย
ซึ่งนักวิชาการ 2 ท่าน คือ “พ.ท.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์” และ “ศตพล วรปัญญาตระกูล” เป็นผู้ค้นคว้าและเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ จึงขอสรุปย่อที่เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีมาในที่นี้ เริ่มแรกของข้อเขียนเป็นการตั้งคำถาม “
ผู้สำเร็จราชการฯ ลงชื่อไม่ครบ หรือ เรื่องไม่ผ่านสภาฯ” นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้สำเร็จราชการฯ ขณะนั้น มิได้ลงนามในการประกาศสงคราม (25 มกราคาม 2485) จึงถือว่าประกาศไม่สมบูรณ์ มีผลให้เป็นโมฆะ นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีขณะนั้น ได้บันทึกไว้ด้วยตนเอง ว่าประกาศสงครามนี้ จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนแล้ว จึงส่งไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 คน คือ 1.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา 2. พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน 3. นายปรีดี พนมยงค์ โดยในวันประกาศสงครามนั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 และเป็นวันที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษด้วย
พอเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ได้มีเจ้าหน้าที่มารายงานนายกรัฐมนตรี ว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอยู่ในกรุงเทพฯ เพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา กับพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่ในพระนคร ทราบว่าไปต่างจังหวัด คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงลงพระนามและลงนามเพียง 2 คนเท่านั้น จะลงนามครบทั้ง 3 คน เกรงว่าจะประกาศให้ทันเที่ยงของวันนี้ (25 ม.ค. 2485) แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีรับสั่งว่าให้ประกาศชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปก็แล้วกัน แม้จะไม่ได้ลงนามก็ตาม ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง และนี่คือประเด็นที่มีการตีความว่าประกาศสงครามเป็นโมฆะ
ซึ่งนับเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และขัดแย้งกับหนังสือนายกรัฐมนตรีที่ ศ. 10213/2484 ลงวันที่ 15 ธันวาคม2484 เรื่องการตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพิ่มเติม ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยใจความตอนหนึ่งในหนังสือดังกล่าวมีความดังนี้ “…มีข้อตกลงกันว่าในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณและในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2 ท่าน เป็นผู้ลงนาม ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480 นั้น…”
จากเอกสารข้างต้นจึงสรุปได้ว่า การลงพระนามหรือลงนามโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 หรือ 3 คนไม่ใช่เหตุที่ทำให้ประกาศสงครามเป็นโมฆะได้ คณะรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ รัฐบาลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศสันติภาพ แต่ประกาศสันติภาพอ้างว่า ประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมืองนั้น แท้จริงมาจากเหตุที่ว่าการประกาศสงครามนั้นอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 54 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ การประกาศสงครามนั้นทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตแห่งชาติ หนังสือสัญญาใดๆ มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยามหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ประกาศสันติภาพมีผลให้ประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นโมฆะ โดยรัฐบาลได้เสนอประกาศสันติภาพต่อที่ประชุมสภาผู้ แทนราษฎรเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบกับประกาศดังกล่าว ซึ่งคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ดังนั้นจึงพออนุมานได้ว่า เหตุที่ประเทศไทยไม่เป็นผู้แพ้สงคราม เพราะประกาศสงครามเป็นโมฆะ เนื่องจากประกาศสงครามไม่ผ่านสัตยาบันและให้ความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร
โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 (8) ว่า การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา 76 ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมาตรา 76 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
สรุปได้ว่า การยื่นหรือไม่ยื่นคำประกาศสงครามของสถานทูตไทยให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ไม่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ ที่จะไม่ประกาศสงครามตอบไทย ในทำนองเดียวกันการลงนามของผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ครบทั้งคณะ หรือการประกาศสงครามที่ไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร มีผลให้ประกาศดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ก็เป็นเรื่องภายในของไทย ทั้งหมดนั้นในเวทีนานาชาติไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ไทย “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หากประเด็นอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจไม่ประกาศสงครามตอบไทยต่างหาก
ข้อมูลนำมาเสิร์ฟวางลงให้ตรงหน้า ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาไตร่ตรองของคนอ่าน ว่า จะเห็นเป็นอย่างไร?