เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ที่ประชุมมีมติให้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะประกาศใช้วันที่ 26 มี.ค.นี้ เมื่อประกาศแล้วจะจัดตั้งคณะกรรมการที่รับผิดชอบต่อไป
ทั้งนี้ จะมีการยกระดับเป็น ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โควิด-19 มีคณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ร่วมเป็นกรรมการ มีนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ในการสั่งการในข้อกฎหมายและมาตรการต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเริ่มเมื่อใดและใช้ระยะเวลานานเท่าใด นายกฯกล่าวว่า เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นไป โดยมีระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 เดือน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ทำอย่างไรจะลดการแพร่ระบาด โดยขอความร่วมมือ บังคับบ้าง แต่จะปิดจะเปิดเป็นมาตรการระยะต่อไป จะเข้มงวดขึ้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่เป็นความจำเป็นต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ดูแลสุขภาพของประชาชนให้มากที่สุด ขอให้ร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากจะต้องกลับก็จะต้องเจอมาตรการการคัดกรองการตรวจสอบต่างๆ อีกมากมาย เช่นที่ทำมาโดยตลอดกับคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ให้เวลาประชาชนปรับตัวไปด้วย
ขณะเดียวกันเน้นความสำคัญกักตัวในที่บ้าน กักตัวในพื้นที่ ถ้ามีความจำเป็นเราก็มีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้นถ้ามี ติดเชื้อจำนวนมากต้องหามาตรการอื่นๆ มารองรับ รพ.สนาม กักตัวขนาดใหญ่เป็น 100-1,000 คนจัดหาเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้พอ มีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องมีการจัดหาจัดซื้อเพิ่มเติม แต่จะหาจากที่ไหน ในเมื่อเมื่อทุกประเทศมีความต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นการหารือในแต่ละวันใน ศอฉ. อย่าตื่นตระหนก ถ้าตระหนกก็มีปัญหา เราก็ต้องฟังรัฐบาล
นอกจากนี้ การให้ข่าวจะมีการให้ข้อมูลทั้งวันสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น มีช่องทางให้ประชาชนสอบถามให้ตรงกับเวลาดังกล่าว ส่วนวาระสรุปจะมีการสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขอให้ระมัดระวังในการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารบิดเบือน กฎหมายฉบับนี้จะแต่งตั้งเจ้าพนักงานทั้งหมด พลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการจัดตั้งด่านตรวจ จุดสกัด กำลังการเตรียมความพร้อมต่างๆ ในการช่วยเหลือส่วนราชการในการทำงาน ประชาชนจึงต้องเจอกับจุดสกัดต่างๆ เหล่านี้ ค่อยปรับมาตรการต่างๆ เข้มงวดขึ้น ถ้าถ้ายังแก้ไขสถานการณ์ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมด ให้เป็นไปตามขั้นตอน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝากกับสื่อ ผู้ใช้โซเชียลจะได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้น เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้ง ทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญา สามารถจับกุมดำเนินคดี ไม่ว่ากักตุนสินค้า การขึ้นสินค้า จะมีความเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจทุกคนรักประเทศ แต่ต้องรักในวิธีที่ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย และเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล
ที่มา : มติชนออนไลน์ ,ประชาชาติธุรกิจออนไลน์