“กษิดิศ อนันทนาธร” นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าเรื่องราวของตระกูล “ณ ป้อมเพชร์” ซึ่งเกี่ยวโยงกับบุคคลดังในยุคสมัยที่แตกต่างแต่เชื่อมโยงกัน โดยเริ่มต้นว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” (na Pombejra) แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456
นามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” เป็นตระกูลเก่าแก่ สืบย้อนกลับไปได้ถึงปลายกรุงศรีอยุธยา เริ่มจาก “นายเหลียง แซ่อึ้ง” คนจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในยุคนั้น แล้วได้ภรรยาเป็นชาวรามัญชื่อ “นางทองกาวเลอ” มีบุตรธิดารวม 8 คน เสียชีวิตเมื่อยังเยาว์ 1 คน เหลือ 7 คน ดังนี้ นางลิ้ม นางอิ๋ว นางคุ้ม นางสาวฉิม นางสาวน้อย นางมี และนายศุข
น้องสาวของนางอิ๋วชื่อ “นางคุ้ม” มีลูกกับ “นายสด” 5 คน ดังนี้ นางจู นายแพ นางพวง นางตรุส และนายมา
“นางอิ๋ว” สมรสกับ “นายอิน” มีลูกด้วยกัน 5 คน คือ นายด้วง นางหุ่น นางพิน นางสาวริ้ว และนายศุข
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ “นายด้วง” ซึ่งเป็นลูกของนางอิ๋ว รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระพิทักษ์เทพธานี” ตำแหน่งผู้ช่วยผู้รักษากรุงเก่า พระพิทักษ์เทพธานีมีบุตรธิดากับ “นางบุญมา” รวม 5 คน ได้แก่ นางแจ่ม นางเจียม นายนาค นายอ่อน และนายจุ้ย ต่อมา “นายนาค” รับราชการจนเจริญก้าวหน้าได้เป็น “พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา” ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้รักษากรุงเก่า
พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เมื่อรับราชการอยู่ในสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน แต่ครั้งเป็นหลวงวิเศษสาลี ได้เป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ผู้นี้คือบิดาของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456
ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ตรงไหนในสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จะได้พิจารณาสายของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) เป็นหลัก ซึ่งพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) เป็นเหลนของนางอิ๋ว แล้วกล่าวถึงสายของนางคุ้ม (ทวดของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) เพื่อไขคำตอบข้างต้น ดังนี้
พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) เป็นบุตรชายคนโตของพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค) กับ ม.ร.ว.เจียก ภุมรินทร์
เจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) สมรสกับ คุณหญิงเพ็ง (สกุลเดิม สุวรรณศร) มีบุตรธิดาด้วยกัน 12 คน ดังนี้
นางพิศ อดิศักดิ์อภิรัตน์ ภรรยาพระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็ม สุริยวงศ์ บุนนาค)
หลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว) บิดาของวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต
นายเข็ม ณ ป้อมเพชร์
นางศรีราชบุรุษ (เล็ก ปุณศรี) ภรรยาหลวงศรีราชบุรุษ (แปลง ปุณศรี)
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ , นางอัมพา สุวรรณศร , นางเพียงแข สุนทร-วิจารณ์ ภรรยาเย็น สุนทร-วิจารณ์ , นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์ , เด็กหญิงเภา ณ ป้อมเพชร์ , นางอุษา สุนทรวิภาต , นายอานนท์ ณ ป้อมเพชร์ ,นายชาญชัย ณ ป้อมเพชร์
เมื่อพิจารณาสายสกุลของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) โดยตรง พบว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คนหนึ่งเป็นลูกเขย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” และอีกคนหนึ่งเป็นเหลนเขย ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กล่าวคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข สมรสกับ นายปรีดี พนมยงค์ (อดีต หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) มีบุตรธิดา ได้แก่ นางสาวลลิตา นายปาล นางสาวสุดา นายศุขปรีดา นางดุษฎี และนางวาณี ขณะที่ “นางอัมพา” สมรสกับ “นายประมูล สุวรรณศร” (อดีตหลวงประสาทศุภนิติ) มีธิดารวม 4 คน คือ นางประพาพิมพ์ เด็กหญิงประพิชพรรณ นางศันสนีย์ และนางมณีรัตนา โดยที่นางประพาพิมพ์ สมรสกับ นายพงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย แล้วมีลูก 2 คน คือ นายอนวัช และนางพิมพ์เพ็ญ ซึ่งนางพิมพ์เพ็ญ ต่อมาสมรสกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ระหว่าง “พูนศุข” กับ “อัมพา” เป็นพี่น้องที่ใกล้ชิดกันมาก ดังเช่นเมื่อครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข” ต้องระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศเพราะการเมืองเป็นพิษ “อัมพา” ได้รับเลี้ยงดู “ลลิตา” ลูกสาวคนโตของพูนศุขที่มีอาการป่วยทางสมอง ไว้ที่บ้านของอัมพา ขณะที่ข้างคู่เขยอย่าง ปรีดีและประมูล ก็รู้จักกันมาช้านาน เพราะได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านของเจ้าคุณและคุณหญิงชัยวิชิตฯ ด้วยกันมาแต่ยังเป็นหนุ่ม ในฐานะที่ทั้งสองท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ของแต่ละคน กล่าวคือ ย่าของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (คือนางบุญมา) เป็นน้องสาวของนางปิ่น (ย่าของนายเสียง พ่อนายปรีดี) ส่วนประมูลเป็นบุตรชายของหลวงอรรถสารสิทธิกรรม (บุ สุวรรณศร) พี่ชายคนโตของคุณหญิงเพ็ง
ปรีดีเขียนถึงเจ้าคุณชัยวิชิตฯ ไว้ว่า “…นับตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ 18 ปี ก็ได้รับความอุปการะคุนจากท่านไนทางส่วนตัวเปนอเนกประการตลอดมาจนกะทั่งท่านถึงแก่กัม นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังถือว่าท่านเปนครูผู้ไห้ความรู้ไนเรื่องระเบียบและวิธีปติบัติราชการ คือไนระหว่างที่ข้าพเจ้าเริ่มเปนข้าราชการครั้งแรก โดยเข้าเปนเสมียนไนกรมราชทันฑ์ และได้พักอาสัยไนบ้านของท่านนั้น ท่านได้ฝึกฝนสั่งสอนแนะนำความรู้ไนราชการหลายหย่าง ซึ่งข้าพเจ้าได้นำความคิดความเห็นของท่านมาไช้เปนประโยชน์แก่ราชการไนพายหลังหลายประการ…”
นอกจากนี้ ลูกของพูนศุขและอัมพา ก็ยังสนิทสนมกันดีตราบจนปัจจุบัน ดังที่ย้อนหลังกลับไป สุดาเคยเล่าว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อจะให้ ปพาฬ บุญ-หลง ลูกศิษย์ที่โรงเรียนกฎหมาย พาลูกๆ หลานๆ ไปเที่ยว ไปดูหนังที่ศาลาเฉลิมกรุง ไปกินไอศกรีม ฯลฯ ซึ่งสุดามักจะไปกับประพาพิมพ์
สำหรับ “พจมาน ณ ป้อมเพชร” สายสกุล ณ ป้อมเพชร์ ทางฝั่งของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ต้องย้อนกลับไปที่นายมา ลูกของนางคุ้ม ผู้เป็นน้องสาวของนางอิ๋ว (ทวดของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ) กล่าวคือ นายมา มีบุตรธิดากับ นางโหมด รวม 7 คน คนหนึ่งชื่อ หลวงคลัง (ต่วน) ซึ่งหลวงคลัง (ต่วน) ผู้นี้ เป็นบิดาของ พ.อ. พร้อม ณ ป้อมเพชร ผู้เป็นพ่อของนางพจนีย์
คุณหญิงพจนีย์ สมรสกับ พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ พงษ์เพชร เพรียวพันธ์ พีระพงศ์ และพจมาน
“พจมาน ดามาพงศ์” แต่งงานกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มีลูก 3 คน คือ พานทองแท้ พินทองทา และ แพทองธาร ภายหลังเมื่อหย่าจากทักษิณในปี 2551 แล้ว พจมานกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของฝ่ายมารดา ดังนั้นทั้งสามบุคคลสำคัญจึงเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กันตามที่กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงสายของนางคุ้มแล้ว อีกความสัมพันธ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ “นางพวง” พี่สาวของนายมา (ทั้งคู่เป็นหลานป้าของนางอิ๋ว ผู้เป็นทวดของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ) เป็นแม่ของพระยาดำรงราชานุภาพ (ช้อย ศตรัต) ซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายช้อยมีน้องชายคนหนึ่งชื่อ ชุ่ม ธิดาคนหนึ่งของนายชุ่มชื่อ แสง ต่อมาถวายตัวเป็นหม่อมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมแสงเป็นมารดาของ ม.จ.มารยาตรกัญญา ม.จ.พรพิลาศ ม.จ.พวงมาศผกา ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ม.จ.เราหิณาวดี และ ม.จ.กฤษณาพักตรพิมล
จากซ้าย ม.จ.มารยาตรกัญญา , ม.จ.พรพิลาศ , ม.จ.พวงมาศผกา , ม.จ.ศุกรวรรณดิศ , ม.จ.เราหิณาวดี และ ม.จ.กฤษณาพักตรพิมล