ธปท.ผนึก 9 หน่วยงานอัดมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำ 6 ประเภทสินเชื่อ อุ้มลูกหนี้บ้าน-รถ-บัตรเครดิต-เอสเอ็มอีที่ไม่เป็นเอ็นพีแอลฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ยันลูกค้าทุกรายสถานะปกติไม่กระทบข้อมูลเครดิต เผยข้อมูลปรับโครงสร้างแล้ว 1.56 แสนราย เม็ดเงิน 3.10 แสนล้านบาท
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการะบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างและผลกระทบไปสู่หลากหลายพื้นที่และหลายอุตสาหกรรม โดยมาตรการทีทำก่อนหน้า เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมียอดลูกค้าเข้าโครงการ 1.56 แสนราย มูลหนี้กว่า 3.10 แสนล้านบาท หรือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อส่งผ่านให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ย ซึ่งมองว่าไม่เพียงพอกับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น
ดังนั้น ธปท.จึงหารือและทำงานร่วมกับสมาคมและหน่วยงาน 9 แห่ง อาทิ สมาคมธนาคารไทย (TBA) สมาคมธนาคารนานาชาติ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ชมรมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) และสมาคมเช่าซื้อ เป็นต้น ในการออกมาตรการขั้นต่ำใน 6 ประเภทสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยจะมีผลในงวดชำระวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ มาตรการขั้นต่ำใน 6 ประเภทสินเชื่อ ได้แก่ โดยประเภทสินเชื่อที่เข้าข่าย ได้แก่
1.บัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน (revolving loan) โดยลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% เหลือ 5% ในปี 2563-2564 และในปี 2565 ปรับมาอยู่ที่ 8% และปรับขึ้นมาสู่ระดับ 10% ในปี 2566 นอกจากนี้ ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีดอกเบี้ยต่ำลงได้ จากเดิมจะเสียเฉลี่ยอยู่ที่ 18%
2.สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment) และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ให้บริการอื่นให้เลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน
3.สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และรถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท รวมถึง 4.ลีสซิ่ง (Leasing) ที่มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยให้ผู้ให้บริการเลือกดำเนินระหว่าง การเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือพักชะระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน
5.สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท
6.สินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย
“เราเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นและเจอมาก่อน โดยแนวทางสินเชื่อ 6 ประเภท จะเป็นมาตรการขั้นต่ำที่แต่ละสถาบันการเงินจะยึด นอกเหนือจากที่แต่ละธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว ทั้งในการพักชำระเงินต้น และยืดอายุการชำระหนี้ ตลอดจนธนาคารจะมีการออกโปรดักต์โปรแกรมออกมา เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและหยุดทำงานในช่วงนี้ ดังนั้น มาตรการเหล่านี้จะช่วยลดภาระหนี้ให้ประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกหนี้ไม่ต้องกังวลหากจะถึงงวดชำระ โดยลูกหนี้ยังมีสถานะปกติ ไม่มีผลต่อข้อมูลเครดิตแต่อย่างใด ส่วนลูกหนี้ที่ยังสามารถผ่อนชำระปกติที่ไม่รับผลกระทบจากไวรัสดควิด-19 ขอให้ชำระหนี้ตามปกติ แต่ธนาคารจะมีเงื่อนไขเป็นพิเศษให้”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์