300 บาท ก็เปิดร้าน “ปาท่องโก๋” ได้!

Recipes สูตรอาหาร

ปาท่องโก๋ เป็นอาหารเช้าของคนหลายคน ที่ต้องไปทำงานตั้งแต่เช้า และต้องการอาหารรองท้องที่ทานง่าย โดยบางคนก็เอาปาท่องโก๋มาจิ้มนมข้นหวานและทานทั้งอย่างนั้น หรือจะแกมกาแฟ โอวัลติน ตอนเช้าก็เข้ากันดี หรือจะทานกับโจ๊ก ก็ได้ เพราะเป็นของที่ทานได้ง่าย และมีวิธีการทานหลายแบบ การทอดปาท่องโก๋ขายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับคนที่สนใจอยากหาอาชีพเสริมทำในช่วงเวลาแบบนี้

สำหรับสูตร วิธีการ และงบประมาณการลงทุนในช่วงการเริ่มต้นของการทำปาท่องโก๋ขาย อาจารย์ขนิษฐา ชัยชาญกุล หรือ อาจารย์ตุ๊ก บอกว่า “มีเงินลงทุน 300 บาท ก็ทำขายได้แล้ว เพราะขายปาท่องโก๋ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมายนัก โดยปกติ ปาท่องโก๋จะขายกันที่ราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งในการทำแป้งปาท่องโก๋ของแต่ละครั้ง ว่าจะสามารถตัดได้เยอะน้อยมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการกะปริมาณขนาดของการตัดแป้งเอาเอง ถ้าอย่างมือใหม่ ก็อาจจะตัดแป้งออกมาทอดแล้วขายได้เงินประมาณ 700 บาท แต่หากชำนาญขึ้นและตัดดีๆ ก็จะสามารถทำเงินได้ถึง 1,000 บาททีเดียว”

สำหรับปาท่องโก๋สูตรนี้ ของอาจารย์ตุ๊กเป็นแบบ ปาท่องโก๋ สูตรนวดมือ โดยอาจารย์ตุ๊กให้สูตร วิธีการทำ เทคนิคและเคล็ดลับ ดังนี้                        

อุปกรณ์ ที่ต้องใช้           

เตาแก๊สและหัวเร่ง ช้อนตวง โต๊ะทำแป้ง เหยือกตวง ลูกกลิ้ง พายยาง มีดตัด ถังน้ำขนาด 2 แกลลอน พร้อมฝาปิด แก้วและไม้แตะน้ำ ที่ร่อนแป้ง ผ้าสาลู 10×10 นิ้ว ถาดอะลูมิเนียม ถุงพลาสติกคลุมแป้ง ตะเกียบใหญ่ กระทะทอด 24 นิ้ว กระชอนสำหรับช้อนปาท่องโก๋

ส่วนผสม

แป้งยี่ห้อ ตราชั่ง/ฮกแดง/ฮกดอกไม้     1 กิโลกรัม

ผงฟู                        1              ช้อนโต๊ะ

น้ำ                           700         กรัม

ไข่ไก่ เบอร์ 0          1              ฟอง

ยีสต์                        1 + ½     ช้อนชา

เกลือ                       1 + ½     ช้อนโต๊ะ

น้ำตาล                   1              ช้อนโต๊ะ (หรือดีน้ำตาล 8 เม็ด)

แอมโมเนีย             1              ช้อนโต๊ะ

เนยมาการีน           4              ช้อนโต๊ะ

น้ำมันปาล์ม           4              กิโลกรัม

แป้งซับ (แป้งว่าว) 1              กิโลกรัม

วิธีทำ

  1. ร่อนแป้ง + ผงฟู เข้าด้วยกัน ตามสูตรที่เตรียมไว้ เมื่อร่อนหมดแล้ว เทใส่ถัง
  2. ใส่ไข่ + ยีสต์ +แอมโมเนีย + ลงในน้ำ คนให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
  3. นำ น้ำ ค่อยๆ เทลงในแป้งทีละน้อยๆ ใช้มือนวดเบาๆ มือ เหมือนการเคล้า อย่าบีบแป้ง นวดแค่พอแป้งเข้ากัน เนียน อย่านวดนาน ควรนวดไม่เกิน 5 นาที
  4. เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว พักแป้งไว้ 10 นาที (เพื่อให้เกิดเส้นใยประสานกัน)
  5. นำเนยมาการีนมาตั้งไฟ พอละลาย แล้วเทใส่แป้ง ที่พักไว้ แล้วนวดต่อ เบาๆ มือ อีกไม่เกิน 5 นาทีหรือแค่พอเข้ากัน และเนื้อเนียนดี พักแป้งไว้อีก 10 นาที
  6. เมื่อครบ 10 นาที เปิดฝาออก ทดสอบแป้ง ด้วยการหยิก แล้วดึงแป้งขึ้นมา ถ้าแป้งไม่ขาดจากกัน แสดงว่า ทำถูกวิธีแล้ว เพราะแป้งที่เราได้ ถูกวิธีจะเกิดเส้นใย และมีความยืดหยุ่น

7.เมื่อได้แป้งที่มีความยืดหยุ่นแล้ว นำมาเทใส่ถาดสี่เหลี่ยมที่มีความหนา 1 นิ้ว และต่ำจากขอบถาด 1 นิ้ว ( เพื่อให้แป้งได้ขยายตัว) นำพลาสติกมาคลุมแป้งไว้ หรือจะใส่ในถังที่มีฝาปิดก็ได้

8.จากนั้น หมักไว้ 4 ชั่วโมง หรือแช่ในตู้เย็น 2 ชั่วโมง หรือวางในลังน้ำแข็งก็ได้

ลงมือทอดปาท่องโก๋

– ตั้งกระทะ เปิดไฟอุ่นน้ำมันไว้

– ทำความสะอาดโต๊ะแป้งให้สะอาด แล้วโรยด้วยแป้งซับให้ทั่ว

– นำแป้งออกจากตู้เย็น แล้วมาตัดเป็นเส้น ยาว กว้าง 2 นิ้ว

– ใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งแป้งไปมา จนแป้งมีความหนา 0.5 เซนติเมตร

– ซับแป้งให้ทั่วตัวแป้ง แล้วตัดแป้งเป็นชิ้นๆ ขนาด 1×2 นิ้ว จนหมดแถวแป้ง และแป้งจะต้องไม่ติดมือ

– เตรียมน้ำเปล่า และไม้เสียบลูกชิ้น แตะน้ำในแก้ว แล้วมาแตะที่กึ่งกลางของแป้ง เพื่อให้แป้งติดกัน ขณะทอด

– นำแป้งมาประกบกัน

– เมื่อประกบเป็นคู่แล้ว จับปลายแป้งดึงเบาๆ ก่อนที่จะหย่อนลงในน้ำมัน ใช้ตะเกียบพลิกไปมา

– ทอดจนแป้งเหลืองได้ที่ ช้อนขึ้นมาสะเด็ดน้ำมันในตะแกรง

หมายเหตุ

– ความร้อนของน้ำมันที่ใช้ทอด อยู่ที่ 180-200 องศาเซลเซียส

จังหวะการกลับแป้ง

– จังหวะที่ 1 กลับให้แป้งพอง เมื่อหย่อนลงน้ำมันใหม่ๆ พลิกไปมา อย่างรวดเร็ว เพื่อให้แป้งและน้ำมันสัมผัสกัน แป้งจะพองฟูอย่างเต็มที่

– จังหวะที่ 2 กลับให้แป้งกรอบ เมื่อแป้งพองตัวได้ที่แล้ว ปล่อยให้แป้งสัมผัสน้ำมัน นานพอให้กรอบ ก่อนพลิก กลับอีกด้าน ที่เหลือควรหรี่ไฟ ลดความร้อนลงอยู่ที่ 180 องศา

– หากน้ำมันร้อนจนเกินไป ให้เทน้ำมันใหม่ลงไปเพิ่ม เพื่อลดอุณหภูมิ

– หากไม่มีการทอด ให้หรี่ไฟลง

******* ให้เติม น้ำมันใหม่ เพิ่มลงไปทุกวัน **********

เคล็ดลับ

  1. ปาท่องโก๋ คือแป้งสาลี พองๆ ทอด
  2. สูตรนี้เป็นสูตร กรอบ กลวง โดยเน้นที่ความยืดหยุ่นของแป้ง
  3. แป้งสาลีอเนกประสงค์มีหลายชนิด ซึ่งมีความยืดหยุ่นของแป้งแตกต่างกัน
  4. การชั่ง ตวง วัด ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน และต้องชั่งให้เที่ยงตรง
  5. ตรวจดู วันหมดอายุของ ผงฟู ยีสต์ แอมโมเนีย
  6. ตวงใช้ช้อนตวง แล้วปาดให้เสมอขอบ
  7. น้ำที่ใช้ในสูตร ใช้น้ำธรรมดา ดีที่สุด
  8. ถ้าเป็นหน้าร้อน ให้ใช้น้ำเย็น
  9. ใช้ไข่ที่ใหม่ จะมีความเหนียว จะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น ดีที่สุด
  10. ยีสต์ใหม่ จะทำให้เกิดการพองตัว ดีกว่า ยีสต์เก่า
  11. ยีสต์ สภาพอากาศ และ เวลาในการหมัก มีผลทำให้แป้งขึ้นช้า หรือ เร็ว
  12. ใช้น้ำตาลทรายขาว จะละลายได้ง่ายกว่าน้ำตาลทรายแดง
  13. แอมโมเนีย ในท้องตลาดมีหลายเกรด หากทำตามวิธีที่ถูกต้องแล้ว ปาท่องโก๋ไม่พองเท่าที่ควร มีกลิ่นแอมโมเนียตกค้าง ให้เปลี่ยนยี่ห้อแอมโมเนีย
  14. สูตรนี้ ใช้เนย มาการีน แทนน้ำมัน เพื่อเพิ่มความหอม
  15. ใช้น้ำมันปาล์ม ดีที่สุดในการทอด
  16. ใช้กระทะก้นแบน เบอร์ 24 นิ้ว
  17. การร่อนแป้ง จะทำให้เนื้อขนมละเอียด เบา ฟู ดีขึ้น
  18. การนวด ทำมือเป็นรูปตะขอ แล้วควักแป้งขึ้น แล้วกด อย่า ขยำ มืออีกข้างหมุนถังไปด้วย
  19. ถ้านวดเกิน 5 นาที จะทำให้โครงสร้างแป้งยุบ (สำคัญมาก)***
  20. นวด ยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ยิ่งดี
  21. พักแป้งเพื่อให้เส้นใย ประสานกันดี
  22. การละลายเนย ต้องไม่ให้ร้อนจัด พักให้อุ่นก่อน
  23. การนวดที่ถูกวิธี จะเกิดเส้นใยและความยืดหยุ่น เมื่อทดสอบด้วยการหยิกดึงขึ้นมา แป้งจะมีเส้นใยยืดตามมือขึ้นมาไม่ขาด
  24. การปูแป้งใส่ถาดสี่เหลี่ยม ช่วยให้ไม่เสียเวลาในการตัดแป้งขึ้นมาเตรียมทอด
  25. แป้งที่แช่เย็น จะช่วยให้รีดแป้งได้ง่ายขึ้น ไม่เหนอะหนะ และแป้งมีคุณภาพดี อยู่ได้นาน
  26. มือใหม่ พยายามซับแป้งแยอะๆ ใช้ปลายนิ้วลูบแป้งส่วนที่แฉะ ยึดหลัก แป้งไม่ติดมือ ไม่ติดโต๊ะ**
  27. จุดที่แป้งสัมผัสกัน คือจุดที่แตะน้ำเท่านั้น
  28. ความร้อนของน้ำมันที่พอดี คืออุณหภูมิ 180-200 องศาเซลเซียส
  29. ทดสอบความร้อน ด้วยการหย่อนแป้งลงไปเป็นระยะ
  30. การกลับปาท่องโก๋ มี 2 จังหวะคือ 1. การกลับไปมา ให้พอง 2. การทอดกลับให้กรอบทั่ว
  31. แป้งที่ขึ้นไม่มาก โครงสร้างของแป้งยังแข็งแรง จะใช้ความร้อนที่ประมาณ 200 องศาเซลเซียส
  32. แป้งที่ขึ้นเต็มที่ โครงสร้างแป้งเริ่มยุบตัว ต้องการความร้อน ประมาณ 180 องศาเซลเซียส
  33. ปาท่องโก๋ที่อมน้ำมันเกินไป เกิดจาก

– การนวดแป้งไม่ดี ไม่เกิดเส้นใย ไม่มีความยืดหยุ่น (แป้งด้าน)

– น้ำมันไม่ร้อนพอที่จะดันแป้งให้พอง

– รีดแป้งหนาเกินไป หรือซับแป้งไม่ทั่ว ทำให้เนื้อแป้งมีความหนา

– ใส่ปาท่องโก๋ลงทอดแยอะเกินไป ทับกัน ทำให้พองน้อย

– ใช้น้ำมันเก่ามากในการทอด ไม่เติมน้ำมันใหม่เลย

เทคนิคการคุมอุณหภูมิน้ำมัน

  1. น้ำมันมาก อุณหภูมิจะคงที่มากกว่า น้ำมันน้อย
  2. หมั่นหยอดเศษแป้ง ทดสอบความร้อนเสมอ เมื่อจะเริ่มทอด
  3. หากน้ำมันร้อนเกินไป ให้เติมน้ำมันใหม่ลงไป จะช่วยลดความร้อนได้
  4. การนำปาท่องโก๋ลงทอด 1 แถว จะทำให้อุณหภูมิลดลง 10 องศา
  5. หากไม่มีการทอด ให้หรี่ไฟไว้
  6. น้ำมันไม่มีจุดเดือดเหมือนน้ำ แต่จะมีจุดเกิดควัน ที่อุณหภูมิ 220 องศา (น้ำมันใหม่)
  7. จุดเกิดควันของน้ำมัน จะลดต่ำลงเรื่อย ตามอายุการใช้งาน

เคล็ดลับการใช้น้ำมันอย่างประหยัด

  1. อายุของน้ำมันที่โดนความร้อนตลอด จะอยู่ที่ 5 ชั่วโมง
  2. น้ำมันหมดอายุ สังเกตจาก ความหนืด ฟองอากาศที่ตกค้าง
  3. เทน้ำมันแค่พอทอดได้ แล้วค่อยๆ เติม จะช่วยประหยัด และ น้ำมันมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ
  4. ช้อน และ กรอง เอาเศษแป้งซับออกให้มากที่สุด จะช่วยยืดอายุน้ำมัน

สำหรับใครที่สนใจอาชีพการค้าขาย หรืออยากหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะเกินกำลังของตนเอง การทำน้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว หรือปาท่องโก๋ขาย ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และหากมีไอเดียต่อยอดการทำ การค้าขายต่อไปได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

เพียงแต่ในการประกอบอาชีพอิสระ หรือการค้าขายส่วนตัว อาจต้องคำนึงสักนิดว่า ต้องมีการจัดสรรการเงิน บริหารเงินหมุนเวียน งบสำหรับการลงทุนและกำไรให้ได้ในแต่ละวัน เพื่อว่าในการลงทุนครั้งต่อไปจะได้ไม่เดือดร้อนมากนัก จะได้มีเงินใช้จ่าย และมีเงินเก็บสำหรับอนาคตต่อไป

ที่มา : เส้นทางเศรษฐี

ผู้เขียน : วัชรี ภูรักษา