2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

Content พาเพลิน
พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

ศาสตราจารย์ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนห้า ปีมะแม สัปตศก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายพระประสูติกาล และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

พระนาม “สิรินธร” นั้น นำมาจากสร้อยพระนามของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สำหรับสร้อยพระนาม “กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” ประกอบขึ้นจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบุพการี 3 พระองค์ ได้แก่ “กิติ” มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระมารดา ส่วน “วัฒนา” มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ซึ่งเป็นสมเด็จพระปัยยิกา และ “อดุล” มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยกา

สยามบรมราชกุมารี

ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งราชวงศ์จักรี

อนึ่งในการสถาปนาพระอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน การสถาปนาพระยศ “สมเด็จพระ” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสถาปนาพระยศของสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระบรมอัยยิกาเธอ พระวิมาดาเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในรัชกาลต่างๆ แต่การสถาปนาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ขึ้นเป็น “สมเด็จพระ” จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริย อุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

นับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า โดยยังทรงพระอิสริยยศ กรมสมเด็จพระ และ สยามบรมราชกุมารี ตามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม