7 เมษายน 2310 กำแพงกรุงศรีอยุธยาถูกทำลาย เรียกสั้นๆง่ายๆว่า กรุงแตก!
พม่ายกทัพเข้าเมือง ขุนน้ำขุนนางหลบหนี บางส่วนถูกจับ ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้พระราชพงศาวดารพม่าได้กล่าวไว้
หันมาดูหลักฐานฝั่งไทย มีคำบรรยายผู้เห็นเหตุการณ์ ระบุว่าเมื่อพม่าเข้าเมืองแล้วก็กวาดต้อนผู้คน เก็บทรัพย์สมบัติ
“สั่งให้เผาพระนคร และปราสาททั้ง 3 องค์ และให้เผาอารามและวิหารเสียให้หมดด้วย และสั่งให้ทำลายกำแพงเมือง และบรรดาเข้าของที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีพระไตรปิฎก คือพระธรรมวินัย เป็นต้น สั่งให้ทำลายเสียแล้วก็กลับมายังพระนครแห่งตน”
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนกรุงแตกไม่นาน พระราชพงศาวดารพม่าบรรยายความอดอยากในกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า มีคนหนีไปหากองทัพพม่าทุกวัน ทำให้พม่ารู้สถานการณ์ในกรุงได้เป็นอย่างดี คนที่อยู่ในกรุงก็ได้ส่วนแบ่งอาหารน้อยลงทุกที. สอดคล้องหลักฐานฝั่งไทยที่บันทึกไว้เช่นกันว่า ราษฎรพากันหนีเจ้าเมืองไป อาหารขาดแคลน มีคนอดโซเป็นอันมาก เกิดโจรปล้นสะดมมิได้ขาด ราษฎรพากันหนีออกไปหาพม่าเพื่อได้อาหารมาประทังชีวิตอยู่เนืองๆ
พระวนรัตน์วัดพระเชตุพน บรรยายสภาพจลาจลหลังเสียกรุงไว้ ความตอนหนึ่งว่า
“ในกาลคราวนั้น มนุษยนิกรทั้งหลายในกรุงศรีอยุธยามีความโศกปริเทวทุกข์โทมนัสคับแค้นมาก ทั้งมีความหิว อดอยากจนมีกำลังทุพลภาพมาก ……… มีรูปกายอันซูบผอม ผิวพรรณวิปริต อาศัยเลี้ยงชีพด้วยผลไม้และใบไม้แบะเครือลดาวัลย์ เหง้าบัว รากมันรากไม้ ใบไม้เปลือกไม้ ดอกไม้ เป็นต้น…”
เอกสารอ้างอิง
ประชุมพงศาวดารภาคที่ 64 (พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทรุมาศ)
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธ ละคำแปล
Relationship with Burma.Selected Articles from the Siam Society Journal.V-VI, BKK,1959
อ้างจาก การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา : มติชนออนไลน์