พระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่กลางแจ้ง ด้านข้างพระที่นั่งจันทรพิศาล ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่เรียนรูประวัติศาสตร์ไทยยุคกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีหลักฐานชั้นต้นให้ได้ศึกษามากที่สุดแล้ว ยังมีส่วนจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเมืองลพบุรีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในที่สุด
โดยเฉพาะศาสนวัตถุในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย หรือที่อาจจะคุ้นหูกันในชื่อศิลปะลพบุรีนั้น ปัจจุบันเองก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในทางวิชาการว่า สรุปแล้วเราควรใช้คำไหนในการเรียกโบราณวัตถุ ตลอดจนศิลปวัตถุที่พบในเขตเมืองลพบุรี ตลอดจนที่พบในบริเวณตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานใต้ ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อำนาจของดินแดนเขมรโบราณเริ่มเสื่อมอำนาจลง หลังจากนั้นราว 100 ปี ก็เกิดการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น จากหลักฐานด้านงานศิลปกรรมที่พบในช่วงนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งมีความเฉพาะตัวในรูปแบบของตน ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม และประติมากรรม ซึ่งในเรื่องนี้เราจะกล่าวถึงงานประติมากรรม โดยอ้างอิงจากพระพุทธรูปนาคปรก ที่จัดแสดงอยู่กลางแจ้งภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เป็นตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจ
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในหนังสือ “ลพบุรี หลังวัฒนธรรมเขมร” เอาไว้ว่า
“พระพุทธรูปสมัยลพบุรีมีพื้นฐานสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมเขมร ทั้งเทคนิคการสร้างที่ใช้วัสดุหินทรายและรูปแบบศิลปกรรม ด้วยเหตุที่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ราว 100 ปี (ช่วงรอยต่อระหว่างสมัยปลายบายน-การสถาปนากรุงศรีอยุธยา : ผู้เขียน) พัฒนาการทางด้านศิลปะจึงไม่แตกต่างกันมากนัก ในส่วนที่สามารถตั้งเป็นข้อสังเกตได้คืองานที่สืบเนื่องจากวัฒนธรรมเขมรที่มีรูปแบบเกือบแยกไม่ออกกับส่วนหนึ่งที่เป็นงานพัฒนาการด้านรูปแบบที่เกิดเป็นลักษณะของตัวเองที่เรียกว่า “แบบท้องถิ่น” อย่างแท้จริง ในที่นี้ได้ตั้งข้อสังเกตในการแบ่งกลุ่มรูปแบบไว้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 มีการผสมระหว่างทวารวดีกับศิลปะเขมร (ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18) กลุ่มที่ 2 รูปแบบที่สืบทอดมาจากศิลปะเขมร (ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 19) และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่พัฒนามาเป็นลักษณะท้องถิ่นอย่างแท้จริง (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19)”
สำหรับพระพุทธรูปองค์นี้ จัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่พัฒนามาเป็นลักษณะท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยเป็นพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ ประทับนั่งเหนือขนดนาค 3 ชั้น พระชงฆ์ตั้งขึ้น มีสันเล็กน้อย (ลักษณะเฉพาะที่พบในงานประติมากรรมในศิลปะเขมรสมัยบายน) พระเศียรยังคงแสดงลักษณะการทรงเครื่องอยู่เพียงชั้นเดียว ได้แก่ มงกุฎทรงสูงที่ทำเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีการประดับลายกลีบบัว ลักษณะเช่นเดียวกับในสมัยบายน ไม่พบเครื่องประดับอื่นๆ เช่น กรองศอ พาหุรัด ทับทรวง สันนิษฐานว่าอาจจะมีการถวายเครื่องประดับต่างๆ เป็นของมีค่าที่นำมาใส่กับองค์พระพุทธรูปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา พระเนตรปิดและเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์แบะกว้าง ขอบพระโอษฐ์หนา และยังคงลักษณะแบบศิลปะสมัยบายนที่เรียกว่า “ยิ้มแบบบายน” อยู่ค่อนข้างมาก
แต่ในความเหมือนก็ยังมีความแตกต่างจากศิลปะบายน ได้แก่ พระพักตร์ยาวรูปไข่มากกว่าพระพักตร์ในงานประติมากรรมของเขมร มีพระวรกายที่ยืดสูงกว่า ขนดนาค 3 ชั้นสูงขึ้นมากกว่า และกรอบของเศียรนาคมีลักษณะเป็นใบโพธิ์สูงปลายแหลมมากกว่าสมัยบายนและศิลปะเขมรสมัยอื่นๆ
ศาสตราจารย์ ฌอง บวสเซอลิเยร์ ได้กำหนดอายุของพระพุทธรูปกลุ่มนี้ไว้ในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 โดยกำหนดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลสืบต่อมาจากศิลปะเขมรสมัยบายน มีลักษณะที่อาจจะแตกต่างกันคือ การทำพระวรกายสูงกว่า ตามพระวรกายไม่ทรงเครื่อง มีเฉพาะกุณฑลเท่านั้น พระเศียรไม่ทำเม็ดพระศก มีอุษณีษะทรงสูงทำเป็นชั้นประมาณ 3-4 ชั้น ประดับด้วยลายกลีบบัว โดยส่วนนี้มีที่มาจากมงกุฎ พระเนตรปิด เหลือบลงต่ำ ซึ่งแสดงถึงการยังรักษาแบบแผนของศิลปะสมัยบายน
แต่สิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างคือ การแสดงสีพระพักตร์ที่แสดงถึงการผสมผสานกันหลายรูปแบบ ได้แก่ พระนลาฏกว้างและสูงเกินไป พระหนุใหญ่และยาวลงมามาก ข้อสังเกตที่สำคัญคือ การทำพระพุทธรูปพระพักตร์ค่อนข้างยาวมาก ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของพระพุทธรูปหรืองานประติมากรรมเขมร ด้วยเหตุนี้เองจึงอาจทำให้นึกถึงลักษณะของความเป็นท้องถิ่นของผู้สร้างได้ไม่มากก็น้อย
นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ยังมีการพบพระพุทธรูปแบบนี้จำนวนมาก โดยปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ รวมถึงองค์พระรูปแบบเดียวกันแต่ไม่มีนาคปรก จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และยังพบอยู่โดยทั่วไปตามวัดต่างๆ ในเขตจังหวัดลพบุรี เช่น วัดกวิศราราม วัดเสาธงทอง วัดเชิงท่า เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดที่พบนั้นมีลักษณะเดียวกัน อนุมานว่าคงเป็นงานที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันและน่าจะเป็นฝีมือช่างกลุ่มเดียวกันด้วย ถือได้ว่าพระพุทธรูปในกลุ่มนี้ เป็นลักษณะเฉพาะของ “ศิลปะลพบุรี” ที่พบที่เมืองลพบุรีอย่างแท้จริง
พระพุทธรูปกลุ่มนี้ยังได้ให้อิทธิพลไปยังกลุ่มพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มพระพุทธรูปหินทรายที่มีพระพักตร์ค่อนข้างยาว และส่วนหนึ่งน่าจะให้อิทธิพลไปยังกลุ่มพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 ที่เชื่อว่าเป็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยด้วย แม้แต่พระพุทธรูปประธานของวัดไลย์ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ก็น่าจะมีพัฒนาการมาจากพระพุทธรูปในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเรียกพระพุทธรูปกลุ่มนี้ว่าเป็นพระพุทธรูปใน “ศิลปะลพบุรี” ได้อย่างเต็มปาก โดยไม่รวมกับศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย ขอฝากทุกท่านช่วยกันคิดและพิจารณาต่อ