สาธารณรัฐอินเดียตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือติดกับประเทศจีน เนปาล และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน ทิศตะวันออกติดบังกลาเทศ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดพม่าหรือเมียนมาร์ ส่วนทิศตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ติดมหาสมุทรอินเดีย มีกรุงนิวเดลี (New Delhi) เป็นเมืองหลวง
สำหรับ “เมืองโกนารัค” หรือบางคนออกเสียง “เมืองโกนัค” (Konark) เป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดกลางในย่านปูรี รัฐโอริสสา ตั้งอยู่บนชายฝั่งของอ่าวเบงกอล ห่างจากเมืองหลวงของรัฐ คือเมือง Bhubaneswar ราวๆ 60 กิโลเมตร สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของเมืองโกนารัค คือ “วิหารสุริยะ” (Sun Temple) หรือ “เทวสถานโกนัค” (Konark Temple) ได้รับการขนานนามว่าเป็นเจดีย์สีดำ ได้ชื่อว่าเป็นเทวสถานที่มีความงามทางสถาปัตยกรรมแบบโอริสสา อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ด้วย ใช้เป็นที่สำหรับบูชาสุริยเทพ
ตามประวัติ เทวสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์นรสิงห์ที่ 1 แห่งราชวงศ์คงคา ประมาณคริสศตวรรษที่ 13 ผู้ที่ค้นพบเป็นคนแรกชื่อ “ราชครูปาปะ พรามครี” โดยพบตัววัดอยู่ในป่ารกชัฎ และมีเกลือจากทะเลปกคุลมหนาแน่น ต่อมาชาวอังกฤษ โดย เฟอร์กัสสัน ได้เข้ามาสำรวจในปี พ.ศ. 2380 เริ่มทำการบูรณะในปี พ.ศ.2425 มีการย้ายประติมากรรมบางส่วนไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองกัลกัตตา (Kalkata) การบูรณะเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2453 เทวสถานโกนารัค สร้างตามความเชื่อและศรัทธาในองค์สุริยเทพ มีวิหารแกะสลักภาพร่ายรำบูชาพระอาทิตย์ และภาพแกะสลักประติมากรรม “กามสูตร” คล้ายที่คชุรโห (Khajuraho) มีมณฑปสร้างอุทิศให้พระนางมายาเทวี ชายาของสุริยเทพ และมีราชรถซึ่งเชื่อว่าองค์สุริยเทพทรงม้าลากราชรถเดินทางสู่สรวงสวรรค์ ส่วนที่โดดเด่นและยังสมบูรณ์ที่สุด คือ วิหารทรงพีรามิด ซึ่งรอบฐานมีกงล้อรถ 12 ล้อ แทน 12 ราศี แต่ละกงล้อสูง 10 ฟุต ที่ฐานกงล้อแกะสลักเป็นรูปช้างรองรับอย่างสวยงาม ส่วนที่เป็นห้องใหญ่ใช้ในการทำพิธียังอยู่ในสภาพสมบูรณ์
ความเชื่อเรื่องสุริยเทพนี้ คนโบราณเชื่อกันว่า “สุริยะ” หรือ “ดวงอาทิตย์” เป็นเทพเจ้าที่มีความสำคัญในอารยธรรมโบราณของโลกหลายแห่ง เช่น กรีก รู้จักกันในนามของ เทพอพอลโล หรือ อียิปต์ รู้จักกันในนามของ เทพเจ้ารา หรือในชนเผ่าต่างๆ ของโลก ก็นิยมบูชาพระอาทิตย์ ในประเทศอินเดียนั้น สุริยเทพปรากฏเป็นพระนามมาตั้งแต่สมัยพระเวท ซึ่งเป็นยุคสมัยแรกของพัฒนาการทางศาสนาพราหมณ์ในอินเดีย และในยุคต่อมาคือยุคปุราณะฐานะของสุริยเทพก็ค่อยๆ ลดบทบาทลงมา สำหรับการบูชาสุริยเทพนั้น เริ่มแพร่ขยายอิทธิพลมาจากอิหร่านไปยังแถบตะวันตกและตะวันออกของอินเดียอย่างช้าๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคแรกๆ เกี่ยวกับการบูชาพระอาทิตย์ของเมืองโอริสสา คือจารึกบนแผ่นทองแดงที่ชื่อว่า “สุมัณฑละ” มีอายุประมาณ พ.ศ.1142 อยู่ในสมัยของกษัตริย์ “มหาราชาธรรมราชา” จึงทำให้ความเชื่อที่ว่าการบูชาสุริยเทพในรัฐโอริสสานั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบต่อมาจากยุคพระเวท
เทวสถานแห่งโกนารัก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบที่เรียกว่า “โอริเซียนสไตล์” ซึ่งเป็นลักษณะที่ปรากฏอยู่ในเทวสถานภายในแถบแคว้นโอริสสาเท่านั้น เทวสถานแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1984 ปัจจุบันก็ยังคงได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่อง วิธีการยังคงใช้วัสดุหินทรายแบบดั้งเดิมก่อเสริมเข้าไปยังส่วนที่หลุดหาย การตัดเหลี่ยมและเข้ามุมวัสดุแต่ละก้อนจัดได้ว่ามีความปราณีต มาตรฐานเดียวกับช่างในอดีต ลวดลายและประติมากรรมอันอ่อนช้อยของเทวสถานแห่งนี้ จัดได้ว่าสวยงามและยังคงสภาพเดิมค่อนข้างมาก
ในส่วนของการบูรณะวัสดุใหม่แทนที่วัสดุเดิม หากมองอย่างผิวเผินแทบไม่เห็นความแตกต่างระหว่างของเดิมและของใหม่ ยกเว้นส่วนของลวดลายที่ไม่ได้แกะสลักเพิ่มเติม กระบวนการบูรณะวิธีการดังกล่าวในแวดวงโบราณคดีเรียกว่า Anastylosis เป็นศัพท์ทางโบราณคดีสำหรับเทคนิคการฟื้นฟูอาคารหรืออนุสาวรีย์ที่ถูกทำลาย โดยใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าวิหารแห่งนี้ ในอดีตอาจถูกทำลายจากสงครามมุสลิมในช่วงพุทธศตวรรษที่15-17 ปัจจุบันชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมวิหารแห่งนี้ได้ผุกร่อน เนื่องจากความเค็มของกรดเกลือจากทะเลเบงกอล
เทวสถานโกนารัก บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตได้เป็นอย่างดี แม้ว่าปัจจุบันเทวสถานแห่งนี้จะพังทลายลงไปบางส่วน แต่ก็ยังมีผู้คนเดินทางไปเยือนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงที่เป็นเทศกาลวันกำเนิดแห่งสุริยเทพ
หมายเหตุ:ภาพจากเพจโบราณคดีสัญจร ม.ศิลปากร