รศ. นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เขียนบทความหัวข้อ “จะอยู่อย่างไร ไม่เกิดวิกฤตโควิด-19 รอบ 2” แนะนำทั้งภาครัฐและประชาชนว่าควรปฏิบัติอย่างไรหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
บทความ “จะอยู่อย่างไร ไม่เกิดวิกฤตโควิด-19 รอบ 2” มีเนื้อหาดังนี้
“จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา จนสถานการณ์ถึงขั้นวิกฤตในช่วงก่อนปลายเดือนมีนาคม ที่มีผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19 ในกรุงเทพและปริมณฑลจำนวนมาก จนเตียงไอซียูที่เตรียมไว้รองรับเกือบถูกใช้หมด
แต่หลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการที่เข้มงวด และประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการต่างๆของรัฐอย่างเข้มแข็ง ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนอยู่ในระดับที่ถือว่า ควบคุมการระบาดได้ดีในปัจจุบัน
ซึ่งทุกภาคส่วนหวังว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการทางกฎหมายและทางสังคม เพื่อประชาชนจะได้กลับไปใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่ลดการสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ยังสามารถควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนอย่างช้า ๆ จนกว่าจะจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้เพียงพอ หรือจนกว่าประชากรส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
สมดุลใหม่ของการใช้ชีวิตที่จะเกิดขึ้นนี้ รัฐบาลและประชาชนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 รอบสอง ประกอบด้วย
1.การเคร่งครัดในการรักษาระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) โดยต้องไม่มีการอยู่รวมกันของประชาชนหนาแน่นเกินกว่า 1 คน ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ศูนย์การค้า ระบบขนส่งมวลชน สถานศึกษา การประชุม หรือการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น เกินกว่า 50 คนขึ้นไป เป็นต้น
2.ประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง เมื่อออกนอกที่พัก และสวมใส่ถ้าพื้นที่ในที่พักอยู่กันแออัด หรือสวมใส่ทุกครั้งเมื่อเป็นหวัด
3.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เมื่ออยู่ในที่พัก และทำความสะอาดมือทุกครั้งที่จับต้องวัตถุเมื่อออกนอกที่พัก
4.ใช้เวลาในที่สาธารณะให้สั้นที่สุด เพื่อการอุปโภคบริโภค และกิจกรรมที่จำเป็นส่วนบุคคล
5.ผู้ให้บริการทุกประเภท ที่มีการสัมผัสร่างกายผู้รับบริการ เช่น การตัดผม การนวดผ่อนคลายเส้น ต้องใส่หน้ากากอนามัยโดยเคร่งครัด มีการล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังกิจกรรม ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันระหว่างผู้รับบริการ สถานที่ให้บริการต้องมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี และมีแสงสว่างเพียงพอ และงดให้บริการกับผู้ที่มีอาการไข้หวัด
6.ประชาชนที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ถ้าไข้ยังสูงลอยเกิน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการหายใจเหนื่อย หรือหายใจติดขัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาว่าจะส่งตรวจการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มีอาการรุนแรงได้ง่าย คือ อายุเกิน 60 ปี อ้วนมาก มีโรคปอด โรคหัวใจ โรคไต และโรคตับเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
7.สามารถเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ได้ ยกเว้นการเดินทางเข้าออกพื้นที่ที่ยังมีผู้ติด เชื้อรายใหม่จะต้องมีมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด
ทั้งนี้เมื่อเริ่มมีมาตรการการผ่อนคลายแล้ว หากเกิดมีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อแล้วป่วยขั้นวิกฤต ประชาชนต้องเตรียมพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามมาตรการที่เข้มงวดขึ้นตามลำดับ”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์