ทุเรียนราคาพุ่งส่งจีนโต 90% พ่อค้าแย่งซื้อ-ขายออนไลน์

Trending ฮิตติดกระแส
ตลาดทุเรียนพลิกล็อก ยอดออร์เดอร์ส่งออกจีนพุ่ง หลังโควิด-19 สงบ พาณิชย์ชี้ไตรมาสแรกตลาดจีนโต 90% มูลค่า 8.4 พันล้าน พ่อค้าแย่งซื้อ ล้งจีนหน้าใหม่เพิ่ม 300 ราย แห่ขายออนไลน์ ทำราคาหน้าสวน “จันทบุรี-ตราด” ขยับแรง 105-110 บาท/ก.ก. ราคาขายปลีก 150-170 บาท/ก.ก. ส่วนทุเรียนตกไซซ์แพงไปด้วย
โรงงานแปรรูปหวั่นต้นทุนพุ่ง

“ทุเรียน” เป็นผลไม้ไทยระดับแถวหน้าที่ครองใจผู้บริโภคชาวจีนมานาน ส่งผลให้ที่ผ่านมาทุเรียนมีราคาสูงขึ้น จากปัจจัยการส่งออกในปริมาณที่มาก ทำให้ราคาบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศจีนเมื่อปลายปี 2562 มีการคาดการณ์ว่า ปีนี้ราคาทุเรียนคงลดต่ำลง แต่ปรากฏว่า ขณะนี้ราคาทุเรียนขายปลีกแบบไม่แกะเปลือกยังมีราคาสูงถึง กก.ละ 150-170 บาท ใกล้เคียงกับปีก่อน

ราคาพุ่งต้นฤดู

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด จำกัด เปิดเผยว่า ราคาทุเรียนปีนี้สูงมาก เนื่องจากตลาดจีนยังมีความต้องการในปริมาณที่สูง หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนเริ่มสงบ แม้การขนส่งทางบกจะไม่สะดวก แต่ผู้ประกอบการก็ปรับตัวหันมาขนส่งทางเรือแทน

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูราคาในช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนี้อีกครั้ง จะลดต่ำลงหรือไม่ เพราะทุเรียนภาคตะวันออกกำลังเข้าสู่ช่วงพีก รวมถึงผลผลิตในภาคใต้เริ่มออกมาสมทบด้วย ราคาหน้าสวนจะต่ำกว่า 100 บาทหรือไม่ ต้องคอยจับตา เพราะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ทุเรียนตกไซซ์ราคาสูงไปด้วย และมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงงานแปรรูปที่ทำทุเรียนแช่แข็ง หรือการแปรรูปอื่น ๆ ที่อาจมีต้นทุนสูงขึ้น อาจสู้ราคาไม่ไหว

จากข้อมูลระบุว่า ราคาทุเรียนตกไซซ์ปี 2562 ตกกิโลกรัมละ 50-70 บาท ผู้ประกอบการจึงประสบภาวะขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตทุเรียนแช่แข็ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้เนื้อทุเรียนมากถึง 4-4.5 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 200-280 บาท ประกอบกับระยะหลังชาวจีนเข้ามาช้อนซื้อทุเรียนตกไซซ์ในช่วงที่ราคาถูกลง แล้วส่งไปเก็บไว้ในห้องเย็นที่ประเทศจีน แล้วค่อยผลิตออกมาขายในต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการไทย

ล่าสุด สหกรณ์ได้หันมาส่งออกทุเรียนผลสดกันบ้างแล้ว อีกปัญหาที่ต้องระวังคือ ราคาที่สูงขึ้นนั้น อาจไม่ใช่ราคาที่แท้จริง ถ้าเกษตรกรไม่พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพราะจีนเข้มงวดมากเรื่องการรับรองสวนทุเรียนต้องได้มาตรฐาน GAP ส่วนโรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐาน GMP

“ก่อนโควิดจะระบาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ส่งออกไทยวิตกว่า ยอดขายทุเรียนไปตลาดจีนจะลดลงมาก จึงเตรียมแผนทำทุเรียนแช่แข็งแทนการส่งออกผลสดไปจีนแทน แต่ปรากฏว่าราคาตลาดกลับสูงขึ้นเร็ว ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงต้นฤดู” นายวุฒิพงศ์กล่าว

ล้งใหม่แย่งซื้อ

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกทุเรียนไปจีนในรูปแบบการค้าออนไลน์ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ราคาทุเรียนสูงกว่าปี 2562 มาตั้งแต่ต้นฤดู แม้จะมีผลผลิตทยอยออกมากแล้ว แต่ราคายังไม่ลดลงตาม ปัจจุบันราคาพันธุ์หมอนทองกิโลกรัมละ 105-110 บาท คาดว่าปีนี้ราคาจะไม่ลดต่ำกว่า 100 บาท

ขณะที่ทุเรียนตกไซซ์ก็ราคาสูงถึง 80-90 บาท เนื่องจากทุเรียนกระจายตัวออกหลายรุ่น ทำให้ปริมาณไม่ล้นตลาด ที่สำคัญ “ล้ง” หรือผู้ประกอบการชาวจีนมีการแข่งขันกันสูงมาก ถึงขั้นแย่งกันซื้อ ปัจจุบันมีล้งเพิ่มขึ้นรวมแล้วเกือบ 300 ล้ง

“ที่ผ่านมาการส่งออกทุเรียนไปจีน ติดปัญหาเรื่องขนส่งล่าช้า เมื่อต้นเดือนเมษายนมีรถขนส่งไปติดที่ด่านโหยวอี้กวน 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ทุเรียนแตกเสียหาย ขายออนไลน์ไม่ได้ ขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท เมื่อมีการเจรจากำหนดวันที่ 30 เมษายน 2563 ให้เปิดด่านเพิ่มอีก 2 ด่าน คือ ด่านรถไฟผิงเสียงและด่านตงซิน ทำให้สินค้ากระจายได้ 3 ด่าน ระบบขนส่งจึงคล่องตัว จากเดิมมีรถติดค้างใช้เวลาเดินทางถึง 9 วัน ตอนนี้เหลือเพียง 3 วัน จึงต้องเร่งใช้เส้นทางผ่านด่านที่เปิดใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

วอนรัฐหาตลาดใหม่

นายณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ รองประธานทุเรียนแปลงใหญ่จันทบุรี กล่าวว่า ปีนี้มีทุเรียน 2-3 รุ่น ช่วงรอยต่อทุเรียนแต่ละรุ่น ผลผลิตจะขาดช่วง ทำให้ราคาพุ่งขึ้น 10-15 บาทจากราคาปกติ เช่น ตอนนี้ราคา 105-110 บาท จะเพิ่มเป็น 120 บาท ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ทุเรียนจันทบุรียังอยู่ 50-55% และเดือนพฤษภาคมจะออกมากสุด ปีนี้ล้งรับซื้อเพิ่มขึ้นมาก ทำให้แย่งกันซื้อถึงขั้นเหมาสวนใหญ่ ๆ ไว้ก่อน ราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท ปีที่แล้วราคาต่ำเฉลี่ยกิโลกรัมละ 70-80 บาท ปีนี้สูงกว่าปีก่อนและไม่น่าจะต่ำกว่า 100 บาท เพราะขนส่งน่าจะคล่องตัวขึ้น

แม้จีนจะเจอวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่มีผลต่อการส่งออกทุเรียน เพราะพ่อค้าจีนเข้ามาเหมาซื้อไปก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว เพราะเชื่อว่าคุณสมบัติของเนื้อทุเรียนมีกำมะถัน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นป้องกันเชื้อไวรัสได้

“ปัญหาที่พบ บางล้งไม่ได้จดทะเบียนหรือผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน จึงมีเล็ดลอดส่งทุเรียนอ่อนปะปนไป ซึ่งเป็นผลเสียต่อมาตรฐานของทุเรียนไทย และล้งจีนก็เป็นผู้กำหนดราคาทุเรียนตั้งแต่ต้นทางไปปลายทาง เกษตรกรไทยจึงเสียเปรียบ หากมีการซื้อกดราคาในอนาคต ภาครัฐต้องหาตลาดใหม่ ๆ เป็นทางเลือกให้ผลไม้ไทย ทั้งทุเรียน มังคุด เพื่อแก้ปัญหาด้านการตลาด” นายณรงค์สิชณ์กล่าว

ส่งออก Q1 โต 90%

รายงานข่าวจากคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2563 (26 มีนาคม 2563) ระบุว่า ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก 3 จังหวัด จันทบุรี ตราด ระยอง ปี 2563 ผลผลิตเพิ่มขึ้น 54,492 ตันหรือ 11% จากปี 2562 ผลผลิต 495,543 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 550,035 ตัน จันทบุรี ปี 2563 ผลผลิตเพิ่ม 41,154 ตันหรือ 12.13%

จากปี 2562 ผลผลิต 339,292 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 380,446 ตัน ตราดปี 2563 ผลผลิตเพิ่ม 7,018 ตันหรือ 14.57% จากปี 2562 ผลผลิต 48,158 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 55,176 ตัน ระยอง ปี 2563 ผลผลิตเพิ่ม 6,320 ตันหรือ 5.85% จากปี 2562 ผลผลิต 108,093 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 114,413 ตัน

ผลผลิต 3 จังหวัดจะออกมากช่วงเดือนเมษายน ปริมาณ 171,951 ตันหรือ 31.26% เดือนพฤษภาคม ปริมาณ 208,485 ตันหรือ 37.90% เดือนมิถุนายน ปริมาณ 98,565 ตันหรือ 17.92%

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มูลค่าส่งออกสินค้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งในไตรมาส 1/2563 มีมูลค่า 8,492 ล้านบาท เพิ่ม 25.78% โดยส่งออกไปตลาดจีนเป็นอันดับ 1

คิดเป็น 66.94% ของการส่งออกทั้งหมด ด้วยมูลค่า 5,685 ล้านบาท และมีอัตราขยายตัวเพิ่ม 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออก 2,986 ล้านบาท รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 1,524 ล้านบาท ลดลง 34.69% ฮ่องกง มูลค่า 1,137 ล้านบาท ลดลง 11% สหรัฐ 70.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และไต้หวัน 27.60 ล้านบาท ลดลง 4.35%

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์