จันทิเมนดุต ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับจันทิปะวนและบุโรพุทโธ ไม่ไกลจากเมืองยอกยาการ์ตามากนัก จันทิแห่งนี้สร้างขึ้นในศิลปะชวาภาคกลางตอนกลาง โดยราชวงศ์ไศเลนทร์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ตามคติพุทธศาสนามหายาน โดยมีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในระยะเดียวกันกับบุโรพุทโธ
โดยคำว่า ‘จันทิ’ นั้นยังไม่มีข้อสรุปเรื่องความหมายที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะถือกำเนิดขึ้นที่อินเดีย โดยพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วนในอินเดียตอนใต้ มีพิธีกรรมในการบูชาหินชนิดหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะนำมาซึ่งพลังและอำนาจศักดิ์สิทธิ์โดยเรียกหินชนิดนี้ว่า จันทา (Canda) คล้ายกับการบูชาศิวลึงค์ของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาฮินดู และนั่นอาจเป็นที่มาของชื่อจันทิ (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)
นอกจากนี้ ในวรรณกรรมของอินเดียยังพบคำว่า “จันทิ” ปรากฏครั้งแรกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ โดยพบอยู่ในตอนที่ท้าวภีษมะสวดอ้อนวอนเทพีองค์หนึ่งนามว่าจันทิ (Candi) นักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อกันว่าอาจหมายถึง “จัณฑิ” หรือ “จัณฑิกา” พระนามหนึ่งของพระนางทุรคา (Durga) เทพีแห่งความตาย ปางหนึ่งของพระนางอุมา ศักติของพระศิวะ
สำหรับ “จันทิ” ในมิติทางสถาปัตยกรรมของชวานั้นมิได้หมายถึงอาคารที่ประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสุสานซึ่งบรรจุอัฐิไว้ในโกศหรือตลับแล้วฝังไว้ใต้ฐานอาคาร ในตำแหน่งที่ตรงกับรูปเคารพภายในอาคารด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นอัฐิของบุคคลสำคัญ อาทิ พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังหมายถึงอาคารที่บูชาบรรพบุรุษของพระมหากษัตริย์หรืออนุสรณ์สถาน และอีกความหมายหนึ่งยังหมายถึง “วัด” ของชุมชนที่ประชาชนสามารถเข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจด้วย (R. Soekmono : 1995)
รองศาสตราจารย์เสนอ นิลเดช ให้ความเห็นเกี่ยวกับชื่อเรียกจันทิไว้ว่า “จันทิ ซึ่งเป็นค้าที่ใช้เรียกศาสนสถานในประเทศอินโดนีเซียหรือชวานั้น ตรงกับค้าในภาษาสันสกฤตว่า เจติยะหรือเจดีย์นั่นเอง” (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)
นอกจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมด้านนอกของที่นี่ ที่มีขนาดใหญ่และยังคงระบบที่เรียกว่า “วิมานอินเดียใต้” แล้ว ยังมีภาพสลักพระโพธิสัตว์ 8 องค์ หรือที่เรียกว่า “อัษฏมหาโพธิสัตว์” เป็นพระโพธิสัตว์สำคัญในพุทธศาสนามหายาน ประทับตามเก็จมุมด้านนอก
จันทิเมนดุตจึงกลายเป็นมณฑลของพระโพธิสัตว์ทั้ง 8 องค์ ผู้ประทับล้อมรอบพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน สำหรับอัษฏมหาโพธิสัตวมณฑลนี้ปรากฏมาก่อนแล้วที่ถ้ำเอลโลร่าและในศิลปะอินเดียแบบปาละ ศิลปะชวาภาคกลางเองจึงควรได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสกุลใดสกุลหนึ่งนั่นเอง
โดยพระโพธิสัตว์ทั้ง 8 นั้น มีความหมายคือแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- อวโลกิเตศวร แสดงบุคลาธิษฐานด้านความกรุณา
- อากาศครรภ์ หมายถึงผู้มีครรภ์ในอากาศ
- กษิติครรภ์ ผู้มีครรภ์ในพื้นดิน
- วัชรปาณิ แสดงบุคลาธิษฐานด้านพลังอำนาจ
- สมันตภัทร แสดงบุคลาธิษฐานด้านการปฏิบัติธรรม
- มัญชุศรี แสดงบุคลาธิษฐานด้านปัญญา
- ไมเตรยะ หรือเมตไตรย แสดงบุคลาธิษฐานด้านความเมตตา
- สรรวนิวรณ หรือวิษกัมภิน แสดงบุคลาธิษฐานด้านการข้ามพ้นนิวรณ์ทั้งมวล
ภายในมุขมณฑปทางด้านหน้าของที่นี่ยังปรากฏภาพสลักรูปท้าวกุเวรและนางหาริตี ซึ่งบางคติเชื่อว่านางเป็นชายาของท้าวกุเวรด้วย ทั้งสองต่างเป็นยักษ์และยักษิณีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ โดยท้าวกุเวร หรือท้าวชัมภละ เป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ส่วนนางหาริตีเป็นผู้พิทักษ์เด็ก อีกนัยหนึ่งน่าจะเป็นผู้ประทานบุตรหลานแก่ผู้ศรัทธาด้วย
ถัดมาในห้องครรภคฤหะของจันทิแห่งนี้ปรากฏประติมากรรมสำคัญ 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทางด้านขวา และพระโพธิสัตว์วัชรปาณิทางด้านซ้าย
พระพุทธรูปองค์นี้มีรูปแบบศิลปกรรมที่แสดงอิทธิพลจากศิลปะจาลุกยะที่ถ้ำเอลโลร่ากับศิลปะปาละจากอินเดียภาคตะวันออก มีอุณาโลมตามแบบศิลปะปาละแต่กลับห่มเฉียงและมีชายจีวรที่ตกลงมาระหว่างพระเพลาทั้งสองข้าง ดังที่ปรากฏกับพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทที่ถ้ำอชันตาและเอลโลร่า ส่วนบัลลังก์ที่ประดับด้วยมกร วยาลและช้างก็ปรากฏมาก่อนแล้วทั้งที่ถ้ำเอลโลร่าและในศิลปะปาละ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)
พระพุทธรูปองค์นี้ อาจหมายถึงพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนีหรือพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดก็ล้วนสามารถแสดงปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา) ได้
สำหรับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมีพระอมิตาภะพุทธเจ้า ปางสมาธิ ปรากฏบนมวยผม ส่วนพระหัตถ์ซ้ายที่หักนั้นน่าจะเคยถือดอกบัวหรือปัทมะ ในขณะที่ของพระโพธิสัตว์วัชรปาณิ น่าจะเป็นวัชระ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์
พระโพธิสัตว์ทั้งสององค์มีเครื่องแต่งกายที่คล้ายคลึงกับศิลปะปาละมาก ทั้งการทรงกระบังหน้าที่มีตาบสามเหลี่ยม 3 จุด รูปแบบชฎามกุฏทรงกระบอกและการสวมวาสตรยัชโญปวีต รวมถึงการนั่งลลิตาสนะบนฐานกลีบบัวและรูปแบบพนักบัลลังก์ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)
สำหรับการทำรูปเคารพพระพุทธเจ้าขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและวัชรปาณินั้น ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่งานศิลปกรรมภายในถ้ำอชันตาและเอลโลร่าในอินเดีย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่แพร่หลายในงานศิลปะชวาภาคกลางอีกด้วย