โควิด-19 อาจจะทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน แต่เชื้อมรณะตัวนี้ไม่สามารถหยุดยั้งความขยันหมั่นเพียรและสัญชาตญานการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ได้
“เดชพนต์ พูลพรรณ” อายุ 39 ปี กัปตันการบินไทย เป็นหนึ่งชีวิตที่ต้องปรับตัวในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด
จากที่เคยจับคันบังคับเครื่องบิน ส่งผู้โดยสารให้ถึงปลายทางอย่างปลอดภัย วันนี้ “เดชพนต์” ต้องเปลี่ยนมาทำหน้าที่คุมไฟในเตาอบ เพื่อให้ได้ “บราวนี่” แสนอร่อย ขายลูกค้าเป็นรายได้เสริม
“เดชพนต์” เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นผู้ช่วยกัปตันนาน 12 ปี จากนั้นได้สอบเลื่อนขั้นเป็นกัปตัน ซึ่งทำได้ประมาณ 4 ปีแล้ว บินเครื่องโบอิ้ง 787 และ เครื่องโบอิ้ง 777 ไฟลต์สุดท้ายก่อนหยุดบินชั่วคราว คือบินกลับจากออสเตรีย เมื่อ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา
“ช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาดแรก ๆ ไม่คิดว่าจะหนักไปถึงโซนยุโรป คิดว่าคงจำกัดแค่ในจีน ไต้หวัน หรือฮ่องกง พอเป็นแบบนี้ รู้สึกตกใจที่สถานการณ์รุนแรง เพราะกระทบกับเราโดยตรง”
“เดชพนต์” เผยต่อว่า ช่วงแรกบริษัทออกกฎห้ามบินไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ภายหลังมาตรการเข้มงวดขึ้นตามความรุนแรงของโรคที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จึงมีการงดบินออกนอกประเทศ และทางการห้ามคนจากต่างประเทศเข้าไทย ห้ามคนไทยไปต่างประเทศ นำไปสู่การหยุดบินไปโดยปริยาย แต่ถึงอย่างนั้นนักบินทุกคนยังต้องไปฝึกจำลองการบินด้วยเครื่อง Simulator เหมือนเดิม
“วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้รายได้หายไป บริษัทออกมาตรการลดเงินเดือนประมาณ 40% เงินเบี้ยเลี้ยงไม่ได้ เพราะหยุดบิน ตอนนี้รายได้ผมเหลือประมาณ 60% แต่ยังอยู่ได้ ไม่เครียด เพราะไม่มีภาระ พยายามประหยัด อะไรที่อยากได้ช่วงนี้ต้องงดก่อน และหาอย่างอื่นทำ ไม่ให้ตัวเองว่าง”
สาเหตุที่ลุกมาทำ “บราวนี่” เนื่องจากมีไอเดียมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ด้วยความที่อยากสร้างบรรยากาศดี ๆ ในการทำงาน
“ปกติเวลาไปบิน ผมชอบซื้อขนมติดไม้ติดมือไปฝากลูกเรือ และเพื่อนร่วมงานเป็นประจำ เพื่อสร้างบรรยากาศดี ๆ ในการทำงาน จนวันหนึ่งคิดว่าอยากจะทำของให้ลูกเรือ ให้เพื่อน ๆ ด้วยตัวเอง ทำเค้กคงไม่ไหว พกพาลำบาก ต้องทะนุถนอม ส่วนบราวนี่ชิ้นเล็ก พกพาง่าย และผมชอบทาน เลยเลือกไปเรียนบราวนี่ คุกกี้ และขนมเปี๊ยะ ซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างมาไว้ที่บ้าน พอเรียนจบกลับมาลองทำ ปรับสูตรอยู่นาน ทำเสียไปหลายถาด เริ่มได้แจกให้เพื่อน ๆ ชิม เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้เอง หลายคนชมว่าอร่อย ทานแล้วชอบ อยากซื้อ เป็นจุดเริ่มต้นให้ทำขาย และสร้างแบรนด์ Flying sweets ขึ้นมา เริ่มขายจริงจังช่วงต้นเดือนมีนาคม เพราะหยุดบินพอดี มีเวลาทำเต็มที่ จังหวะพอดีมาก ๆ”
แต่ละวัน “เดชพนต์” จะเป็นเชฟหลักทำบราวนี่ทุกชิ้นด้วยตัวเอง ส่วนภรรยาจะช่วยเช็กและรับออร์เดอร์จากลูกค้า ลูกสาวคอยพับกล่อง ติดสติ๊กเกอร์แบรนด์
“ทั้งวันผมจะวนอยู่กับการทำบราวนี่ ตื่นแต่เช้าประมาณ 6-7 โมง ทำบราวนี่ก่อนสักส่วนหนึ่ง จากนั้นสาย ๆ จะออกไปส่งขนมให้ลูกค้า แล้วกลับมาทำต่อช่วงบ่ายถึงกลางคืน หนึ่งวันจะทำได้ประมาณ 150 ชิ้น เฉลี่ย 10-15 ถาด แต่มีบางวันที่ออร์เดอร์ถึง 20 ถาด”
มี 4 รสชาติให้เลือก คือ Nutella Brownie, Creamcheese Brownie, Macadamia Brownie, Matcha White Brownie ราคาชิ้นละ 35-38 บาท
“ตอนแรกทำขายเพื่อน ๆ ก่อน ตอนหลังเริ่มมีลูกค้าจากที่อื่น อาจจะเห็นจากโพสต์ในกลุ่มฝากร้านของมหาวิทยาลัย ลูกค้ามาต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ รายได้ดีเลยครับ เดือนเมษายนที่ผ่านมาประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน คำนวณดูแล้วตกวันละเกือบ 5,000 บาท หักลบรายจ่ายแล้วยังเหลือกำไร แต่ไม่เยอะมาก ยังเทียบกับนักบินไม่ได้ เพราะต้นทุนเราคือค่าวัตถุดิบที่ใช้อย่างดี”
แต่ถึงจะทำรายได้ได้ดีขนาดนี้ “เดชพนต์” ยังคงคิดถึงการกลับไปบินเหมือนเดิม ส่วนการทำบราวนี่ขอทำเป็นรายได้เสริมพอ
“ช่วงโควิด หลายคนอาจจะมองว่าเป็นวิกฤต แต่ผมยังเห็นว่าเป็นโอกาสให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เช่น ทำขนมขาย ได้ออกไปส่งของ คนถามว่าคุ้มไหม ผมไม่ได้มองตรงนั้น คิดแค่ว่าได้ไปเจอเพื่อนเก่า เจออาจารย์ ถ้าคนไหนอยู่ไม่ไกลมากจะไปส่งด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้ออร์เดอร์เยอะ เลยให้แมสเซนเจอร์ช่วยส่ง”
นอกจากทำขายแล้ว “เดชพนต์” ยังทำบราวนี่บริจาคเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย โดยมีเพื่อน ๆ และคนรู้จัก ช่วยกันบริจาคสมทบทุน
“ทำเป็นมินิบราวนี่ชิ้นเล็กส่งให้โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันบำราศนราดูร ล่าสุดที่บ้านเด็กตาบอดรามอินทรา ร่วมกันกับเพื่อนในสมาคมนักเรียนเก่าสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยกันบริจาคเป็นทุนค่าขนม” กัปตันกล่าวในตอนท้าย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์