เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 พฤษภาคม ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน(มติชนอคาเดมี) สมาคมเชฟประเทศไทย และ Thailand Culinary Academy ภายใต้ความร่วมมือของ สมาคมเชฟโลก แถลงจัดโครงการ ข้าวกล่องเชฟฮัก แบ่งปันชุมชนสู้ภัยโควิด โดยมี เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟประเทศไทย เชฟวิลเมน ลีออง ประธาน Thailand Culinary Academy และประธานสมาคมเชฟโลก World Chefs Without Borders และคุณอาณัติ ลิ้มจิระวัฒนา ประชาสัมพันธ์โครงการฯ เป็นผู้แถลง
ทั้งนี้โครงการ ข้าวกล่องเชฟฮักฯ จัดขึ้นเพื่อร่วมแบ่งปัน บรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยและอาศัยในชุมชนต่างๆในกทม. โดยจัดให้มีการปรุงอาหารด้วยความพิถีพิถัน จากฝีมือเชฟและกุ๊กมืออาชีพ ในมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารและสุขอนามัยในการประกอบอาหาร บรรจุในกล่องข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผ่านกลุ่มแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน ไปยังชุมชนต่างๆถึง 50 ชุมชนตลอดโครงการ โดยมีเป้าหมายแจกข้าวกล่องเชฟฮัก จำนวน 40,000 กล่อง ภายใน 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-20 พ.ค.
นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ ช่วยเหลือจิตอาสาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากงานประจำ โดยกำหนดงบประมาณจัดจ้าง กลุ่มบุคคลทุกกลุ่มที่เข้ามาช่วยดำเนินการ อาทิ กลุ่มเชฟ กุ๊ก ผู้ปรุงอาหาร,กลุ่มเจ้าหน้าที่บรรจุอาหาร,กลุ่มแท็กซี่,กลุ่มเจ้าหน้าที่นำส่งอาหารตามชุมชน โดยเปิดรับสมัคร ลงทะเบียนเพื่อการคัดกรองตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้เฉพาะในส่วนของคณะผู้ริเริ่มโครงการฯจะไม่รับค่าจ้างแต่อย่างใด
โดยเชฟสมศักดิ์ กล่าวว่า การทำอาหารแจกเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายจุดมีวิธีจัดการไม่ถูกต้อง บางชมรมไม่มีครัวมาตรฐาน คนทำสะอาดหรือเปล่า ไว้ใจได้หรือเปล่า บางแห่งเอาวัตถุดิบมากองกับพื้น ผัดกันข้างทาง เราจึงมาถึงจุดนี้ เราต้องการเผยแพร่ให้ทั่วโลกดูว่ามาตรฐานการแจกข้าวกล่องเป็นอย่างไร โดยวิชาชีพของเรา ที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยอยู่แล้ว เอามาเป็นแม่บทในการทำงานทุกขั้นตอน เราอยากทำให้เป็นครัวต้นแบบ อันนี้เอาไปใช้ได้เลย
เชฟสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปกติผมเป็นเชฟใหญ่ อยู่โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น ศรีนครินทร์ ช่วงนี้โรงแรมปิด และคาดว่าจะเปิดในอีก2เดือนข้างหน้า จริงๆเราทำข้าวกล่องแจกอยู่แล้ว แต่เราต่อยอด ต้องการทำให้เป็นมาตรฐาน ให้คนที่ผลิตดูว่าการบริหารการจัดการในครัวควรจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่เริ่มรับของ ผลิตอาหาร แพ็คกิ้ง เพื่อส่งไปตามชุมชน
“โดยโรงแรมต่างๆที่คาดว่าจะเปิดในอีก2เดือนข้างหน้า ต้องบริหารจัดการอย่างนี้เหมือนกัน รวมถึงห้องอาหารและผู้บริโภค ต้องรักษาระยะห่าง (Social Distancing) และเรื่องความสะอาดที่เรานำเสนอ โดยกระบวนการทำอาหารแจกก็ควรจะบริหารจัดการเรื่องความสะอาดอย่างนี้
“ครัวมาตรฐานควรจะเป็นอย่างที่มติชนอคาเดมี การบริหารจัดการอย่างนี้ โดยโรงแรมหลายๆที่ก็ครัวมาตรฐาน และควรบริหารจัดการอย่างนี้ ต้องปรับปรุงให้ได้ เราทำเป็นมาตรฐานเอาไว้ ในการทำอาหารแจก ทั้งหมดนี้มาจากทางรัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีส่งไลน์แย้งมาทางสมาคมเชฟฯในเรื่องความสะอาดปลอดภัย และให้เรามาจัดการบริหาร โดย50ชุมชนที่จะนำข้าวกล่องไปแจกนี้ทางรัฐบาลได้คัดเลือกมาให้”เชฟสมศักดิ์กล่าว
ด้านเชฟวิลเมน กล่าวว่า คนทำข้าวกล่องแจกเยอะมาก เราจึงก็อบปี้สิ่งดีดีของเขาเอามาใช้ พยายามทำให้มีมาตรฐานมากที่สุด โครงการนี้เรามีโอกาสแจ้งนายกสมาคมเชฟโลก ที่ฝรั่งเศส เขารอข้อมูลของเราเพื่อทำเป็นตุ๊กตา ที่จะส่งให้ทั่วโลกให้มาทำตามแบบเรา โดยองค์กรที่ทั้งแจกอาหาร และเชิญชวนคนที่เดือดร้อนมาช่วยงานให้เขามีรายได้แบบนี้ ยังไม่เคยได้ยิน เราจึงทดลองทำ อย่างไรก็ตามข้อมูลทุกอย่าง เราต้องส่งไปที่สมาคมเชฟโลก เขาจะส่งให้ทั่วโลกรู้ว่าต้นแบบเป็นแบบนี้ ถ้าสงสัยสามารถติดต่อผมได้ ในอนาคตอาจมีเชฟฮักในต่างประเทศก็ได้
ด้าน อาณัติ กล่าวว่า ข้าวกล่องเชฟฮัก ในระยะเวลา10วัน เราคาดว่าจะใช้เชฟ กุ๊ก และเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆรวม 850 คน โดยสโลแกนของโครงการ คือ “เชฟฮัก”ไม่มีอ้อมกอด แต่มีรักที่อยากแบ่งปัน CHEFHUG,No hug but love to share หมายถึงภายใต้สถานการณ์โควิด เราไม่มีโอกาสกอดกัน แสดงความรักต่อกัน เพราะต้องรักษาระยะห่าง (Social Distancing) แต่เชฟอย่างเรา ถึงแม้กอดไม่ได้ แต่ก็ยังมีใจที่จะแสดงความห่วงใยและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดไป โดยการส่งความรักของเชฟผ่านข้าวกล่องเชฟฮัก ในแต่ละวันจะทำข้าวกล่อง 4,000 กล่อง ส่ง5รอบ รอบละ 800 กล่อง เริ่มตั้งแต่ 13.00 น.เว้นระยะทุก 1 ชั่วโมง ไปยัง5ชุมชนในกทม. โดยว่าจ้างคนขับแท็กซี่วันละ25คัน ใช้กุ๊กและเชฟวันละ20คน คนแจกอาหารวันละ20คน
อาณัติ กล่าวต่อว่า ในกระบวนการจัดทำข้าวกล่อง เรามี10มาตรการในการรักษาความสะอาด และอยากให้เป็นมาตรฐานสากลในการป้องกันโควิด-19 คือ 1.ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร โดยคนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้เข้า 2.บันทึกข้อมูลบุคคล 3.มีจุดแจกแอลกอฮอล์เจล 4.สตาฟในครัวล้างมือทุกๆ1ชม. 5.ใส่หมวกและมียูนิฟอร์ม 6.มีถุงมือแจกทั้งในครัว ทีมแพค และทีมแจกอาหาร 7.ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 8.มีเฟซชิลด์ ให้ทีมแพคอาหาร ทีมแจกอาหารทั้งหมด 9.แอลกอฮอล์เจลกระจายทุกที่ และ10.เว้นระยะห่าง (Social Distancing) ทั้งนี้สามารถติดตามโครงการเชฟฮักฯได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Chef Hug เราคาดหวังว่า รูปแบบการแจกอาหารแบบนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับบริษัท ภาครัฐเอกชน อยากเอาไปทำต่อ จะเป็นประโยชน์มากๆให้กับผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ทั้งนี้เราขอขอบคุณสปอนเซอร์ที่มอบผลิตภัณฑ์และเงินสนับสนุน อาทิ ช่อง ONE31 , เบทาโกร , บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทยจำกัด ในเครือSCG ฯลฯ
อนึ่ง โครงการ ข้าวกล่องเชฟฮัก ได้รับการสนับสนุนและรับรองจากสมาคมเชฟโลก โดยหน่วยงาน World Chefs without borders ซึ่งเป็นหน่วยงานจากสมาคมเชฟโลกที่ให้การช่วยเหลือหายนะภัยทั่วโลกโดยใช้ศักยภาพของบุคลากรเชฟจากทั่วโลก ผ่านการระดมทุน การปรุงอาหาร การจัดการทางด้านอาหารแบบมืออาชีพในระดับสากล ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ ได้รับการประชาสัมพันธ์ไปอย่างกว้างขวางและเป็นการดำเนินการการแจกอาหารภายใต้วิกฤติที่เป็นรูปแบบที่มีมาตรฐานและสามารถนำไปเป็นต้นแบบการดำเนินการแจกอาหารอย่างมืออาชีพและเป็นมาตรฐานแห่งแรกของโลกอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว คณะผู้แถลงได้นำสื่อมวลชน ชมกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ตั้งแต่เริ่มรับของ ครัวผลิตอาหาร แพ็คกิ้ง เพื่อส่งไปตามชุมชนด้วย