ปรีดี พนมยงค์ : 120 ปี ชาตกาล ตำนาน “บุคคลสำคัญของโลก”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ปรีดี พนมยงค์ : 120 ปี ชาตกาล ตำนาน “บุคคลสำคัญของโลก” – BBCไทย

11 พ.ค. 2563 ครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 120 ของ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ “บุคคลสำคัญของโลก” แกนนำผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ที่ทำให้ประเทศไทยไม่กลายเป็นชาติที่แพ้สงคราม

บีบีซีไทยขอนำเสนอประวัติย่อของ “รัฐบุรุษอาวุโส” ผ่านการค้นคว้าของ ดร. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณพิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

(การนับปี พ.ศ. ในบทความนั้น หากเป็นก่อน 1 ม.ค. 2484 เป็นการนับระหว่าง 1 เม.ย.-31 มี.ค. จนกระทั่งมาถึง ธ.ค. 2483 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ 1 ม.ค. 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย และนับ พ.ศ. เป็น 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค.)

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นแกนนำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้รับการยกย่องว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรโดยเป็นผู้ร่างคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ และผู้ประศาส์นการ (ผู้ก่อตั้ง) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นอกจากนี้ยังและมีบทบาทสำคัญในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบกับต่างประเทศ

วัยเด็กและการศึกษา

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายปรีดี เกิดที่เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 11 พ.ศ. 2443 เป็นบุตรนายเสียงและนางลูกจันทร์ เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ. 2456 ได้ใช้นามสกุลว่าพนมยงค์

เขาเริ่มการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร มัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นออกมาช่วยบิดาทำนา 1 ปีจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. 2460 พร้อมกับศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภากับอาจารย์เลเดเกร์ (E. Ladeker) นายปรีดีใช้เวลาเรียนเพียงหนึ่งปีครึ่งก็สอบไล่ได้วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตเมื่อพ.ศ. 2462 ขณะอายุเพียง 19 ปี จึงต้องรอถึงอายุ 20 ปีเพื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาตามระเบียบข้อบังคับในขณะนั้น แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง นายปรีดีได้รับเป็นทนายความแก้ต่างให้กับฝ่ายจำเลยโดยได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจากผู้พิพากษาเจ้าของคดี และชนะคดี

นายปรีดีได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาต่อในวิชากฎหมายที่ฝรั่งเศส โดยเข้าศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่มหาวิทยาลัยก็อง (Universite de Caen) และจากนั้นเข้าศึกษาวิชากฎหมาย ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาได้ ปริญญาเอกแห่งรัฐด้านกฎหมาย

ระหว่างศึกษา นายปรีดีได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการคนแรกของสามัคยานุเคราะห์สมาคมและได้รับเลือกให้เป็นสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคม 2 สมัยใน พ.ศ. 2467-2468

นายปรีดีสมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) เมื่อ พ.ศ. 2472 มีบุตร-ธิดา 6 คน

เพจ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์

คิดการใหญ่ในต่างแดน

นายปรีดี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรร่วมกับเพื่อนนักเรียนไทยและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ในต้นเดือน ส.ค. พ.ศ. 2467 นายปรีดีได้มีโอกาสสนทนาวิจารณ์เรื่องการเมืองกับพลโทประยูร ภมรมนตรี ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยมีความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเวลาต่อมาจึงได้ชักชวนร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ, ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ดร.ตั้ว ลพนานุกรม และนายแนบ พหลโยธิน รวม 7 คน ประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจัดประชุมช่วงต้นกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่ ห้องพักหมายเลข 9 ถนนซอมเมอราร์ (Rue de Sommerard) ที่เงียบสงบ ในฤดูหนาวของกรุงปารีส

ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้นายปรีดีเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีผู้ที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎร การประชุมที่ดำเนินการเป็นเวลา 5 วัน โดยมีวัตถุประสงค์คือเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและการดำเนินการให้บรรลุหลัก 6 ประการคือ 1. การรักษาความเป็นเอกราช 2. การรักษาความปลอดภัยให้ประเทศ 3. การบำรุงความสุขของราษฎรทางเศรษฐกิจ 4. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 5. ให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพ 6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร โดยใช้วิธีการแบบยึดอำนาจโดยฉับพลัน และให้แต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสายในการหาสมาชิกโดยคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง

เมื่อกลับมาประเทศไทย นายปรีดีได้รับราชการเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและผู้บรรยายโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม นายปรีดีได้ถือโอกาสบรรยายปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจแนวทางประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจ

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เปลี่ยนแปลงการปกครอง

24 มิ.ย. พ.ศ. 2475 นายปรีดีได้ร่วมกับคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรโดยเป็นผู้ร่างคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่1 และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475

28 มิ.ย. พ.ศ. 2475 หลังจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ประกาศใช้ นายปรีดี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราวจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจประกาศตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวซึ่งมีจำนวน 70 นาย ในวันดังกล่าวได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และที่ประชุมได้เลือกมหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี) และได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติจำนาน 14 คน โดยนายปรีดี เป็นหนึ่งในคณะกรรมการราษฎร

 

10 ธ.ค. พ.ศ.2475 เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.24745 ประกาศใช้ ได้มีการแต่งตั้งให้นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ .2475

สามเดือนต่อมา หลวงประดิษฐมนูธรรม หรือนายปรีดี ได้เสนอเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เพื่อให้เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีเนื้อหา 3 ส่วนคือ 1. ว่าด้วยเค้าโครงการเศรษฐกิจ 2. เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร 3. เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช…. เมื่อเค้าโครงการฯได้เผยแพร่ออกไปได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย โดยเฉาพะการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม

นายปรีดีได้นำเสนอเค้าโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อ 9 มีนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมานุการขึ้น 14 นาย เพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงฯ ฉบับนี้ ในการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการฯ เมื่อ 12 มีนาคม ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับเค้าโครงการฯ 8 นาย มีผู้คัดค้าน 4 นาย และไม่ออกเสียง 2 นาย โดยกลุ่มผู้คัดค้านได้เตรียมร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเค้าโครงการนโยบายเศรษฐกิจในวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งเป็นการประชุมโดยที่ไม่มีการลงมติเพราะพระยาพหลพลพยุหเสนาไปราชการต่างจังหวัด นายปรีดีได้กล่าวในที่ประชุมว่า หากเรื่องนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตนจะลาออกและประกาศโครงการในนามของตน แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นว่าถ้าทำอย่างนั้นก็จะขาดความเชื่อถือในรัฐบาลไป ในอีก 3 วันต่อมาได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ในที่ประชุมพระยาพหลฯได้เริ่มต้นถามว่า นโยบายทางเศรษฐกิจได้จัดการอย่างไรบ้าง นายปรีดีได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยได้รับพระบรมราชานุญาตว่าถ้าจะประกาศเค้าโครงการฯให้นายปรีดีลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและราชการ อย่าให้เป็นโปลิซีของรัฐบาล จากนั้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ส่งบันทึกพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในเรื่องเค้าโครงการให้นายปรีดีอ่าน เมื่อนายปรีดีได้อ่านแล้วได้กล่าวว่า เมื่อในหลวงไม่เห็นด้วยแล้วมีวิธีทางเดียวเท่านั้นคือข้าพเจ้าต้องลาออกจากรัฐมนตรี พระยาพหลฯได้ยับยั้งพร้อมเสนอทางออก 3 ประการ คือ 1.ไม่ประกาศโครงการฯของผู้ใด 2.ส่งคนไปดูงานในประเทศต่างๆแล้วกลับมารายงาน 3.ตั้งบุคคล 3 ประเภทคือผู้มีทรัพย์ พ่อค้าและกรรมกรเข้ามาเป็นกรรมการพิจารณา แต่ท้ายที่สุดที่ประชุมได้ลงมติรับเอานโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนฯเป็นแนวทาง โดยมีผู้สนับสนุน 11 เสียง ผู้ที่สนับสนุนนายปรีดีมี 4 เสียง ส่วนคณะรัฐมนตรีที่เหลืองดออกเสียง และที่ประชุมมีมติใม่ให้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลออกไป

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เค้าโครงการเศรษฐกิจกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองในห้วงแรกของประชาธิปไตยในประเทศไทย 1 เม.ย. พ.ศ.2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกา ปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและห้ามมิให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปรับคณะรัฐมนตรี โดยนายปรีดีถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี พระยามโนฯ ยังใช้อำนาจตามพระราชกฤษฎีกาออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 และบีบบังคับให้นายปรีดีออกนอกประเทศในวันที่ 12 เม.ย. พ.ศ. 2476 โดยรัฐบาลรับรองว่าจะให้เงินปีละ 1,000 ปอนด์พร้อมเอกสารรับรองจากรัฐบาล

รัฐประหารหลังโค่นกษัตริย์

วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 20 มิ.ย. พ.ศ.2476 โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยึดอำนาจการปกครองจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่งตั้งตนเองเป็นผู้รักษาพระนคร มีหลวงพิบูลสงครามเป็นเลขานุการฝ่ายทหารบกและหลวงศุภชลาศัยเป็นเลขานุการฝ่ายทหารเรือ

29 ก.ย. พ.ศ. 2476 นายปรีดีเดินทางกลับถึงไทยและได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเมื่อ 1 ต.ค. พ.ศ.2476 ด้านสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องที่นายปรีดีต้องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่ามิได้มีมลทิน

ก่อตั้งธรรมศาสตร์

ในช่วงเวลานั้น นายปรีดีได้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษา โดยเฉพาะความรู้ที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยในวันที่ 17 มี.ค. พ.ศ.2476 ได้ผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2476 และทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ.2477 โดยนายปรีดีได้กล่าวรายงานว่า “ในสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาส์นความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” โดยนายปรีดี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประศาส์นการมหาวิทยาลัย

กระจายอำนาจ

29 มี.ค. พ.ศ.2476 นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มีบทบาทสำคัญในการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยออกพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2476 และจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่โดยออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476 ในด้านการจัดการการศึกษา นายปรีดีได้โอนโรงเรียนประถมศึกษาในเขตเทศบาลให้มาสังกัดเทศบาล กระทรวงมหาดไทย โดยทำการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลได้ครบทุกตำบลทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2479

รมว. ต่างประเทศ และ คลัง

12 ก.พ. พ.ศ. 2478 นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะดำรงตำแน่งระหว่างปี พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2481 เขามีผลงานที่สำคัญในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับ 12 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยี่ยม และนอร์เวย์ โดยยึดหลักการดุลยภาพแห่งอำนาจ

21 ธ.ค. พ.ศ. 2481ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีผลงานที่สำคัญคือการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ยกเลิกภาษีรัชูปการ ยกเลิกอากรค่านา ออกประมวลรัษฎากร

เพจ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์

จากมิตรเป็นศัตรู

จากเพื่อนร่วมอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี และจอมพล ป.กลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เมื่อทั้งสองคนมีแนวทางการบริหารประเทศที่แตกต่างกัน และความสัมพันธ์อันยาวนานมาแตกหักเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ. 2483-2484 จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีใช้วิทยุกระจายเสียงของรัฐ เปิดเพลงปลุกใจ ปลุกความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นักศึกษา ประชาชน ส่วนนายปรีดีในฐานะผู้ประศาส์นการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้แสดงความความคิดเห็นมิให้นักศึกษาออกมาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน และได้สร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกเพื่อเป็นการสื่อความหมายของผู้นำที่รักสันติภาพ

ต่อมา เมื่อกองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยในวันที่ 8 ธ.ค. พ.ศ. 2484 กองทัพญึ่ปุ่นได้ขอกู้เงินรัฐบาลไทยเพื่อใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่ในไทย การขอกู้ครั้งนี้นายปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้คัดค้าน โดยเกรงจะเกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงมีมติเมื่อ 16 ธ.ค. พ.ศ. 2484 ให้นายปรีดี ไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แทนเจ้าพระยายมราชที่ถึงแก่อสัญกรรม นายปรีดีจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันเดียวกัน

ขบวนการเสรีไทย

ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในไทย นายปรีดี ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น โดยมีภารกิจในระยะแรกคือ 1.ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยคนไทยผู้รักชาติร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร 2.ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของไทยไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 ม.ค. พ.ศ.2485 ภารกิจได้เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่งคือ 3.ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นผู้แพ้สงครามและพยายามผ่อนหนักเป็นเบาโดยนายปรีดีรับเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยมีรหัสลับคือ “รู้ธ” และใช้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นที่ตั้งกองบัญชาการขบวนการเสรีไทย

เพจ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์

ร่วมญี่ปุ่น แต่ไม่แพ้สงคราม

ผลการดำเนินการของขบวนการเสรีไทยเป็นไปด้วยดี ในช่วงปลายสงครามจอมพลเรือลอร์ด เมานท์แบตแทน ผู้บัญชการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ได้ส่งโทรเลขถึงนายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่ามีความประทับใจอย่างยิ่งในปฏิบัติการต่างๆ ของขบวนการเสรีไทยที่ให้ความสนับสนุนที่มีประโยชน์ในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรและรัฐบาลอังกฤษจะไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม แต่เนื่องจากมีการประกาศสงครามไปแล้วดังนั้นให้ไทยส่งผู้แทนไปทำความตกลงเลิกสถานะสงคราม

วันที่ 16 ส.ค. พ.ศ. 2488 นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อ 25 ม.ค. พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าวด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม โดยที่ไทยประกาศว่าจะร่วมมือเต็มที่กับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้ ประกาศสันติภาพนี้มีนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

“รัฐบุรุษอาวุโส”

วันที่ 5 ธ.ค. พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนคร เนื่องด้วยทรงบรรลุนิติภาวะ นายปรีดีจึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” ในวันที่ 8 ธ.ค. พ.ศ. 2488

สภาพการณ์ทางการเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานะของนายปรีดีและขบวนการเสรีไทยได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอันมาก สามารถกำจัดบทบาทของจอมพล ป.พิบูลสงครามออกจากศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองได้ ภายหลังจากที่นายควง อภัยวงศ์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 มี.ค. พ.ศ.2489 เนื่องจากมีสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน รัฐบาลเห็นว่าไม่สมควรรับหลักการแต่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการด้วยคะแนนเสียง 65 ต่อ 63 ที่ประชุมมีมติเลือกนายปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 มี.ค. พ.ศ. 2489 โดยเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 7

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร.8 สวรรคต

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ประกาศใช้ นายปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 มิ.ย. พ.ศ. 2489 และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น แต่ยังไม่ทันได้ตั้งคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตโดยต้องพระแสงปืนในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ. 2489 นายปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 11 มิ.ย.

แม้ว่ากลุ่มของนายปรีดีสามารถควบคุมกลไกรัฐสภาได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพฤติสภา ร้อยละ 87 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 66 แต่กลุ่มนายปรีดีต้องเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง 2 ด้านคือพรรคประชาธิปัตย์และกองทัพภายใต้อิทธิพลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้นายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 21 ส.ค. พ.ศ. 2489 โดยสนับสนุนให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งแทน

ข้าวยากหมากแพง

ภาระหนักของรัฐบาลในขณะนั้นคือความขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค และภาวะค่าครองชีพที่สูงอันเนื่องจากสภาวะหลังสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นเวลา 7 วัน 7 คืนในเดือนพ.ค. พ.ศ. 2490 โดยมีการถ่ายทอดทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ถึงแม้ว่ารัฐบาลชนะการลงมติ แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้ลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งพลเรือตรีถวัลย์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกลุ่มทหารบกไม่พอใจที่ถูกลิดรอนอำนาจและลดบทบาททางการเมืองนับตั้งแต่สิ้นสุดสงคราม และบทบาทของเสรีไทยที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นอันมาก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ระบุว่าได้รับการดูถูกจากเสรีไทยบางคน ดังนั้นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่พอใจของกองทัพและการไม่สามารถคลี่คลายกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ให้กระจ่างทำให้สถานะของรัฐบาลคลอนแคลนเป็นอันมาก

ศึกชิงอำนาจ ทหารบก ปะทะ ทหารเรือ

วันที่ 8 พ.ย. พ.ศ. 2490 เวลา 23.30 น. คณะรัฐประหารนำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน โดยพันโทละม้าย อุทยานานนท์และพันโทก้าน จำนงภูมิเวท ได้รับมอบหมายให้ไปจับกุมนายปรีดีที่ทำเนียบท่าช้าง การดำเนินการจับกุมไม่เป็นผลสำเร็จโดยนายปรีดีได้รับการคุ้มครองจากฝ่ายทหารเรือและได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูอังกฤษและสหรัฐอมริกาในไทยให้หนีไปสิงคโปร์ โดยสถานเอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศได้มีหนังสือถึงนายควง อภัยวงศ์นายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าไม่สามารถที่จะปฏิเสธคำร้องขอของนายปรีดีได้เพราะความผูกพันที่มีต่อกันของเพื่อนร่วมสงคราม

จากสิงคโปร์ นายปรีดีเดินทางต่อไปฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ โดยมีความพยายามที่จะกลับประเทศไทยผ่านการติดต่อกับฝ่ายทหารบกเพื่อที่จะกลับมาต่อสู้ทางการเมืองโดยสันติวิธี แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากคณะรัฐประหาร 2490 นายปรีดีจึงตกลงใจที่จะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจโดยติดต่อกับฝ่ายทหารเรือ โดยมีพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการมณฑลทหารเรือที่ 2 และรักษาการผู้บังคับกองพลนาวิกโยธินสนับสนุน นายปรีดีได้ทำการยึดอำนาจเมื่อ 26 ก.พ. พ.ศ. 2492 โดยเข้ายึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามได้รู้แผนการยึดอำนาจล่วงหน้าประกอบกับทหารเรือบางฝ่ายไม่ได้เข้าร่วม ทำให้การยึดอำนาจไม่ประสบผลสำเร็จ โดยมีการเจรจาหยุดยิงในวันที่ 27 ก.พ. และทำให้บทบาทการเมืองของนายปรีดีสิ้นสุดลง

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชีวิตผู้ลี้ภัยในต่างแดน

นายปรีดีใช้ชีวิตลี้ภัยในต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน โดยพำนักอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 21 ปีและประเทศฝรั่งเศส 13 ปี ก่อนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พ.ค. พ.ศ. 2526 ช่วงก่อนเที่ยง ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน

ขณะลี้ภัยในต่างประเทศ เสียงกล่าวหาว่าเขามีส่วนในการปลงพระชนม์ ร. 8 อยู่เป็นระยะ ๆ เขาจึงต้องฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม และชนะทุกคดี

ขณะพำนักอยู่ในจีน เขาได้พบปะสนทนากับผู้นำสำคัญของรัฐบาลจีนและชาติอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น ประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง นายเติ้ง เสี่ยวผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ แห่งเวียดนาม เจ้าสุภานุวงศ์ ประธานประเทศลาว พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา

เพจ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์

จนกระทั่ง พ.ค. พ.ศ. 2513 นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนช่วยเหลือให้นายปรีดีเดินทางจากจีนไปยังกรุงปารีส โดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ของฝรั่งเศส ให้พำนักอยู่ที่นั่น จนวันสุดท้ายของชีวิต

สิบสี่ปีหลังนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรม คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเมื่อ 13 พ.ค. พ.ศ.2540 เสนอชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไปยังองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อขอให้ยูเนสโกบรรจุชื่อเขาไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาล และยูเนสโกได้มีมติประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เมื่อปี 2543

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์