“บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล” หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง โควิด-19 พ่นพิษ “เศรษฐีหยุดช็อปปิ้ง” สาวโรงงานรายได้ลดถูกปิดบัญชี ยกเลิกใช้บัตร”กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ยอดรูดบัตรเครดิตไตรมาส 2 ติดลบ 50% ขณะที่แบงก์เร่ง “ตัดหนี้สูญ-ปรับโครงสร้างหนี้” รับมือสัญญาณผิดนัดชำระพุ่งสินเชื่อบุคคลหดตัว 3 เดือนติด
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ (ไม่รวมน็อนแบงก์) ของปีนี้ พบว่า ยอดสินเชื่อคงค้างปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ลดลง 3 เดือนติดต่อ (ธ.ค. 62-ก.พ. 63) โดยเฉพาะเดือน ก.พ.ลดลงถึง 2 หมื่นล้านบาท จากยอด 3 เดือนปรับลดลงราว 2.12 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบ ณ เดือน ก.พ. 2563 มียอดคงค้างอยู่ที่ 565,583 ล้านบาท จาก ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 579,911 ล้านบาท เท่ากับปรับลดลงราว 14,328 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นผลจากยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงค่อนข้างแรง จึงกระทบต่อภาพรวมทั้งระบบ
รูดปรื๊ดลดลง 4.3 หมื่นล้าน
ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต 2 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 30,128 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดคงค้างทั้งระบบ ณ กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 413,606 ล้านบาท จากเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 457,090 ล้านบาท ปรับลดลงราว 43,484 ล้านบาท สำหรับตัวเลขของกลุ่มน็อนแบงก์พบว่า ยอดสินเชื่อคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลไม่ได้ปรับลดลง แต่มีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 6,473 ล้านบาท
“สินเชื่อทั้ง 2 ตัวลงค่อนข้างหนัก ส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากการชำระหนี้คืน หรือการปิดบัตรเพื่อย้ายเข้าโครงการรีไฟแนนซ์ไปแบงก์รัฐที่มีโปรโมชั่นตามนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะสินเชื่อคลีนโลนเห็นการลดลงฮวบ ๆ จากปีก่อน จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม”
“ปิดบัญชี-ตัดหนี้สูญ” พุ่ง
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า สัญญาณการปรับลดลงของยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มาจาก 2 ส่วน คือ 1.ยอดการปิดบัญชี ซึ่งพบว่าในช่วง ม.ค.-ก.พ.มีการชำระคืนและปิดบัญชีค่อนข้างเยอะ และ 2.การตัดหนี้สูญของแบงก์ และเข้าโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีการแฮร์คัตปรับลดมูลหนี้จาก 100% เหลือ 50% จากเดิมที่จะต้องรอให้ลูกค้าอาการหนัก ค้างชำระเกิน 3 เดือนก่อน แต่ปัจจุบันบริษัททำเร็วขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ ธ.ค. 2562
“ตัวเลข 4 เดือนแรกของปีนี้ ของกรุงศรี คอนซูเมอร์ มีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 25-30% จากปีก่อนเฉลี่ย 5,000-6,000 บัญชีต่อเดือน และคาดว่าตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้จะเพิ่มขึ้นอีก ต้องติดตามใกล้ชิดในไตรมาส 2”
เศรษฐีหยุดช็อป-ยอดบัตรร่วง
นายฐากรกล่าวว่า ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต/สินเชื่อบุคคล ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทั้งปี เนื่องจากไตรมาสที่ 2 สินเชื่อโตติดลบ แม้ว่าไตรมาสที่ 3-4 หวังว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะกลับมา ก็จะได้รับการอนุมัติน้อยลง เพราะคุณภาพและรายได้ของลูกหนี้ไม่เหมือนเดิม และเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินจะเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยปรับเงื่อนไขประเมินความเสี่ยง (เครดิตสกอริ่ง) และขยับรายได้ผู้กู้ขั้นต่ำผู้เพิ่มเป็น 3 หมื่นบาทต่อเดือน เป็นกลุ่มระดับบนมากขึ้
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์ จากเดิมจะใช้ความเร็ว ราคา และดอกเบี้ย เป็นตัวดึงลูกค้า แต่ปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้ อาจต้องปรับมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาด้วย
“แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 2-3 จะยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวได้ และคาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรในไตรมาส 2 จะปรับลดลงประมาณ 50% มูลค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 8.3 หมื่นล้านบาท และประเมินว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งปีจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท โตติดลบ -30% จากยอดปีก่อนอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท”
สอดคล้องกับ นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตปัจจุบันลดลงราว 14% เป็นผลจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง หรือ wealth based ซึ่งมีวงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันกลุ่มนี้ชะลอการใช้จ่าย หยุดซื้อสินค้าอย่างชัดเจน ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างลดลงค่อนข้างหนัก
ทั้งนี้ หมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ปรับลดลง เช่น ท่องเที่ยวต่างประเทศ ตั๋วเครื่องบิน ห้างสรรพสินค้า และสินค้าแบรนด์เนม เป็นต้น ขณะที่ยอดการปรับโครงสร้างหนี้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรการของ ธปท.
ปิดโรงงานถูก “ยกเลิกบัตร”
ขณะที่นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต “กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์” เปิดเผยว่า จำนวนบัญชีสินเชื่อที่ลดลง ตามรายงานของ ธปท.มาจาก 2 ส่วนหลัก คือ
1.ลูกค้าเก่าที่มีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น โรงงานปิด ถูกลดเงินเดือน ทำให้ไม่มีกำลังในการชำระหนี้ และผิดนัดชำระหนี้เกิน 60 วัน กลุ่มนี้โดยธรรมชาติบัญชีจะถูกปิดไม่สามารถใช้บัตรได้
2.กลุ่มลูกค้าใหม่ ที่ได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารเข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับสถานที่ให้บริการถูกปิดชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การเปิด “บัญชีใหม่” ไม่โต ส่งผลจำนวนบัญชีลดลงเมื่อเทียบช่วงปีก่อน อย่างไรก็ดี บริษัทพบว่าลูกหนี้มีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 ที่ขยายวงกว้าง
ทั้งนี้ ธปท.รายงานว่า จำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคล ณ เดือน ก.พ. 2563 ทั้งระบบอยู่ที่ 12.87 ล้านบัญชี ลดลง 6.43 แสนบัญชี จาก ธ.ค. 2562 ซึ่งมีจำนวน 13.52 ล้านบัญชี แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 3.08 ล้านบัญชี ลดลง 3.64 แสนบัญชี และ nonbank 9.79 ล้านบัญชี ลดลง 2.79 แสนบัญชี
ขณะที่บัญชีบัตรเครดิต เดือน ก.พ. 2563 ทั้งระบบอยู่ที่ 23.84 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจาก ธ.ค. 2562 จำนวน 2.24 แสนใบ แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ 11.68 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 7.05 หมื่นใบ และ nonbank อยู่ที่ 12.15 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 1.53 แสนใบ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์