นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าภูมิใจที่ขณะนี้ประเทศไทยสามารถสร้างนวัตกรรมชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” ขึ้นมาใช้ได้เอง เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, องค์การเภสัชกรรม, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการภาคเอกชน 13 แห่ง จากเดิมในช่วงแรกของการระบาดมีความกดดันอย่างมาก ใช้ความพยายามทุกด้านเพื่อจัดหาชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ผู้บริหารทุกคนในกระทรวงสาธารณสุข ใจสู้ มีความเป็นเอกภาพ จึงหาวิธีบริหารจัดการให้ผ่านอุปสรรคทุกอย่างให้ได้ เดิมคาดการณ์ว่าจะต้องใช้ชุด PPE ถึง 20 ล้านชุดเพื่อรับมือการระบาดของโควิด 19 มาวันนี้สามารถผลิตชุด PPE รุ่น “เราสู้” ขึ้นมาเอง ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อจากต่างประเทศได้ถึง 10,000 ล้านบาท เงินที่ประหยัดได้เทียบกับการมีงบประมาณที่จะนำไปสร้างโรงงานผลิตวัคซีน อีกทั้งชุดที่ผลิตขึ้นใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง ถ้าผลิต 10,000 ชุดจะทดแทนการใช้จำนวน 200,000 ชุดจากการนำเข้า จึงขอให้มั่นใจเพราะผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย. แล้ว
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในการผลิตชุด PPE และยังสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย ที่เป็นก้าวแรกสู่การเริ่มต้นผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมาตรฐาน ใช้เอง และมีความพร้อมรองรับการใช้งานได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ขวัญและกำลังใจในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าดีขึ้นไปด้วย การสู้ศึกโควิด 19 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” มีการทดสอบมาตรฐาน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.เนื้อผ้า ต้องทนแรงดันน้ำได้ในระดับ 2 ระบายอากาศได้ดีและกันน้ำได้ด้วย ซึ่งได้ทดสอบจนผ่านมาตรฐาน 2.ตะเข็บรอยต่อ ซึ่งได้ทดสอบหลากหลายรูปแบบจนผ่านมาตรฐาน และ 3.การซักฆ่าเชื้อทำความสะอาดและใช้ซ้ำให้ได้ 20 ครั้ง จนมาวันนี้ อภ.ได้ลงจัดจ้าง 13 บริษัท ดำเนินการผลิตและจัดส่งจำนวน 44,000 ชุดภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในราคาชุดละ 500 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยการใช้งานต่อชุดใช้ได้ 20 ครั้ง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ 25 บาท หากซื้อจากต่างประเทศเฉลี่ยการใช้ต่อครั้ง 100 บาท นอกจากจะลดการใช้แล้วยังช่วยลดปริมาณขยะ เงินไม่รั่วไหลไปต่างประเทศและยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในประเทศตามมาอีกด้วย
ที่มา สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข