ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์อาชีพ “มติชนอคาเดมี” วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มโครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” จัดทำโดยสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำข้าวกล่องแจกฟรีทั้ง 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,000 กล่องต่อวัน ระยะเวลารวม 10 วัน เริ่มวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2563 เป็นข้าวกล่องรวมทั้งสิ้น 40,000 กล่อง
โดยวันแรกบรรยากาศการทำงานเป็นไปด้วยดีตามแผนที่วางไว้ โดยแบ่งการทำงานเป็นฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ฝ่ายครัว ฝ่ายบรรจุอาหารลงกล่อง ฝ่ายลำเลียง ฝ่ายขนส่งอาหาร และฝ่ายทำความสะอาด สามารถส่งอาหารกล่องไปยังจุดหมายได้ตามเวลาที่กำหนดไว้
“อาณัติ ลิ้มจิระวัฒนา” ประชาสัมพันธ์โครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” กล่าวสรุปงานวันแรกว่าในส่วนของงานครัวอาจจะขลุกขลักบ้าง เนื่องจากยังไม่ชินกับสถานที่และวัตถุดิบ แต่ไม่เป็นปัญหาอะไรสามารถแก้ไขได้ โดยภาพรวมแล้วฝ่ายต่างๆ สามารถทำงานได้ดีเกินกว่าที่คาดไว้ ไม่ว่าเรื่องของโซเชียล ดีสแทนต์ซิ่ง การจัดระยะห่างทางสังคม ในแต่ละโซน เป็นไปตามมาตรฐาน หรือในเรื่องระยะเวลาในการทำงานก็สามารถทำได้ทันตามกำหนดตารางที่วางไว้
“วันนี้เราไปแจกใน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนซอยชานเมือง เขตดินแดง, ชุมชนมะกอกกลางและชุมชนมะกอกส่วนหน้า เขตพญาไท, ชุมชนสันประเสริฐ ลาดพร้าว 114 เขตวังทองหลาง, ชุมชนหลังโรงเรียนกิ่งเพชรและชุมชนบ้านครึ่งตะวันตก เขตราชเทวี, ชุมชนร่วมใจพิบูล 2 และชุมชนลาดพร้าว 45 เขตห้วยขวาง
ในส่วนของเชฟหรือส่วนคนครัว มีเชฟทั้งหมด 20 คน ได้ค่าแรงคนละ 400 บาทต่อวัน ถือเป็นการช่วยเหลือเชฟที่ตกงานช่วงโควิด-19 อีกทั้ง เราได้อาสาสมัครมาช่วยเพิ่มอีก 10 คนรวมเป็น 30 คน แต่ 10 คนหลังนี้ เป็นการช่วยด้วยใจไม่มีค่าแรง และทุกคนที่มาก็ปฏิบัติตามเกณฑ์ระยะห่างทางสังคมทุกประการ ดังนั้น เชื่อมั่นได้ว่าข้าวกล่องของสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย เป็นอาหารที่สะอาด ได้มาตรฐานระดับโลก คนกินสามารถกินได้อย่างปลอดภัย”อาณัติกล่าว
นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่ตั้งเป็นจุดรับข้าวกล่อง อาณัติ กล่าวว่า ไม่ได้ละเลยในเรื่องของกฎเกณฑ์ ยังคงให้ปฏิบัติตามโซเชียล ดีสแทนต์ซิ่ง ซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ที่เฟซบุ๊กของ Chef hug มีการอัพภาพให้เห็นตลอดเวลาของการทำงาน อยากให้เห็นว่าการทำข้าวกล่องเพื่อแจกประชาชนของเรา เริ่มตั้งแต่การปรุง การแพ็คกล่อง ไปจนถึงการลำเลียงขนส่ง เป็นการจัดการด้านอาหารแบบมืออาชีพในระดับสากล ได้มาตรฐานโลก คนที่มารับก็รู้สึกแฮปปี้มีความสุข ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เป็นอย่างดี ไม่มีการมุง ส่วนเวลาที่เหลืออีก 9 วันคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
อาณัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ยังได้ช่วยเหลือแท็กซี่ให้มีรายได้ โดยว่าจ้างแท็กซี่ในการลำเลียงอาหารกล่องอีกวันละ 25 คัน รวมแล้ววันหนึ่งๆสามารถช่วยให้คนมีรายได้ 85 คน ซึ่งคนเหล่านี้ปัจจุบันไม่มีงานทำ
ด้าน เชฟวิลเมนท์ ลีออง เชฟชื่อดังชาวสิงคโปร์ กรรมการสมาคมเชฟโลกแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโครงการ ข้าวกล่อง CHEFHUG ที่จัดทำขึ้นเรามุ่งหวังให้เป็นโครงการต้นแบบ ที่ได้นำความรู้ ประสบการณ์ในการปรุงอาหาร การจัดการด้านอาหารอย่างมืออาชีพ ได้มาตรฐานระดับโลก เพื่อไปช่วยเหลือประชาชนในยามที่เกิดวิกฤติอย่างครบวงจร ทั้งอิ่มท้อง ทั้งปลอดภัย ทั้งสร้างรายได้ สร้างงาน ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้ เราจะส่งภาพโครงการที่ทำไปยังสมาคมเชฟโลก เพื่อเผยแพร่ให้เห็นว่าการทำงานของเชฟที่ประเทศไทย เป็น “ต้นแบบ” ให้เชฟประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นสมาชิกในสมาคมเชฟโลก จำนวน 110 ประเทศ ได้ทำตาม
“หลังเสร็จสิ้นโครงการนี้แล้ว ในระยะเวลา 10 วัน หากองค์กรใดยังอยากที่จะให้เราทำต่อก็สามารถสนับสนุนเข้ามาได้ โดยทำในนามขององค์กรนั้นๆ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือเชฟที่ตกงานให้มีรายได้หนทางหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤติให้ได้กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่บูดเสียหรือมีสารปนเปื้อน”เชฟวิลเมนท์ กล่าว
สำหรับโครงการ “ข้าวกล่อง CHEFHUG” นอกจากเป็นการร่วมแรงร่วมใจของเชฟจากสมาคมเชฟแห่งประเทศไทยแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนและรับรองจากสมาคมเชฟโลก โดยหน่วยงาน World Chefs without borders ซึ่งเป็นหน่วยงานจากสมาคมเชฟโลก ที่ให้การช่วยเหลือหายนะภัยทั่วโลก โดยใช้ศักยภาพของบุคลากรเชฟจากทั่วโลกจัดการทางด้านอาหารแบบมืออาชีพในระดับสากล ซึ่งถือเป็นการดำเนินการแจกอาหารภายใต้วิกฤติที่เป็นรูปแบบที่มีมาตรฐาน และสามารถนำไปเป็นต้นแบบการดำเนินการแจกอาหารอย่างมืออาชีพ