“ปรีดี พิศภูมิวิถี” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่อง “ค่ายบางระจัน” ซึ่งเป็นค่ายของชาวบ้านบางระจันผู้ประกอบวีรกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โดยพม่าได้ยกทัพมาตีไทยและมีกองทัพส่วนหนึ่งเข้าตีหมู่บ้านบางระจัน ชาวบ้านได้แสดงความกล้าหาญและความสามัคคียอมพลีชีวิตปกป้องมาตุภูมิจนเหล่าผู้นำ 11 คนเสียชีวิตทั้งหมดและค่ายแตกในที่สุด ว่า ในเอกสารประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า “บ้านบางระจัน” เอกสารประวัติศาสตร์จะใช้ว่า “บ้านระจัน”
ต้องเข้าใจว่าตัวเอกสารประวัติศาสตร์มีอยู่หลายฉบับด้วยกัน เอกสารประวัติศาสตร์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็คือ พระราชพงศาวดาร และก็เป็นพระราชพงศาวดารที่มีการชำระขึ้นทีหลังมากๆ นั่นคือ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยรวมเอาเนื้อหาพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่มีอยู่กระจัดกระจาย เอามาต่อเป็นเรื่องเดียวกัน และในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็จะปรากฏเรื่องราวของบ้านระจัน หรือที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ว่า “บ้านบางระจัน” ยาวและเยอะมากที่สุด
คือมีรายละเอียดที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ เพราะว่าไปเก็บมาจากจุดต่างๆ หรือเอกสารต่างๆ ที่มันกระจัดกระจาย สิ่งที่เรารับรู้กันในทุกวันนี้ก็คือ เหตุการณ์บ้านบางระจันเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เพราะว่าอย่างน้อยมีตัวลายลักษณ์อักษรที่เป็นพระราชพงศาวดารรองรับอยู่
ชาวบ้านต้องออกเรี่ยไรเครื่องทองเหลืองจากคนในหมู่บ้าน เพื่อที่จะเอามาหลอมปืนใหญ่เอง และเป็นเหตุให้ปืนใหญ่ร้าวแล้วยิงไม่ออก ค่ายก็แตกในที่สุด หากดูยุทธวิธีของบ้านบางระจันที่พบในพงศาวดาร นับเป็นยุทธวิธีชาวบ้านปกติธรรดมา มีการรวมเอาคนประมาณ 400 คนมาอยู่ในค่าย เพียงแต่ว่ามี “ผู้นำ” ซึ่งผู้นำมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้นำที่เป็นกึ่งทหาร กับผู้นำทางจิตวิญญาณคือ พระ เพราะฉะนั้นมันเป็นแรงใจอย่างหนึ่งที่สามารถมารวมตัวกันได้ แต่ว่ายุทธวิธีในการรบของชาวบ้านบางระจัน เป็นยุทธวิธีปกติของชาวบ้านที่ต่อสู้
เช่น โจมตีโดยใช้อาวุธธรรมดา ใช้วิธีการโจมตีแบบตีโอบล้อม หรือใช้คนจำนวนน้อยๆ ค่อยๆ คืบคลานไปข้างหน้า เพื่อที่จะไปตีกับกองพม่าทีละน้อยๆ เพียงแต่ว่ามันมีจุดที่ทำให้เรารู้ว่า ทำไมบ้านบางระจันถึงทนพม่าได้ รับมือพม่าได้ถึง 8 ครั้ง เหตุนี้เป็นเพราะว่าพม่ากลุ่มที่เข้ามาเป็นกลุ่มเสริม ที่เข้ามาเพื่อจะร่วมกับทัพของมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดี เพราะฉะนั้นแม่ทัพหลวงของพม่าจริงๆ ยังคงเป็นมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดีที่จะต้องมาทางใต้และทางเหนือ ส่วนทางทิศตะวันตกที่เข้ามาเป็นเพียงกองทัพเสริม ฉะนั้น เมื่อเป็นกองทัพเสริม กลุ่มทหารที่เข้ามาไม่ได้เป็นกลุ่มทหารที่เชี่ยวชาญและเข้มแข็งมากเหมือนกับสองทัพเหนือกับใต้ ดังนั้น ลำพังบ้านบางระจันก็พอที่จะต้านอำนาจกองทัพพม่ากลุ่มนี้ได้
“คนเมื่อได้ยินกิตติศัพท์ชาวบ้านบางระจัน ก็เข้ามาร่วมกันไปเรื่อยๆ จากชุมชนเล็กก็กลายเป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ ขยายไปเรื่อยๆ คนที่เข้ามาก็เอาเสบียงมา เอาอาวุธที่ตัวเองพึงมีมา มันก็ทำให้ตัวค่ายค่อนข้างใหญ่ ทำไมค่ายมันใหญ่ขึ้น ก็เพราะว่าบริเวณแถบนั้นมีชุมชนกระจัดกระจายอยู่เยอะมาก ในเมื่อมันไกลจากหัวเมืองอยุธยา ถ้าตรงนี้มันกลายเป็นฐานทัพที่สามารถสู้กับพม่าได้ คนก็สมัครใจเข้ามาอยู่ที่นี่ มากกว่าที่จะต้องเดินลงไปหรือถูกกวาดต้อนไปที่อยุธยา ซึ่งก็ทำให้ค่ายบางระจันใหญ่ขึ้นและสำคัญขึ้น พอคนมันมากขึ้น แรงต้านพม่าก็มีสูงขึ้น ก็ทำให้กองทัพพม่าที่เข้ามาจำเป็นที่จะต้องปราบชุมชนบางระจันหรือบ้านระจันก่อน
คือถ้าไม่มีชุมชนบ้านระจัน แน่นอนพม่าก็สามารถเดินทัพลงไปถึงอยุธยาได้ง่าย ซึ่งก็มีสองทางที่พม่าเดินทัพได้ คือ ทางบกที่ผ่านบ้านระจันลงมา และทางแม่น้ำน้อย ซึ่งสองทางนี้พม่าสามารถใช้เป็นทางลำเลียงคน ลำเลียงอาวุธ ลงไปถึงกรุงศรีอยุธยาได้หมด เพราะว่าทางแม่น้ำน้อยก็ลงไปถึงอยุธยาแถบสีกุก ส่วนถ้าทางบกก็ลงมาทางทิศเหนือของเกาะเมือง ก็จะมาบรรจบกับทั้งมังมหานรธากับเนเมียวสีหบดีได้
เพราะฉะนั้น การที่ค่ายบางระจันมากันอยู่ตรงกลาง มันก็เป็นข้อดีทำให้ประวิงเวลากองทัพพม่า ไม่ให้มาถึงอยุธยาเร็วเกินไป ถ้าเราดูในพงศาวดาร ก็จะพบว่าพอผ่านบางระจันหรือหมดเรื่องบางระจัน รอบๆ อยุธยามันคืออ่างทอง พออ่างทองก็คือสิงห์บุรี ที่อ่างทองเองก็ไม่มีค่ายที่จะขึ้นมาต้านทัพพม่าเลย เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าหลุดจากค่ายบางระจันปุ๊บ ก็จะมายันทัพพม่ากันที่นอกอยุธยา แถบๆ โพธิ์สามต้น คือนอกเมืองอยุธยาไปประมาณ 10 กิโลแค่นั้นเอง นี่คือความสำคัญของค่ายบางระจัน”