คอลัมน์ เคี้ยวตุ้ย…ตะลุยกิน : หมูปลาร้า-น้ำสลัด-บัตเตอร์เค้ก 3 สูตรคาวหวาน รสชาติเยี่ยมจากมติชน อคาเดมี

Technology

บางครั้งการลองผิดลองถูกก็เป็นเรื่องที่ท้าทายและสนุกดี แต่บางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกให้เสียเวลา โดยเฉพาะการทำอาหารที่เป็นศาสตร์และศิลป์มีการเขียนตำราไว้มากมายเต็มไปหมด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สู้ได้เรียนกับครูจริงๆ เพราะเราจะได้เห็นทุกกลเม็ดเคล็ดลับแบบจะจะ คล้ายกับที่แม่เราเรียนจากตายาย ลูกก็เรียนรู้จากพ่อแม่นั่นเอง

เกริ่นมาแบบนี้เพื่อที่จะขายของแน่นอนค่ะ (ฮา) มิตรของเราเช่นเคย “มติชน อคาเดมี” ศูนย์อาชีพธุรกิจมติชน ที่ตอนนี้ขาข้างนึงปรับมาสอนออนไลน์เรียบร้อยแล้ว โดย 2 เชฟคนหนุ่มสาวที่ทยอยจัดสูตรลับอาหารคาวหวานรสชาติเยี่ยมให้ได้มาเรียนกันในราคาสุดแสนจะมิตรภาพ

ไปเยี่ยมเยียนชาวมติชน อคาเดมี วันก่อน ได้มีโอกาสชิมสูตรเด็ด 3 เมนูรวดเลยค่ะ เป็นเมนูที่เปิดสอนไปแล้ว 1 คอร์ส คือ “น้ำสลัดตั้งตัว 5 สไตล์” 599 บาท อันประกอบไปด้วย มายองเนส น้ำสลัดซีซ่า น้ำสลัดงาญี่ปุ่น น้ำสลัดบัลซามิก และ น้ำสลัดส้ม ที่นอกจากจะทำเป็นน้ำใส่สลัดแล้ว เชฟยังปรับไปทำเมนูหลากหลาย เช่น สลัดโรล แซนด์วิช ได้น่าสนใจมากๆ

เชฟเต็ม-เต็มสิริ รังหอม เชฟสาวไฟแรงที่ผ่านประสบการณ์ร้านอาหารทั้งสไตล์ไทยและฝรั่งเศส ไล่มาตั้งแต่ร้าน FATBIRD ร้านสยามชาร์มมิ้ง ร้าน Aldo’s Bistro และ ร้าน Coal Bistro พูดถึงคอร์สน้ำสลัดว่า เป็นหลักสูตรที่เน้นไปที่ทำกินเองที่บ้าน ด้วยวัตถุดิบที่เลือกใช้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าเอาไปขายก็สามารถประยุกต์ได้

“การเรียนน้ำสลัดมองว่าโอกาสตั้งตัวมีสูง เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนรักสุขภาพมากขึ้น เลือกทานน้ำสลัดที่ไม่ได้มาจากน้ำมันอย่างเดียว”

ถึงแม้ว่าคอร์สน้ำสลัดจะผ่านไปแล้ว แต่เชฟเต็มบอกว่ายังสมัครเข้ามาเรียนได้ตลอด จะมีการดึงเข้ากลุ่มสามารถดูได้ไม่จำกัดครั้ง มีคำถามก็สามารถพิมพ์ทิ้งไว้เช่นกัน

แต่ที่กำลังจะเปิด และน่าสนใจมากตอนนี้คือ “หมูปลาร้า” เป็นเมนูที่ยังฮอตไม่เลิก ที่จะเปิดสอน วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคมนี้ ราคา 599 บาท

เชฟเต็ม บอกว่า ตอนนี้เมนูหมูปลาร้าเป็นที่นิยมมาก จุดเริ่มต้นอยู่ที่ร้านที่ราชดำเนิน เป็นกระแสโซเชียล คนเริ่มฮิตทำกินที่บ้าน บางคนทำเป็นธุรกิจตั้งตัวได้เลย

“มันเริ่มจากแค่เป็นเนื้อหมูหมักกับน้ำปลาร้า ย่างให้มีกลิ่นหอม เสร็จแล้วตัวปลาร้าบอง หรือ น้ำจิ้มแจ่ว ถ้าทำเป็นธุรกิจคือขึ้นหม้อใหญ่ เราก็สามารถทำขายได้ตลอด เก็บไว้ได้ด้วย ย่างหมูอาจจะย่างหน้าร้าน แต่เราหมักแช่ตู้เย็นไว้ ในคลาสจะบอกหมดว่าเตรียมหมูยังไง หมักหมูยังไง เก็บหมูไว้ได้นานเท่าไหร่ ทำยังไงให้หมูนิ่ม อันนี้สำคัญมาก เพราะตอนนี้จุดขายของหมูปลาร้าส่วนมากคืออยู่ที่หมูนิ่มไหม ปลาร้าบองอร่อยไหม สูตรเรารับรองว่าอร่อยแน่นอน”

จบจากของคาว มาต่อกันที่ของหวานกันบ้าง กับ เชฟต่อ-กฤษณะ ยุคะลัง เชฟหนุ่มที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในครัวเบเกอรี่จากโรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน และสยาม เคมปินสกี้

เชฟต่อ เล่าประสบการณ์การอยู่ในครัวเบเกอรี่ว่า ได้เห็นการทำเบเกอรี่คุณภาพเยี่ยมหลายรูปแบบ อย่างช่วงเทศกาล เช่น ออคโทเบอร์เฟส จะมีเพลสเซลที่เป็นออริจินอลที่เอาไปชุบด่างโซดา โรยด้วยร็อคซอลต์แล้วเอาไปอบ หรือ ช่วงคริสต์มาส จะมีจินเจอร์เบรด และได้ลงมือทำเบเกอรี่ที่ต้องใช้ทักษะสูงอย่างครัวซองค์ด้วยเช่นกัน

เชฟเต็ม-เต็มสิริ

ด้วยเสน่ห์ไม่รู้จบของเบเกอรี่นี่เองที่ทำให้เชฟต่อหลงใหลในการทำเบเกอรี่อย่างมาก ฝึกฝนจนฝีมือเข้าที่ชนิดว่าทำอะไรมาให้ชิมก็อร่อยไปหมด

สำหรับคอร์สออนไลน์ที่เชฟต่อสอนไปแล้ว คือ “ขนมปังไส้ทะลัก” 599 บาท สูตรนี้แป้งนิ่มหอมกรุ่นจากเตา ไส้รสละมุนอีก 5 แบบ และเช่นกันใครสนใจยังสามารถติดต่อเรียนได้ไม่จำกัดเวลา สมัครเข้ามาเมื่อไหร่ทีมแอดมินก็จะดึงเข้ากลุ่มดูได้ทันที

“ขนมปังไส้ทะลักสูตรนี้ ตัวขนมปังจะมีความฟูนุ่ม สามารถเก็บเข้าตู้เย็นได้ เวลาจะทานให้เอามาคลายเย็น เข้าไมโครเวฟ 20-30 วินาที ก็นุ่มเหมือนเดิม ขนมปังตัวนี้ถ้าจะไม่ทำใส่ไส้ก็ได้ จะทำเป็นขนมปังแพแพคเป็นถุงใหญ่สำหรับร้านขายไอศกรีมก็ทำได้เช่นกัน”

เชฟต่อ-กฤษณะ

สำหรับคนที่คิดว่าการทำเบเกอรี่ยากเกินไป เชฟต่อ บอกว่า ขึ้นชื่อว่าทำอาหารก็มีความยากง่ายต่างกัน เพียงแต่ว่าอาหารคาวบางอย่างถ้าลืมบางขั้นตอนเราแก้ไขตอนนั้นได้ แต่เบเกอรี่จะมีความยาก คือ เราไม่รู้ว่าเราพลาดอะไรไปจนกว่าเราจะทำมันเสร็จออกมา เลยทำให้คนรู้สึกว่ายาก ดังนั้นการทำเบเกอรี่ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องชั่งตวงวัดที่ถูกต้อง ดังนั้นการทำตามยูทูบอาจทำไม่ได้เสมอไป มองว่าคนที่จะดูยูทูบแล้วทำตามคือคนที่ต้องมีพื้นฐานมาก่อนระดับหนึ่ง

“ในคอร์สเราอธิบายละเอียดมาก อยากให้คนไม่มีพื้นฐานเลยเข้าใจ เราพยายามปิดเพนพอยส์ที่คนมองว่ายาก เราอยากให้เข้าใจถึงแก่นการทำเบเกอรี่ว่าต้องเริ่มจากอะไร ต้องชั่งตวงวัดที่ถูกต้องก่อน แล้วปลายทางก็จะถูกต้องแน่นอน”

อีกหนึ่งข้อที่คนมองว่าธุรกิจเบเกอรี่ปราบเซียน เชฟต่อ บอกว่า จริงๆ เบเกอรี่ถ้าทำขายจะรู้ว่าต้นทุนจริงๆ มันต่ำมาก ที่เห็นเค้ก 70-80 บาท ต้นทุน 20-30 บาทเท่านั้น คำว่าปราบเซียน จริงๆ แล้วถ้าเราจับทิศได้ว่าจะทำเค้กแบบไหน ตั้งราคาเท่าไหร่ ธุรกิจไปได้อยู่แล้ว เพราะต้นทุนไม่ได้สูงเลย

ใครที่อยากเรียนกับเชฟต่อ กำลังจะเปิดวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ คือ “บัตเตอร์เค้ก” 599 บาทเท่านั้น

บัตเตอร์เค้ก เค้กสุดคลาสสิกนี้หลายคนอาจจะมองข้าม แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับเลยว่าเมื่อชงกาแฟซักแก้วยามเช้า หลายคนยังนึกถึงบัตเตอร์เค้กมากินคู่กัน

“เสน่ห์ของบัตเตอร์เค้ก คือ กลิ่นหอมและความชุ่มฉ่ำของเนย กินได้เรื่อยๆ โอกาสทำขายก็ได้เสมอ จะทำแบบโฟรเซนไว้ก็ได้ ไม่ต้องขึ้นรูปใหญ่มาก พออบออกมาแพคใส่ถุงซีลไว้แล้วแช่ฟรีซ เวลาจะรับประทานก็เอาออกมาสไลซ์ซักชิ้นสองชิ้น แล้วเข้าเวฟ 20-30 วินาที จากนั้นหันมาชงกาแฟกินกับบัตเตอร์เค้กนุ่มๆ เท่านี้ก็เพอร์เฟกต์แล้ว”

หลังจากนี้เชฟต่อจะมีสูตรเบเกอรี่อร่อยๆ ออกมาสอนเรื่อยๆ ล่าสุดเห็นขลุกอยู่กับการทำขนมปังสุขภาพ ใครสนใจลองติดตามกันดูค่ะ ส่วนใครอยากเรียนแล้วสมัครได้เลยที่มติชน อคาเดมี โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 หรือ มือถือ 08-2993-9097, 08-2993-9105 หรือ เข้าไปดูในเพจ Matichon Academy

ที่มาอาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน
ผู้เขียนชม นำพา [email protected]
บัตเตอร์เค้ก2แบบ